‘ไพบูลย์’ มั่นใจกฤษฎีกาตีความ ‘มาตรา 7’ กม.สงฆ์ ต้นเรื่องตั้งสังฆราชมาจาก ‘นายกรัฐมนตรี’

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยกรณีที่นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ระบุว่ามีผู้ร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบพิจารณาตีความกฎหมายในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ โดยอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาส่งเรื่องกลับมายังรัฐบาลปลายเดือนมิถุนายนนี้ ว่า เชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะใช้หลักการพิจารณา และตีความกฎหมายในมาตรา 7 ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นต้นเรื่องในการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะขึ้นเป็นเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ โดยการวินิจฉัยนี้ได้นำหลักฐานจากคณะกรรมการร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2535 มาพิจารณาถ้อยคำในกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น นายกฯ ต้องเป็นผู้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ และขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (มส.) โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะเป็นผู้นำเรื่องเข้าที่ประชุม มส.

“ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกฎหมายมาตรา 7 สอดคล้องกับผู้ตรวจการแผ่นดิน พศ.ต้องเริ่มขั้นตอนการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสงฆราชใหม่ทั้งหมด ส่วนนามสมเด็จพระราชาคณะที่ มส.เคยเสนอให้แต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ยังไม่มีผล เพราะต้องเริ่มกระบวนการใหม่” นายไพบูลย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image