จับตาศึกชิงคลื่น 5G เดือด 3เอกชนเตะตัดขาแคท-ทีโอที กสทช.ดีเดย์16ก.พ.63เคาะราคา

ได้ฤกษ์ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่แม้จะผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่เนื้อหาแทบไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย

เปิดหลักเกณฑ์ประมูล”5G”

โดยจะเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ใน 4 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ ด้วยรูปแบบการประมูลที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคิดค้น นั่นคือ “คล็อคอ๊อกชั่น” กำหนดให้ผู้ประมูลต้องเคาะราคาเลือกคลื่นความถี่ก่อน จากนั้นจึงเคาะเลือกชุดความถี่ แต่จะไม่เปิดประมูลพร้อมกัน เปลี่ยนเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ โดย กสทช. กำหนดระยะเวลาการคล็อคอ๊อกชั่นจำนวน 2 ครั้ง คือ วันที่ 10 และ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลมีความเข้าใจ และคุ้นเคยกับระบบการประมูล

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 15 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งออกเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 3 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 8,792 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

Advertisement

คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 35 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งออกเป็น 7 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 4 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 12,486 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 190 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งออกเป็น 19 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 10 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรของสมาร์ทซิตี้ภายใน 4 ปี โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 2700 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งออกเป็น 27 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 12 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ22 ล้านบาท กำหนดการชำระเงินค่าประมูลงวดเดียว โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

Advertisement

ดีอีเอสดัน”แคท-ทีโอที”ร่วมประมูล

การประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา หลายคนคงคุ้นตากับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 3 รายหลัก คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค แต่เมื่อ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้ารับตำแหน่ง ก็วางนโยบายให้สองรัฐวิสาหกิจ อย่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชิมลางเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ด้วย โดยจะร่วมประมูลก่อน หรือหลังควบรวมกิจการเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที ก็ได้

“หากนำเรื่องควบรวมกิจการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้โดยเร็ว จะทำให้แคท และทีโอที มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ต้องดูว่าจะควบรวมกิจการได้ทันหรือไม่ เพราะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร หากควบรวมกิจการไม่ทัน อาจให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในย่านที่ต่างกันก่อน และหลังจากควบรวมกิจการแล้วจึงนำคลื่นความถี่ มาให้บริการร่วมกัน” พุทธิพงษ์กล่าว

ทำให้เลขาธิการ กสทช.ยิ้มออก เพราะอย่างน้อยการประมูลนี้จะไม่ม่ายขันหมากแน่นอน พร้อมเปิดช่องให้แคท และทีโอที เข้าร่วมประมูลได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวกัน แต่ต้องเข้าร่วมการประมูลคนละย่านความถี่ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลหรือเป็นการเอื้อประโยชน์แต่อย่างใด

“ดีแทค”โอดเลื่อนประมูล

ฟากโอเปอเรเตอร์ตาน้ำข้าว “บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค” ที่ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหนึ่งวัน ก็ปาดหน้าตั้งโต๊ะแถลงมุมมองต่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G ปี 2563 นำโดย มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรดีแทค ยื่น 4 ข้อเสนอ ได้แก่ 1.ขอให้ กสทช.เลื่อนเวลาการประมูลออกไปสักระยะ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลพร้อมกัน 2.ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่สูงกว่าค่ากลางของสากล ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย 3.วิธีการประมูล ควรสอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่นความถี่ทุกย่าน และ 4.กำหนดหลักประกันทางการเงินให้สูงเพียงพอ เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่ตั้งใจเข้าร่วมการประมูล

“ยิ่งโอเปอเรเตอร์นำเงินมาลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงเท่าไร ยิ่งจะกระทบต่อการลงทุนด้านโครงข่ายที่จะไม่สามารถลงทุนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งนี้ หากจะลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่ที่แพง นั่นหมายความว่า โอเปอเรเตอร์จะต้องได้รับรายได้จากการให้บริการที่สูงขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะในระบบ 2G, 3G หรือ 4G ไม่สามารถที่จะคิดอัตราค่าบริการที่สูงขึ้นได้ มีแต่จะเท่าเดิมหรือถูกลง” มาร์คุสกล่าว

“เอไอเอส-ทรู”ประสานเสียง

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โอเปอเรเตอร์ 2 รายที่เหลือ ก็รัวความคิดเห็นแบบไม่ยั้ง โดย กิตตินันท์ พจน์ประสาท หัวหน้าส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ระบุว่า กสทช. ควรเลื่อนการประมูลออกไปก่อน เพราะคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ไม่เหมาะสมในการทำ 5G ขณะที่การเรียกคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวยังไม่ชัดเจน และมีความเห็นว่า คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ เหมาะกับการทำ 5G มากกว่า แต่ยังไม่สามารถนำมาประมูลได้ เพราะยังไม่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกับสัญญาณไมโครโฟน ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้นการประมูลสูงไป และเหมาะกับการเสริมโครงข่าย 4G มากกว่า สุดท้ายคือคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ยิ่งไม่น่าสนใจเพราะเป็นคลื่นที่ยังไม่มีการลงทุนใดๆ ในตลาด

จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู เผยว่า ต้องการทราบความชัดเจนเรื่องคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ว่าพื้นที่ใดใช้ไม่ได้ และใช้ได้เมื่อไร และเห็นว่ากสทช.ควรนำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลเพียงคลื่นเดียว เพื่อให้เอกชนเก็บเงินไว้ลงทุนคลื่นอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วให้เกิด 5G ภายในปี 2563 โดยประเด็นที่บังคับให้ผู้ชนะการประมูลรีบลงทุน 50% ในพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี ปฏิบัติตามได้ยาก เพราะบางครั้งความต้องการอาจจะอยู่นอกพื้นที่ จึงต้องการให้นำเงื่อนไขนี้ออกไป

แม้การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะยังไม่ทันจบ แต่โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายกลับรีบตบเท้าเข้าหารือกับ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เพื่อเสนอให้จัดการประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ในรูปแบบการประมูลปกติ โดยให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700, 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลครั้งต่อไป

กสทช.โนสน เร่งประมูลต่อ

ต่อให้โอเปอเรเตอร์จะร้องแรกแหกกระเชอเพียงใด เลขาธิการ กสทช. ก็ยังเดินหน้าสู่การประมูลคลื่นความถี่ ขณะที่เวลาจวนเจียนจะได้ข้อสรุป จู่ๆ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ก็มีมติให้จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ใน 3 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ยังติดปัญหาการย้ายคลื่นความถี่ไมโครโฟน จะใช้งานได้เดือนมีนาคม 2564 ดังนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ จึงมีมติให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จัดการประมูลพร้อมคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์

ฐากรกล่าวว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ที่จัดสรรให้กับโอเปอเรเตอร์ 3 ราย ปัจจุบันผู้ให้บริการโครงข่าย (มักซ์) มีปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ทันวันที่ 30 กันยายน 2563 คาดว่าจะล่าช้าไปเป็นประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ส่วนคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลในรอบนี้ จะใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2564

“คณะอนุกรรมการลงมติว่า คลื่นความถี่ย่าน 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ไม่ติดปัญหา ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ โอเปอเรเตอร์ มองว่า ยังติดปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของเทคโนโลยี คาดว่า จะชัดเจนในอีก 1 ปี จึงลงมติให้จัดการประมูลคลื่นล่วงหน้า แต่ยังไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาต” ฐากรกล่าว

“แคท”โวยถอดคลื่น700

การถอดคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ออกจากการประมูล ทำเอาแคท งงเป็นไก่ตาแตก จน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่แคท ต้องทำหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอคำชี้แจงในมติดังกล่าว

“หากข้อมูลทั้งหมดเป็นไปตาม กสทช. ชี้แจง แล้วเหตุใดครั้งที่ผ่านมาจึงเปิดประมูลให้กับโอเปอเรเตอร์ 3 รายได้ ซึ่งหากจะรอให้เกิดการย้ายคลื่นความถี่ไมโครโฟนก็จัดให้มีการประมูลในครั้งนี้ได้ เพราะเมื่อจัดสรรคลื่นความถี่เสร็จและแก้ปัญหาด้านความถี่ของโอเปอเรเตอร์ 3 ราย บวกกับแคทอีก 1 รายไม่ต่างกันดังนั้น จึงเห็นว่า กสทช. ควรบรรจุคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในการประมูลที่จะเกิดขึ้นตามเดิม ทั้งนี้ สาเหตุที่แคทต้องการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นคลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีสัญญาการให้บริการอยู่กับดีแทค ช่วยลดการลงทุน” พ.อ.สรรพชัยกล่าว

ต่อมา สำนักงาน กสทช. นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. และมีมติให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ออกประมูลตามเดิม

“เอกชน”รุมเตะตัดขา”แคท-ทีโอที”

ตัวแทนทรูระบุว่า การเปิดให้แคทและทีโอทีเข้าประมูลด้วย ทำให้มีคำถามว่าสองรัฐวิสาหกิจแม้จะบอกว่ามีเงินเข้าร่วมประมูล แต่จะสามารถแข่งขันกับเอกชนได้หรือไม่ เพราะกระบวนการทำงานของรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมีหลายขั้นตอนไม่ได้รวดเร็วเหมือนเอกชน ทั้งนี้ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ มีจำนวนเพียง 190 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น เกรงว่าจะมีการแข่งขันเคาะราคา จนทำให้ราคาค่าใบอนุญาตแพงเกินไป

