โครงร่างตำนานคน : ชวน หลีกภัย ‘หลักการ’กับ‘ศิลปะ’ : การ์ตอง

ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดมากับอาชีพนักการเมืองมายาวนาน และที่พิเศษจนได้รับการกล่าวขานด้วยความยอมรับนับถือมาตลอดคือ “ผู้รักษาหลักการไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม”

หากตั้งคำถามกับใครสักคนหนึ่งที่ติดตามการเมืองมาอย่างใกล้ชิด ว่า “ผู้ยึดมั่นในหลักการของระบบรัฐสภาที่โดดเด่นที่สุดเป็นใคร” คำตอบจะต้องมี ชวน หลีกภัย ยืนอยู่แถวหน้า

การแสดงออกในอดีตที่ยึดมั่นใน “หลักการระบอบรัฐสภา” เป็นรูปแบบและสีสันที่สร้างภาพ ชวน หลีกภัย ให้ได้รับการยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีบางช่วงบางตอนที่เพลงไปกระโดดโลดเต้นจนหลุดเฟรมไปสู่การแสดงท่าที่ไม่คาดคิดอยู่บ้าง แต่ภาพรวมส่วนใหญ่ยังฟื้นฟูความเชื่อที่เคยเป็นมาได้ไม่ยาก

ดังนี้นี่เองเมื่อพูดถึง “ผู้ยึดมั่นในหลักการ” แล้ว ย่อมถือว่า “ชวน หลีกภัย” เป็นสายแข็ง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้การยึดมั่นในหลักการจะเป็นวิธีแก้ปัญหาค่อนข้างดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีความขัดแย้งสูงๆ ต่างคนต่างฝ่ายต่างมุ่งเอาให้ได้ดังใจตัวเอง การตัดสินตาม “หลักการ” คือทางออกที่อธิบายความเป็นเหตุเป็นผลได้ดี

แต่ถึงที่สุดแล้ว “หลักการ” กลับไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

ยกตัวอย่างเช่น “สภาผู้แทนราษฎร” บทบาทคือเป็นที่ประชุมของสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน แต่ละคนมีที่มาแตกต่างกันหลากหลาย แยกเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายอิสระ แยกไปตามเขตเลือกตั้ง จังหวัด ไปตามมุ้ง ตามกลุ่ม ตามเครือข่ายผลประโยชน์

Advertisement

เป็นปกติที่การทำหน้าที่จะต้องมีความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย เมื่อมีการลงมติอันหมายถึงบทสรุปของการตัดสินเพื่อนำไปดำเนินการร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างคนก็ต่างต้องการให้เป็นไปตามความอยากของตัวเอง

การไม่ยอมกันย่อมนำมาซึ่งความวุ่นวาย

“ข้อบังคับการประชุม” เป็นรูปธรรมของ “หลักการ” อย่างหนึ่งที่จะเป็นเครื่องตัดสินว่า “จะทำงานร่วมกันในความหลากหลายด้วยวิธีการแบบไหน”

การยึด “ข้อบังคับการประชุม” จึงทำให้เกิดความเชื่อถือได้ง่ายๆ ว่าเป็น “ผู้ยึดมั่นในหลักการ”

เหมือนกับว่า “ยึดข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด” ก็จบ รักษาหลักการไว้ได้แล้ว

ทว่าอย่างที่บอก “หลักการ” ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

“ข้อบังคับการประชุม” มีไว้เพื่อให้สามารถนำมาใช้ควบคุมการประชุมให้อยู่ในความเรียบร้อยได้

ทว่าในสภาพความเป็นจริงบางทีการมุ่งแค่ “ทำตามข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด” กลับกลายเป็นสร้างปัญหา

ตัวอย่างที่ “หลักการบางอย่าง” แก้ปัญหาที่เกิดจากเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปของ “สภาวะที่เป็นจริง” ไม่ได้ คือ “สภาล่ม” ไม่สามารถประชุมต่อไปได้ เมื่อมีการนับองค์ประชุมที่ผ่านมา

และแม้จะเกณฑ์มาจนครบองค์ประชุม ก็ยังมีแนวโน้มสูงที่ทุกการลงมติจะถูกเสนอให้นับคะแนนใหม่ เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนต่างกันแค่เล็กน้อย ซึ่งผลมติย่อมเข้า “หลักการ” เสนอให้นับคะแนนใหม่ได้เสมอ และน่าจะเป็นส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด

เจตนารมณ์ของ “ข้อบังคับการประชุม” ซึ่งคือ “ทำให้การประชุมดำเนินต่อไปได้” จึงจะไม่เกิดขึ้น

และตรงนี้เองมีความจำเป็นต้องใช้ “ศิลปะการบริหารจัดการ” เพื่อให้เจตนารมณ์เกิดขึ้นได้ ไม่ติดแหงกอยู่กับ “หลักการที่เป็นลายลักษณ์อักษร” และตรง “ศิลปะ” นี่เองที่ท้าทายว่า ชวน หลีกภัย ผู้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์มาตลอดว่าเป็นผู้มี “ศิลปะในการวาดลายเส้น” และ “ศิลปะในการเป่าแซกโซโฟน”

จะมี “ศิลปะผู้นำ” ที่จะให้ไม่ติดกับ “หลักการ” จนการทำหน้าที่ไม่ทะลุถึงเจตนารมณ์หรือไม่

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image