เดินไปในเงาฝัน : มดงานกับกาแฟ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

อาจเป็นเพราะในชีวิตมีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจชั้นนำมามากมาย จนทำให้กรอบของการตั้งคำถาม และคำตอบที่ได้รับ จึงออกมาเป็นสูตรสำเร็จ
ทั้งในเรื่องของสินค้า
งบประมาณการลงทุน
ช่องทางการจัดจำหน่าย
กลุ่มลูกค้า
และความคาดหวังต่อผลประกอบการในไตรมาสแรก หรือปีแรกๆ ของการลงทุนว่าน่าจะมีตัวเลขผลกำไรปรากฏออกมาสักกี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดนั้นๆ
ซึ่งคำตอบที่ได้รับมักจะตอบกลับมาเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ สำหรับคนที่อ่านข่าวเศรษฐกิจ
แต่เมื่อไม่กี่วันผ่านมา ผมมีโอกาสนั่งคุยกับผู้ประกอบการรายย่อย แต่ไม่ถึงกับเอสเอ็มอี เพราะมูลค่าการลงทุนของเขาสูงถึง 10 ล้านบาท
เป็น 10 ล้านบาทที่ใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับการลงทุนในการผลิตโปรดักต์เป็นเฟสๆ หมายความว่า 1-2 ล้านแรกอาจใช้เฉพาะผลิตสินค้าในเล็อตแรกๆ
ส่วนอีก 8-9 ล้านที่เหลือก็ค่อยๆ ต่อยอดกำลังการผลิตไปเรื่อยๆ หากสินค้าล็อตแรกๆ ขายดี มีลูกค้าต้องการ และมียี่ปั๊ว ซาปั๊วต้องการกันมาก
เขาถึงใช้เงินผลิตต่อจากนั้นอีกครั้ง
ผมถามเขาว่า…คุณไม่ใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์เหรอ
เขาตอบว่าไม่ใช้…เพราะเขาไม่มีเงินขนาดนั้น
ผมถามเขากลับอีกครั้งว่า…แล้วแบรนด์ของคุณจะเป็นที่รู้จักได้อย่างไร
เขาตอบว่า…ใช้เพื่อนประชาสัมพันธ์ให้
จากนั้นเขาก็ขยายความให้ผมฟังว่า…เพราะตัวเขาเคยทำงานในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อน จึงทำให้มีเพื่อนหลากหลายวงการด้วยกัน
“ผมก็วานเพื่อนในวงการเหล่านี้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ อีกอย่างผู้ถือหุ้นใหญ่ก็อยู่ในวงการแม็กกาซีนมาก่อน เขาเองมีเพื่อนฝูงมากมายเช่นกัน สำคัญไปกว่านั้นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนอีกคนก็เป็นนักดนตรีเพื่อชีวิต และเขามีแฟนคลับหลายแสนคน”
“ดังนั้น เมื่อเรามาผนึกกำลังกัน ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าแบรนด์ของเราจะเป็นที่รู้จักโดยไม่ยาก ดังนั้น งบประมาณตรงนี้จึงแทบไม่ได้ใช้เลย ส่วนเรื่องภาพยนตร์โฆษณานาทีละหลายล้านบาท ผมก็ไม่ใช้ แต่จะทำสื่อโฆษณาบนสื่อออนไลน์ทุกๆ ช่องทางที่แทบไม่เสียเงินเลย”
ผมฟังแล้วก็ร้องอ๋อ
จากนั้นเขาก็เล่าให้ฟังต่อว่าส่วนเรื่องการวางสินค้าตามช่องทางจำหน่ายต่างๆ ผมไม่ได้ใช้คอนวีเนี่ยนสโตร์ หรือร้านโมเดิร์นเทรดที่ไหน แต่ผมกลับเดินเข้าไปหาร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊วตามต่างจังหวัด เพื่อขอให้เขาวางสินค้าของผมในตู้แช่อย่างน้อย 1 กระป๋องก็ยังดี
