สรท.ประเมินรัฐทุ่มแสนล้านอุ้มเอสเอ็มอี ช่วยได้แค่ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า มาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เสริมแกร่ง เพิ่มทุนสร้างไทย เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้วงเงิน 100,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีกว่า 100,000 ราย มองว่าเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเท่านั้น เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา เอสเอ็มอีต้องเจอศึกหนักมากพอสมควร โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเต็มที่ ส่วนเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจในประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากภาวเศรษฐกิจชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก

“คนส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย การหมุนเวียนของเศรษฐกิจจึงไม่ค่อยเกิด เมื่อเอสเอ็มอีผลิตอะไรออกมา ทั้งสินค้าและบริการก็ขายได้ยาก ทำให้การทำกำไรทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากฝั่งความต้องการของผู้บริโภคมีไม่มาก การผลิตสินค้าก็ทำได้น้อยลง เมื่อผลิตสินค้าน้อยชิ้น ต้นทุนก็สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ทำได้ยากมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้รับผลกระทบด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น ในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรง ทำให้ภาพรวมดูเป็นการต่อลมหายใจให้เอสเอ็มอี ท่ามกลางสภาวะที่ฝืดเคืองเท่านั้น”นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า มาตรการที่ออกมา เป็นมาตรการระยะสั้น ที่คาดว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เอสเอ็มอีมีความจำเป็นที่จะต้องชะลอการผ่อนจ่ายหนี้คงค้าง เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจก่อน และหากจะมีการขอกู้เพิ่มเพื่อพยุงธุรกิจ ก็มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากตัวเลขการเงินไม่ดี ทำจึงยากที่ธนาคารพาณิชย์จะอนุมัติเงินกู้ใหม่ให้ แต่หากมีมาตรการผ่อนปรนออกมา ก็อาจช่วยบรรเทาได้บ้าง โดยมาตรการที่คาดว่าจะตอบโจทย์เอสเอ็มอีที่สุดคือ การลดต้นทุนต่างๆ ที่เกิดจากภาครัฐ อาทิ การเก็บค่าธรรมเนียมและการขอนุญาตต่างๆ เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถือเป็นต้นทุนที่มองไม่เห็น

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า สำหรับกรณีข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินภาพในระยะยาวได้ เพราะสถานการณ์ดูยังมีความรุนแรงอยู่ แต่หากมองในมุมที่คาดว่าเหตุการณ์จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ก็จะส่งผลกระทบกับเรื่องการเงิน ต้นทุน ราคาน้ำมันและการขนส่งโลจิสติกส์ในช่วงสั้นๆ แต่หากยืดเยื้อยาวนาน ผลกระทบก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่การบานปลายยังมีข้อจำกัด เพราะเกิดขึ้นในระหว่างประเทศกับประเทศ แต่หากเกิดขยายในวงกว้างมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่เฉพาะภาคการส่งออกในประเทศเท่านั้น ส่วนเหตุการณ์จะรุนแรงและบานปลายจนเกิดเป็นสงครามขึ้นหรือไม่นั้น มองว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังคาดหวังให้คลี่คลายได้ในเร็วๆ นี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image