‘บึงกาฬ’ ผนึก ‘มติชน’ เปิดเวทีเสริมความรู้ ‘พระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค’

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ จัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬโมเดล 2020” ภายในงานมีเสวนา “พระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” วิทยากรโดยนายอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากมีพระราชพิธีสำคัญคือการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ที่เว้นว่างมากว่า 93 ปี ทั้งนี้ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุดต้องย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

นายอพิสิทธิ์กล่าวว่า ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา ยังไม่พบหลักฐานถึงการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการโปรดเกล้าฯให้จัดการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารค เพื่อให้ราษฎรได้ชื่นชมพระบรมโพธิสมภารเริ่มเป็นครั้งแรกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2394 โดยมีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 จากนั้น การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อๆ มา จึงมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเลียบพระนคร ยกเว้นสมัยรัชกาลที่ 8 ที่มีการเว้นว่างเพราะไม่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แม้จะมีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคหลายครั้งก็ตาม

Advertisement

“ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เพื่อให้พสกนิกรได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคออกจากท่าวาสุกรีไปตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา โดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จะเข้าเทียบสะพานฉนวนประจำท่าราชวรดิฐ” นายอพิสิทธิ์กล่าว

นายอพิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในพระราชพิธีนี้มีการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธีทั้งหมด 52 ลำ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย โดยริ้วสำคัญที่สุดคือริ้วสายกลาง ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้นังมีเรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) เรือแตงโม (เรือกลองใน) ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image