อ่างเก็บน้ำ’น้ำเลย’ ช่วยพื้นที่เพาะปลูก

กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำเลย ความจุ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมประตูระบายน้ำบ้านบุ่งกกตาลเสร็จแล้ว  เผยจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งน้ำไปยังฝายท้ายอ่าง 5 ตัว แล้วสูบน้ำกระจายน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก 34,680 ไร่  ยังเหลืองานสร้างคลองส่งน้ำระบบแรงโน้มถ่วงในพื้นที่ลุ่มน้ำอีก 24,912 ไร่

นายประพิศ  จันทร์มา  ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า ในส่วนของอ่างเก็บน้ำก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มกักเก็บน้ำบางส่วนได้ตั้งแต่ฤดูฝนปี 2558 มาถึงขณะนี้ที่เริ่มฤดูฝน 2559 มีปริมาณน้ำเก็บกักที่ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่าง 35 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีปริมาณน้ำกักเก็บเต็มทั้ง 100% เมื่อสิ้นฤดูฝน

“ความจุอ่างเก็บน้ำน้ำเลย มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ก่อสร้าง สามารถกักเก็บได้เพียง 35 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีมากถึง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นโอกาสที่น้ำจะเต็มอ่างจึงมีสูงมาก”

ส่วนการส่งน้ำนั้น ในลำน้ำเลยมีการก่อสร้างฝายทดน้ำอยู่แล้ว 4 ตัว ได้แก่ ฝายยางบ้านทรายขาว ฝายยางบ้านท่าทิศเฮือง ฝายยางบ้านติดต่อ ฝายยางบ้านปากหมาก และล่าสุดเพิ่งก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านบุ่งกกตาลแล้วเสร็จ รวมเป็น 5 ตัว ซึ่งจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำในลำน้ำเป็นระยะๆ แล้วใช้ระบบสูบน้ำส่งเข้าไปในพื้นที่เพาะปลูก 34,680 ไร่

Advertisement

ส่วนการส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วง  กรมชลประทานอยู่ระหว่างการดำเนินการ  คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้อีก 24,912 ไร่  รวมพื้นที่ชลประทานทั้งโครงการ 59,592 ไร่

น้ำเลย1

นายประพิศกล่าวอีกว่า   อ่างเก็บน้ำน้ำเลยทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ท้ายอ่างมีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงฝายทดน้ำในลำน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดในการกักเก็บน้ำ และเนื่องจากยังมีปริมาณน้ำท่าส่วนเกินเหลืออีกมาก จึงต้องวางแผนกักเก็บน้ำเพิ่มเติม  เพื่อไม่ให้ไหลลงแม่น้ำโขงโดยไม่ได้รับประโยชน์

Advertisement

“เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่เห็นว่าควรเก็บน้ำไว้ใช้ แทนปล่อยให้ไหลลงแม่น้ำโขง  ในขณะที่เราเองก็ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง  พอเข้าฤดูฝนน้ำก็ท่วม เสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง” นายประพิศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image