รายงานพิเศษ : ‘ดอน’ ประชุมอาเซมสเปน เยือนโปรตุเกสกระชับสัมพันธ์

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ใช้เวลาไปกับการเดินทางเยือนประเทศสเปนและโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ โดยในส่วนของประเทศสเปนนั้น นายดอนได้ไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป (อาเซม เอฟเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซมในปีนี้มีหัวข้อหลักคือ “การร่วมกันเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยมระหว่างเอเชียกับยุโรปให้มีประสิทธิภาพ” สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของสมาชิกอาเซมทั้งในเอเชียและยุโรปที่มองเห็นถึงแนวโน้มความเป็นไปในโลกปัจจุบัน ซึ่งหลายประเทศดูจะหันไปใช้แนวคิดที่ยึดโยงผลประโยชน์ภายในของประเทศเป็นหลัก และลดทอนความสำคัญของระบบพหุภาคีที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายกรอบ หลายเวที และหลายมิติลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

การดำเนินนโยบายที่ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติตนเองเป็นหลัก เห็นได้ชัดเจนจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่ประกาศนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นไปตามนโยบายนั้นโดยไม่สนใจว่าจะก่อแรงสั่นสะเทือนให้กับโลกอย่างไร ไล่เรียงตั้งแต่การทำสงครามการค้ากับจีน และใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อบีบให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐต้องหันกลับมาเจรจาการค้ากับสหรัฐใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่สหรัฐต้องการ กระทั่งการประกาศถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและซีเรีย โดยไม่สนใจว่าจะสร้างปัญหาด้านความมั่นคงในประเทศเหล่านั้นต่อไปอย่างไร จากร่องรอยของสงครามและความขัดแย้งที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ในพื้นที่

หรือถ้าจะมองให้ใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อยสำหรับยุโรปก็คือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิท ที่ดูจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษและผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความชัดเจนว่ากระบวนการเบร็กซิทที่เคยทำให้การเมืองอังกฤษต้องติดหล่มมาหลายปี ภายใต้ความหวังของหลายฝ่ายว่าที่สุดแล้วเบร็กซิทอาจจะไม่เกิดขึ้นนั้น มันคือทางเดินที่ไม่มีวันหันหลังกลับแล้วจริงๆ

Advertisement

ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังส่งแรงสั่นสะเทือนถึงความเชื่อในอดีตของการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มอำนาจในการต่อรอง และสร้างความดึงดูดทางการค้าและการลงทุนให้เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอียู ที่คงไม่เกินจริงหากจะพูดว่าถือเป็นต้นแบบของการรวมตัวกันอย่างครอบคลุมในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงอาเซียนก็ว่าได้

แนวโน้มต่างๆ ดังที่ว่ามานี้ทำให้การประกาศความสนับสนุนต่อระบบพหุภาคี และเพิ่มพูนความเข้มแข็งในการกระชับความร่วมมือ และการเน้นย้ำถึงประโยชน์จากกลไกภายใต้กรอบพหุภาคี จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซมในครั้งนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียและยุโรปต่างก็ยังคงยืนยันจุดยืนที่จะยึดมั่นกับกรอบความร่วมมือและการรวมตัวกันในภูมิภาคอย่างเหนียวแน่น

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อที่ประชุมถึงความสำคัญของกระบวนการพหุภาคี โดยชี้ว่าเป็นการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับความท้าทายต่างๆ ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่อย่างมากมาย มีความหลากหลาย และล้วนแต่ถือเป็นประเด็นระดับโลกทั้งสิ้น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ชาติสมาชิกอาเซมจะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มพูนความเข้มแข็งให้กับกระบวนการพหุภาคี และเมื่อพิจารณาจากการขาดความเชื่อมั่นระหว่างกันในโลกยิ่งทำให้เห็นว่าอาเซมจะต้องเพิ่มความร่วมมือภายใต้ระบบพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ และจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน

Advertisement

นายดอนยังได้เสนอให้อาเซมส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมา ไทยได้จัดการสัมมนาด้านขยะทะเล ความยั่งยืนทางทะเล และการพัฒนาคนเพื่อความยั่งยืนด้านดิจิทัล และได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม ASEM Youth Camp on Marine Sustainability และการสัมมนา ASEM Seminar on Public Health Emergencies อีกด้วย

ระหว่างการประชุมอาเซม นายดอนได้ถือโอกาสหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากหลากหลายประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์และพูดคุยถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต อาทิ เนเธอร์แลนด์ บัลแกเรีย ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และคาซัคสถาน รวมถึงหารือกับนายโฆเซป บอร์เรลล์ ฟอนเตเยส ผู้แทนระดับสูงของอียูด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งได้มีการหารือถึงการรื้อฟื้นการเจรจาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับอียู รวมถึงการกระชับการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสองภูมิภาคด้วย

นายดอนในฐานะประธานอาเซียนยังได้ขึ้นกล่าวในเวที “อาเซียน ทอล์ก” ในหัวข้อ “การเป็นพันธมิตรระหว่างอาเซียน-อียู : การส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการอาเซียนประจำกรุงมาดริดและสถาบัน Elcano Royal Institute ที่เป็นสถาบันนักคิดด้านยุทธศาสตร์และการต่างประเทศที่สำคัญของสเปน

นายดอนได้เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียนในการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ควบคู่กับการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอกซึ่งรวมถึงอียู ผ่านการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างกัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือการนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะความร่วมมือที่ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การแลกเปลี่ยนความรู้และเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

หลังเสร็จภารกิจในสเปน นายดอนได้บินต่อมายังโปรตุเกส ซึ่งนับเป็นการเดินทางเยือนโปรตุเกสในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบหลายสิบปี หลังจากที่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน รัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกสได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการมาแล้ว

แทบไม่น่าเชื่อว่าที่ผ่านมา การติดต่อในระดับสูงระหว่างไทยกับโปรตุเกสจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แม้โปรตุเกสจะถือเป็นชาติตะวันตกประเทศแรกๆ ที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับไทย ซึ่งหากนับย้อนไปจากปี 2054 ที่โปรตุเกสได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยเป็นครั้งแรกและมีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าระหว่างกันจนถึงขณะนี้ ทั้ง 2 ประเทศก็มีการติดต่อไปมาหาสู่กันมานานกว่า 508 ปีแล้ว ขณะที่ไทยและโปรตุเกสได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2402 หรือเท่ากับ 160 ปีในปัจจุบัน โดยในปี 2563 สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ยังจะจัดงานเฉลิมฉลองครบ 200 ปีที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อสร้างสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่การหารือระหว่างนายดอนกับนายนายออกุชตู ซานตูช ซิลวา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกส ก็เป็นไปด้วยบรรยากาศฉันมิตร ทั้งสองฝ่ายต่างได้พูดคุยประเด็นมากมายที่ถือเป็นผลประโยชน์สำหรับสองประเทศ และเห็นพ้องที่จะผลักดันความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป หลังจากที่ตัวเลขการค้าระหว่างไทยและโปรตุเกสในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 เพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 37%

ในปี 2563 ยังจะมีการประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศระหว่างไทย-โปรตุเกสภายใต้กรอบ Political Consultation โดยไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นโอกาสอันดีในการผลักดันและติดตามเรื่องต่างๆ ที่รัฐมนตรีทั้งสองได้หารือกันไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความตกลงด้านแรงงาน ภาษีซ้อน เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงความร่วมมือที่ครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ตลอดจนประเด็นอื่นๆ

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกสยังรับปากที่จะนำคณะนักธุรกิจโปรตุเกสเดินทางเยือนไทยเพื่อมาดูลู่ทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในโอกาสแรกอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image