บอร์ดก.ค.ศ.เห็นชอบครูโอนย้ายข้ามสังกัดได้ -เบรกย้ายรองผอ.ดอกจันเข้าตำแหน่งโครงสร้าง

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้อนุมัติแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 25 ราย ขณะเดียวกันยังพิจารณาแต่ตั้งโยกย้ายรองผู้อำนวยการสพท. กว่า 100 ราย โดยที่ประชุมได้มีการขอถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องเป็นการขอย้าย จากเป็นตำแหน่งรองผู้อำนวยการสพท.ตำแหน่งชั่วคราวและมีเงื่อนไขหรือรองดอกจัน ไปดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิม ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสพท. ตำแหน่งโครงสร้าง ซึ่งรายละเอียดยังไม่ชัดเจน ดังนั้นขอศึกษารายละเอียดให้รอบด้านก่อน ขณะเดียวกันยังหารือถึงเรื่องหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารของศธ.ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารทุกภาคส่วนของศธ. ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทุกระดับ จะต้องมีทักษะเบื้องต้นในหลายเรื่องๆ ทั้งภาษาอังกฤษที่สื่อสาร การใช้เทคโนโลยี การมีความมั่นคงด้านการเงินในระดับหนึ่ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเป็นผู้บริหารงาน รวมถึงทักษะอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความสามารถในการบริหารองค์กร เพราะว่าผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา เป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องดูแลบุคลากรจำนวนมาก และการขับเคลื่อนการศึกษาไทยก็ขึ้นกับความสามารถของผู้อำนวยการ

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประชุมยังอนุมัติให้สามารถโอนย้ายตำแหน่งระหว่างหน่วยงานภายในศธ.ได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เช่น สายสามัญอาจมีนักเรียนจำนวนน้อยลง ขณะที่เราต้องการผลักดันการศึกษาด้านอาชีวศึกษามากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีจำนวนครูสายอาชีวะ รวมถึงต้องยอมรับว่าอัตราเงินเดือนของครูบางสาขา เช่น ธุรกิจการราง หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ดิจิทัล อาจต้องใช้ครูที่มีความรู้พื้นฐาน ทักษะ ความสามารถและผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น กว่าการบรรจุในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เบื้องต้น การโอนย้ายครั้งนี้จะเป็นการโอนย้ายไปในตำแหน่งที่มีอัตราเกษียณว่างอยู่ เชื่อว่าจะทำให้การทำงานของศธ.กระชับและคล่องตัวมากขึ้น เป็นการนำบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาเสริมการสอน
“ที่ประชุมอยากให้มีการวางเกณฑ์ที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต เช่น แนวทางการวางแผนของ ก.ค.ศ.ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่สุดของศธ. เราต้องนำเรื่องเหล่านี้มาหารือกัน เพื่อชี้แจงให้ผู้อำนวยการโรงเรียน, รองผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา( สพท.) ได้รับรู้ถึงความต้องการพื้นฐานของการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ผมพร้อมสนับสนุน และมั่นใจว่าหากเราให้เวลาและใส่ใจในการอบรมพัฒนา ก็เชื่อมั่นว่าผู้บริหารทุกคนสามารถทำได้” นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข้อเสนอให้หน่วยงานที่ใช้ครูสามารถกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกได้เองนั้น เรื่องนี้คงต้องมาดูข้อมูล ความต้องการต่างๆ เพื่อจะได้ใช้ข้อมูลนั้นมาประกอบการตัดสินใจให้ถูกต้อง โดยผู้บริหารสามารถนำข้อมูลมาเสนอได้ประมาณต้นเดือนธันวาคม และในอนาคต ก.ค.ศ. ก็ยังคงอยู่ เพราะเป็นหน่วยงานที่สำคัญ เพียงแต่ต้องมีการกระจายอำนาจ เช่น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่จะมีการผลักดันให้เป็นนิติบุคคลที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยจะนำผู้บริหารลงไปศึกษาดูงาน รับฟังปัญหา คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ก็จะทราบว่า หากจะมีการเพิ่มความเป็นเลิศให้กับ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จะต้องสนับสนุนทั้งการพัฒนาครูและเด็กอย่างไรบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image