ขณะที่ตัวแทนเอไอเอสเผยว่า ไม่ควรเปิดให้รัฐวิสาหกิจเข้าประมูลเพื่อแข่งขันกับภาคเอกชนควรเน้นการสร้างโครงข่ายพื้นฐาน อาทิ ท่อร้อยสาย, สายเคเบิลใต้น้ำ (ซับมารีนเคเบิล) และการให้บริการดาวเทียม อีกทั้ง การประมูลครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ทิ้งใบอนุญาตครั้งก่อน เข้าร่วมการประมูลได้อีก ซึ่งจริงๆ ต้องขึ้นบัญชีดำ (แบล๊กลิสต์) ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมการประมูลรายใหม่ ต้องวางหลักประกัน (แบงก์การันตี) 100% ไม่ใช่แค่ 10% อย่างที่เป็นอยู่

ส่วน อเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ระบุว่า ภาครัฐไม่ควรมาแข่งกันกับเอกชน เพราะจะเกิดความไม่เท่าเทียมกัน และการให้บริการมือถือนั้นไม่ได้มีเฉพาะคลื่นความถี่เพียงอย่างเดียวและคลื่นเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ซึ่งมองว่าทั้งแคทและทีโอทีไม่ได้มีความพร้อมที่จะรองรับการแข่งขัน และเงินที่นำมาประมูลนั้น คือเงินภาครัฐ และยังต้องจ่ายให้ภาครัฐ

ดัน”แคท-ทีโอที”บริการ 5G ภาคสังคม

ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส ต้องแจงเป็นข้อๆ ว่า ขอให้โอเปอเรเตอร์ 3 รายหลักสบายใจได้ว่า แคท และทีโอทีไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันเพื่อทำให้ราคาค่าใบอนุญาตสูงขึ้น แต่ร่วมเพื่อนำคลื่นความถี่มาให้บริการ 5G ในภาคสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

“หาก 3 โอเปอเรเตอร์ นำ 5G มาให้บริการฟรีสำหรับระบบการรักษาทางไกลและการให้บริการสังคม โดยเฉพาะคนไทยที่มีรายได้น้อยได้ใช้ฟรี ก็พร้อมสั่งให้แคทและทีโอทีถอนตัวจากการประมูล แต่เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องสนับสนุนให้แคทและทีโอทีเข้าร่วมประมูล เพราะรัฐบาลต้องดูแลประชาชนทุกคนให้ได้รับสิทธิบริการเท่าเทียม หากวันนี้มีมาตรา 44 จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอแบ่งคลื่นความถี่มาให้บริการภาคสังคม เพราะไม่มีหน่วยงานใด กล้าที่ลงทุนเพื่อให้บริการภาคสังคมในพื้นที่ห่างไกลเนื่องจากไม่มีกำไร ไม่คุ้มทุน ฉะนั้นหน่วยงานรัฐต้องเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาส ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการ”

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า การให้รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นได้ทำการศึกษาแล้ว พบว่า หากเป็นเรื่องที่เหตุผลเพียงพอ และเป็นประโยชน์ต่อภาคสังคมสามารถทำได้ ฉะนั้น หากการกระทำดังกล่าวมีความผิด จะขอรับผิดชอบเอง ตัวอย่างรัฐบาลเยอรมนีได้กันคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ไว้ 30% เพื่อให้รัฐนำไปบริการภาคสังคม และ 70% ให้เอกชนนำไปทำธุรกิจ ขณะที่ประเทศไทยต้องเข้าร่วมประมูลเท่านั้น กระทรวงดีอีเอสก็ต้องให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมประมูล เพื่อนำคลื่นความถี่ 5G มาให้บริการภาคสังคม

ผุด”คณะกก.5G”ดันต่อยอดใช้งาน

ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน ที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยมอบให้กระทรวงดีอีเอส หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาจัดตั้ง หลังจากมีการยกร่างคำสั่ง พบว่า มีความกำกวมที่คาบเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. จึงได้รับการท้วงติงจากหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นกังวลว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะก้าวล่วงการทำงานของ กสทช. ในการจัดการประมูลคลื่นความถี่

ซึ่งเลขาธิการ กสทช.ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคมวุฒิสภา ถึงการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อต่อยอดการใช้งาน 5G และสร้างความเชื่อมั่นให้กับโอเปอเรเตอร์ ที่ต้องเป็นผู้ลงทุน โดยยืนยันว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ และ กสทช. เป็นผู้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเอง พร้อมทั้ง ปรับปรุงยกร่างคำสั่งใหม่ โดยกำหนดกรอบหน้าที่ของคณะกรรมการให้ชัดเจนขึ้น

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เผยว่า คาดว่า จะนำเข้าที่ประชุม ครม. ช่วงวันที่ 7 มกราคม 2563 เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีเรื่องที่เร่งด่วนมากกว่านี้ และยืนยันว่า ไม่ได้ติดปัญหาอะไร

ปีหน้า”5G”เกิด

เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า คาดจะออกใบอนุญาตได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และผู้รับใบอนุญาตสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนคาดว่า ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 จะสามารถเปิดให้บริการในพื้นที่อีอีซี ย่านใจกลางเมือง ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวจะใกล้เคียงกับการเปิดบริการ 5G ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคม 2563

จากนี้คงต้องจับตาดูว่า จะมีโอเปอเรเตอร์สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามาร่วมประมูลกี่ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image