เหยี่ยวถลาลม 14 ธันวาคม : มีกฎหมายเอาไว้ทำไม

“ปารีณาซีรีส์” ไม่ได้เกิดจากความเกลียดชัง หากเกิดจาก “การกระทำ”

ปารีณาแจ้งชัดในรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ “ป.ป.ช.” ว่ามีที่ดิน 1,706 ไร่ ออกสื่อให้สัมภาษณ์ฉะฉานทางโทรทัศน์รู้กันทั่วว่าใครเป็นเจ้าของฟาร์มไก่พันไร่

และเมื่อกรมป่าไม้เข้าตรวจสอบที่ดินกว่า 600 ไร่ “ปารีณา” ยังแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุกเข้าไปโดยไม่ได้บอกกล่าวกับ “เจ้าของ”

ยังมีอะไรที่ไม่ชัด !

Advertisement

แต่พอปรากฏว่า ที่ซึ่งปารีณาครอบครองอยู่นั้น กว่า 46 ไร่ ผิดกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ กับ พ.ร.บ.ป่าไม้ ก็เกิดคำถามถึง “สถานะ” ของที่ดินอีก 600 กว่าไร่

“วราวุธ ศิลปอาชา” เจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯว่า “เป็นเรื่องที่ ส.ป.ก.ต้องอธิบาย”

“ส.ป.ก.” ขึ้นตรงกับ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แห่งพลังประชารัฐ พรรคที่ “ปารีณา” สังกัด

Advertisement

ช่างพร้อมใจกันทั้งธรรมนัสและวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.ว่า “เอาที่ส.ป.ก.คืนมาแล้วจบกัน”

แม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาวางแนวบรรทัดฐาน แต่ ส.ป.ก.ก็ไม่ดำเนินคดี !

“ปารีณา” แจ้งเองว่าครอบครองทำฟาร์มไก่มาตั้งแต่ปี 2549 ที่ตรงนั้นเป็นที่ป่าสงวนฯ ซึ่งกรมป่าไม้มอบให้ ส.ป.ก.ตั้งแต่ปี 2536 เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกิน

ไฉนเป็นปารีณา !?

ต้องสอบสวนว่า ใครปล่อยให้ปารีณาเข้าไปยึดครองที่ตรงนั้นทำกิน

ควรสอบสวนต่อไปอีกว่า “สถานะ” ของที่กว่า 600 ไร่นั้นเป็นเช่นไร ?

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558 วางบรรทัดฐานชัดว่า

พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม

“ขณะที่ผู้ร้องกระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องจึงยังไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินยังไม่เสร็จสิ้น ที่ดินเกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14,31 วรรคหนึ่ง”

ตั้งใจให้ตรงๆ แล้วรักษากฎหมายด้วยความเที่ยงธรรม !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image