คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Sustainable จิตวิญญาณของ ‘เกษตรกร’ ผู้ทำการเกษตรไม่ใช่แค่ในฐานะ ‘งาน’ แต่เป็น ‘วัฒนธรรม-วิถีชุมชน’

ภาพประกอบ Youtube Video/HourglassFilmsLLC

เวลาพูดถึง “เกษตรกรรมแบบยั่งยืน” อาจฟังดูนามธรรม ทำได้ยาก หรือหากทำได้ก็อยู่ในวงจำกัด กระนั้นในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Sustainable” ก็มีรายละเอียดที่พยายามเชื้อเชิญให้เราเปิดใจที่จะเห็นความเป็นไปได้ที่เป็นรูปธรรมของการสร้างเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยมีความหวังในอนาคตขั้นสูงสุดว่าการทำ “เกษตรอินทรีย์” จะขึ้นมามีบทบาทเทียบเคียงสามารถผลิตอาหารคุณภาพป้อนให้คนทั้งโลกได้ เทียบเท่าปริมาณอาหารที่ผลิตจาก “เกษตรแบบอุตสาหกรรม”

เรื่องราวของชีวิตเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ในสารคดี “Sustainable” สะท้อนให้เห็นถึง “การลงมือทำ” “ความร่วมมือ” และ “ความเข้มแข็ง” ของชุมชนเกษตรกร ผู้คนในท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมด

หนังสารคดีเริ่มต้นเล่าให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ผู้ปรุงอาหาร หรือ “เชฟ” ก็สามารถมีบทบาทสำคัญที่ช่วยสร้าง “ห่วงโซ่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน” นี้ได้

“ริค เบย์เลส” เชฟแห่งภัตตาคาร “ฟรอนเทร่า กิลล์” ในชิคาโก คือตัวอย่างนั้น เขาและเพื่อนเชฟในชิคาโก 6 คน รวมตัวกันเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเกษตรกรในชิคาโก โดยมีฐานความคิดที่ว่า ทุกวันนี้ผู้คนบริโภคโดยไม่รู้ที่มาที่ไปของอาหาร หรือวัตถุดิบเหล่านั้น ไม่รู้ถึงแหล่งวัตถุดิบปลูก ด้วยเพราะระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ทำให้ทุกอย่างถูกผลิตออกมาจำนวนมากในมาตรฐานที่เท่ากันทั้งหมด ผู้คนจึงรู้จักและเชื่อมั่นเพียง “ยี่ห้อสินค้า”

Advertisement

นำมาสู่แนวคิดของเชฟกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการซื้อวัตถุดิบจากแหล่งเกษตรกรรมที่พวกเขารู้จัก

“ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่าผมจะทำอาหารที่ยอดเยี่ยมได้ยังไง ถ้าผมไม่มีความสัมพันธ์กับคนที่ผลิตอาหารเหล่านั้น” ริคบอกถึงเจตจำนง

Advertisement

เป็นคำตอบถึงการสร้างโมเดลความสัมพันธ์กับกลุ่มเกษตรกรเล็กๆ ในชิคาโก โดยมีแกนนำเกษตรกรอย่าง “มาร์ตี้ ทราวิส” เจ้าของฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้สร้างคุณค่าสำคัญให้กับเพื่อนเกษตรกรที่ทำฟาร์มอินทรีย์คนอื่นๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างตัวอย่าง “รูปแบบเกษตรที่ยั่งยืน” ขึ้นมาได้สำเร็จ

ในสารคดีเราจะได้เห็นกระบวนการและวิธีการที่ทำให้ “เกษตรอินทรีย์” สร้างกำไรได้เทียบเท่าการทำ “เกษตรอุตสาหกรรม” หรือมากกว่าด้วยต้นทุนที่ถูกลง เพียงแต่จะทำได้ต้องใช้ทั้งระยะเวลา ความอดทน และใจเย็นพอที่จะรอรับดอกผลนั้น ซึ่งจุดนี้แม้หนังสารคดีจะพยายามชี้ชวนให้เห็นแง่งาม แต่ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรส่วนมากยังต้องทำการเกษตรเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบเกษตรอุตสาหกรรม ภายใต้สภาวะกดดัน อาทิ ปลูกปริมาณมากให้ครอบคลุมต้นทุน และเหลือเป็นกำไร นั่นทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ยเคมีและสารกำจัดวัชพืช เรื่อยไปจนถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

สารคดี “Sustainable” พาไปดู “กรณีศึกษา” การทำการเกษตรแบบยั่งยืนหลายกรณี อาทิ การนำเสนอให้เห็นการบริหารจัดการฟาร์มขนาด 160 เอเคอร์ หรือราว 400 ไร่ ของ “มาร์ตี้ ทราวิส” ที่ทั้งปลูกพืชผัก และทำปศุสัตว์ โดยมีตลาดรองรับจากร้านอาหาร ภัตตาคารในตัวเมือง โดยการสนับสนุนของกลุ่ม “เชฟ” ในชิคาโก ที่จะสั่งรายการวัตถุดิบที่พวกเขาต้องการล่วงหน้าในแต่ละสัปดาห์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง

หน้าที่ของ “มาร์ตี้” นอกจากเป็นเกษตรกรด้วยแล้ว ยังเป็นผู้นำกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่จัดประชุมเพื่อบริหารจัดการผลผลิตร่วมกับเพื่อนเกษตรกร บริหารและวางแผนวัตถุดิบ สิ่งสำคัญคือ พวกเขาลองปลูกพืชผักหลายสายพันธุ์ รวมถึงพืชท้องถิ่นที่ขึ้นในป่า โดยทำในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพืชบางชนิดต้องใช้เวลาสะสมเมล็ดพันธุ์นานถึง 2 ปี ให้พอปลูกและเก็บเกี่ยวได้

ในหนังสารคดี เราจะเห็นวิธีการที่ “มาร์ตี้” อยากจะสร้างระบบเกษตรยั่งยืนให้กลับคืนมา ไม่เพียงแค่ปลูกพืชให้กับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ แต่เขาต้องการปลูกพืชที่สามารถกินได้จริง และสามารถขายให้กับชุมชนขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชผักที่หายากผ่านการพยายามปลูกและขยายพันธุ์

กรณีศึกษาต่อมา หนังสารคดีพาไปดูแปลงเกษตรทดลอง ของ “สถาบันโรเดล” ที่รัฐไอโอวา ซึ่งทดลองปลูกพืชแบบลดการพึ่งพาสารเคมีด้วยการใช้ระบบ “ความหลากหลายทางธรรมชาติ” มาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดวัชพืช อาทิ การปลูกข้าวโอ๊ตคู่กับต้นโคลเวอร์ ไปจนถึงปลูกพืชหมุนเวียนในรอบการปลูกที่นานขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะช่วยเอื้อให้ดินมีคุณภาพมากขึ้น เพราะพืชที่ปลูกเสริมช่วยเติม “ไนโตรเจน” โดยธรรมชาติเข้าไปในดินแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ขณะที่รอบการปลูกที่นานขึ้นไม่รีบปลูกพืชหมุนเวียนในทันทีแบบปีต่อปี ก็ทำให้ดินถูกกัดกร่อนน้อยลง และเมื่อรอบปลูกยาวขึ้นปัจจัยการผลิตก็จะลดลงตาม

“มาร์ค สมอลล์วู้ด” จากสถาบันโรเดล ให้มุมมองและข้อมูลคาดการณ์ว่า วันนี้เกษตรอินทรีย์ยังสร้างอาหารให้ทั้งโลกไม่ได้ แต่จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าใน 34 ปีข้างหน้า ปริมาณผลผลิตของเกษตรอินทรีย์กับเกษตรเคมีจะเท่ากัน เพราะระหว่างการทดลองหากช่วงไหนดินมีความแห้งแล้งเราจะเห็นว่าปริมาณผลผลิตของทางฝั่งอินทรีย์จะดีกว่าถึง 31% การทำเกษตรยั่งยืนได้สำเร็จนั้น สิ่งสำคัญจึงเป็น “ดิน” ที่เปรียบเป็นรากฐานของเกษตรกรรม ที่ต้องทะนุถนอมดินให้ดีที่สุด ไม่ให้ถูกกัดกร่อนจากปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช

อีกกรณีศึกษาที่สารคดีหยิบยกขึ้นมา คือ แนวทางเกษตรระบบนิเวศสมัยใหม่ วิธีการนี้คือ การสร้างโภชนาการให้กับดินและพืชให้ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ ศัตรูพืช โดยใช้วิธีการ “วิเคราะห์น้ำเลี้ยงของพืช” เพื่อนำข้อมูลมาสร้าง “โปรแกรมโภชนาการ” ดูว่าต้องเน้นสารอาหารหรือลดสารอาหารใดให้กับพืช เช่น หากวิเคราะห์น้ำเลี้ยงพืชพบว่า พืชตัวนี้เกิดภาวะมีโพแทสเซียมมากไป ทำให้แคลเซียมขาด ก็ต้องนำแมงกานีสมาช่วยเสริมเพื่อให้ระดับแคลเซียมปรับเพิ่มให้เพียงพอต่อพืช ซึ่งวิธีสร้างโภชนาการให้พืชนี้ ได้นำไปทดลองใช้จริงที่สวนเชอรี่ในรัฐโอเรกอน โดยวางโปรแกรมทางโภชนาการให้กับต้นเชอรี่ผ่านการจัดสารอาหารที่เพียงพอที่จะต้านทานโรคพืชและแมลงส่งผลให้ผลเชอรี่มีสภาพสมบูรณ์ปลอดโรคจากแบคทีเรีย และทำให้เกษตรกรทำกำไรต่อแปลงได้มากขึ้น

ยังมีกรณีศึกษาและรายละเอียดที่สารคดี “Sustainable” พาไปดูวิธีการทำเกษตรยั่งยืนที่มีความหวังขึ้นมาได้ ใครสนใจรับชมได้ในเน็ตฟลิกซ์ ตัวหนังเล่าได้ละเมียดละไม ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ “เกษตรกร” กับ “แหล่งกำเนิดอาหาร” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์

สิ่งสำคัญเรายังได้สัมผัสถึงจิตวิญญาณของ “เกษตรกร” ผู้ทำการเกษตรไม่ใช่แค่ในฐานะ “งาน” แต่เป็นดั่ง “วัฒนธรรม” และ “วิถีชุมชน” ที่มีคุณค่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image