“อนุทิน” ชู “ศูนย์จัดการความขัดแย้งฯ-หน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ ม.50(5)” รักษาสิทธิประชาชน

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมรวมพลังกลไกขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่” ภายใต้แนวคิด “Empowering & Deepening Connectivity สร้างเสริมพลังเชื่อมโยงเครือข่าย” พร้อมมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร แก่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่นประจำปี 2561 และ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรฐาน 50(5) ต้นแบบ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

นายอนุทิน กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นนโยบายสาคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นอกจากการบริหารจัดการที่ส่วนกลางโดยคณะกรรมการหลักประกันขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขแล้ว ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนผ่านกลไกระดับพื้นที่ ทั้งกลไกคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข) คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่(อคม) สำนักงานเขตสุขภาพ สธ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยแต่ละส่วนต่างมีบทบาทและหน้าที่สำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“นอกจากนี้ ยังมีกลไกสำคัญที่คอยทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิ์ประชาชน หรือผู้ป่วย คือ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการ และ หน่วยรับเรียงร้องเรียน อันเป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) คอยประสานงานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายแห่งดำเนินการได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับการให้บริการ” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สปสช.ได้คัดเลือกศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทโรงพยาบาล(รพ.)ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป ประกอบไปด้วย อันดับ 1 รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา อันดับ 2 รพ.ปัตตานี อันดับ 3.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก ส่วนประเภท รพ.ชุมชน อันดับ 1 รพ.รือเสาะ จ.นราธิวาส อันดับ 2 รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น อันดับ 3 รพ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคัดเลือกหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนต้นแบบ 11 แห่ง ได้แก่ 1.หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.เชียงราย 2.หน่วยรับเรื่องร้อง จ.กำแพงเพชร 3.หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.กาญจนบุรี 4.หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.ขอนแก่น 5.หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.หนองบัวลำภู 6.หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.สุรินทร์ 7.หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.นครศรีธรรมราช 8.หน่วยรับเรื่องร้องเรียน จ.สตูล 9.หน่วยรับเรียงร้องเรียนศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ ภาคกลาง จ.ปทุมธานี 10.หน่วยรับเรื่องร้องเรียนเครือข่ายผู้รับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จ.ศรีสะเกษ และ 11.หน่วยรับเรื่องร้องเรียนโซนเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร (กทม.)

ทั้งนี้ในการประชุมข้างต้น มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณะ อปสข. และ อคม. ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องระดับจังหวัด ผู้แทนสำนักงานเขตสุขภาพ สธ. ผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิ์ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้แทนหน่วยบริการ ผู้รับผิดชอบงานศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ ผู้แทนภาคประชาชน และศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image