“วิษณุ”เผยทำกม.ลูกเสร็จ5ฉบับ ก็เลือกตั้งได้แล้ว

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 28 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กำหนดระยะเวลาการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 8 เดือนและระยะเวลาในการเตรียมการเลือกตั้งอีก 5 เดือน ซึ่งต่างจากกำหนดระยะเวลาโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดิมว่า ตนเห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้ว ก็อาจจะมีการเพิ่มไปอีก 3 เดือน หรืออาจจะเรียกว่าเพิ่มก็ไม่ได้เพราะเขาใช้คำว่าภายใน ก็อาจจะบวกลบคูณหารกันได้ ซึ่งโรดแมปเดิมของคสช.ช่วงสุดท้าย 6+4 แต่ของกรธ. 8+5 ก็จะต่างกันอยู่ 3 เดือน แต่ตนเห็นว่าจะสามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้

“กฎหมายลูกต้องทำ 8 ฉบับ ซึ่งกรธ.คาดว่าจะใช้เวลา 8 เดือน แต่เมื่อไหร่ที่ทำไปได้ 5 ฉบับ ได้แก่1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ว. และ 5.พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง และการงบประมาณ ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้แล้ว เมื่อคิดว่าต้องทำกฎหมาย 5 ฉบับนั้นให้เสร็จโดยใช้เวลา 5 เดือน และไปบวกกับเวลาที่เสนอเข้าสภาฯ ก็อาจจะสั้นลงได้ ส่วนกฎหมายอีกอีก 3 ฉบับไม่เป็นไรเพราะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งคือไม่มีก็อยู่ได้ แต่หาก 5 ฉบับไม่มีเลือกตั้งไม่ได้

เพราะฉะนั้นโรดแมปรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นการกำหนดโดยที่ไม่ได้ดูว่ารัฐธรรมนูญเขาไปกำหนดไว้อย่างไร แต่ใช้โรดแมปครั้งเมื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นหลัก บวกกับความตั้งใจของคสช. แต่ต่อไปหากจะต้องคลาดเคลื่อนมันก็ต้องใช้เวลาของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพราะอย่าลืมว่าปลายเดือนมีนาคม 2559 นี้รัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ ต่อจากนั้นจะไปลงประชามติโดยใช้เวลาอีก 4 เดือน ซึ่งหากเดือนกรกฎาคม 2559 รัฐธรรมนูญผ่านประชามติเขาเขียนยังไงในรัฐธรรมนูญว่ากี่เดือนมันก็ต้องเป็นแบบนั้น โรดแมปในโลกก็แพ้ทั้งหมด” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า สิ่งที่กรธ.ร่างมาถือว่าเหมาะสมกับระยะหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อาจจะบวกลบคูณหารมันก็ไปได้ แต่หากกรธ.จะยืนยันอย่างไร ตรงนั้นเขาก็ชนะ วันนี้เขาไม่ชนะเพราะเป็นการโยนหินถามทาง คุยกันอยู่ ซึ่งทั้งหมดเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ถือว่าจบ ไม่ต้องมาพูดเรื่องอะไรกันอีก แต่หากผ่านประชามติใครจะบอกไม่ได้ ต้องยืนยันตามโรดแมป 6 4 6 4 มันไม่ได้แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว หากไม่ชอบใจก็ต้องไปเถียงกันเรื่องประชามติในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เท่าที่ดูระยะเวลาไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image