“ผมขอแค่ร้านละกระป๋องเท่านั้น”
“ทำไมมักน้อยจัง” ผมถาม
เขาบอกว่า ผมเคยอ่านหนังสือประวัติชีวิตของผู้ใหญ่คนหนึ่งในวงการหนังสือพิมพ์ เมื่อคราวที่หนังสือพิมพ์ออกใหม่ๆ เขาเดินไปหาเอเยนต์ทุกวันทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเพื่อขอให้เขาช่วยวางหนังสือพิมพ์ให้วันละ 1 เล่ม
“ขอ 1 เล่มเท่านั้น”
เพราะผู้ใหญ่คนนั้นบอกว่าการขอร้องให้เอเยนต์ช่วยวางหนังสือให้เราวันละ 1 เล่ม ไม่เพียงเขาจะไม่อึดอัด เขายังรู้สึกสบายใจ เพราะถ้าขายได้ ก็ 1 เล่ม ขายไม่ได้ เหลือก็แค่ 1 เล่ม
ไม่เป็นภาระของใครทั้งสิ้น
และไม่ลำบากใจกันทั้งสองฝ่าย
เขาจึงใช้วิธีเดียวกันนี้กับสินค้าใหม่ของเขา
และเขาจะไม่ปูพรม ด้วยการวางสินค้าพร้อมๆ กันทั่วประเทศ แต่กลับเลือกที่จะวางขายในภาคใต้ก่อน เพราะภาคใต้เป็นถิ่นกำเนิดของเขา และของนักดนตรีเพื่อชีวิตคนนั้น
เขาทั้งสองคนมีเพื่อนฝูงมากมาย
ที่สำคัญ เขารู้ดีว่าคนใต้ชอบดื่มในสิ่งที่เขานำเสนอ เพียงแต่ที่ผ่านมา คนทางภาคใต้ไม่ค่อยมีโอกาสลิ้มลองอะไรใหม่ๆ แบบนี้ จึงทำให้เขาค่อนข้างมั่นใจว่า…น่าจะขายได้
และน่าจะขายดี
ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาคิดจะเป็นจริงหรือไม่
เพราะตอนที่เขาเล่าให้ฟัง อยู่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ยังมีเวลาพิสูจน์กันอีกนาน เพราะหลังจากที่แผนการตลาดของเขามุ่งไปสู่ภาคใต้แล้ว
จากนั้นเขาจะขึ้นเหนือ
ลุยอีสาน
ตะวันออก และตะวันตก
ก่อนจะวกลงกลับมามหานครกรุงเทพฯ
เพราะเขาเชื่อว่าการรับรู้ของแบรนด์จะค่อยๆ ถูกรับรู้จากป่าสู่เมือง อันเป็นกลยุทธ์หลักของเขาที่จะใช้เป็นหัวหอกในการดำเนินธุรกิจ
ที่สำคัญ เขาเชื่อมั่นในพลังของ “มดงาน” และ “คนตัวเล็กๆ” อย่างเขา ที่จะค่อยๆ ลำเลียงสินค้าออกจากโรงงานไปเรื่อยๆ โดยไม่ยึดติดอยู่เฉพาะแค่ยี่ปี๊ว และซาปั๋วแล้ว หากเขายังวางแผนในทุกๆ ช่องทางของสื่อออนไลน์ ด้วยการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าทุกๆ คนที่ต้องการด้วยเวลาอันรวดเร็ว
ซึ่งผมฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
ก็ทำให้นึกถึง “ความฝัน” ของสตาร์ตอัพหลายๆ คนบนโลกใบนี้ที่ประสบความสำเร็จ
เพียงแต่เขาไม่ใช่สตาร์ตอัพอายุน้อยๆ ดังที่เราคุ้นชื่อกัน
แต่เป็นสตาร์ตอัพรุ่นใหญ่ที่มีชื่อว่าปกรณ์ พงศ์วราภา, เอกระพีร์ สุขสกุลพิพัฒน์ และคฑาวุธ ทองไทย (อาจารย์ไข่ แห่งวงมาลีฮวนน่า)
ที่กำลังสร้างแบรนด์มาลีฮวนน่า แบล็ก คอฟฟี่ ออกวางจำหน่ายในเร็วๆ วันนี้
ขอให้กำลังใจครับ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image