บีอีเอ็มยอมรับทุกเงื่อนไขยุติข้อพิพาททางด่วน พร้อมเดินหน้าชง ครม.อนุมัติม.ค.นี้

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการ(บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดภายหลังประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณายุติข้อพิพาททางด่วนร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีอีเอ็มว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติผลการเจรจาร่วมกับบีอีเอ็มเพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีคดีการฟ้องร้องรวม 17 คดี โดยไม่มีเรื่องการลงทุนปรับปรุงทางด่วน(Double Deck) หรือทางด่วนชั้นที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้อง มีเพียงการขยายอายุสัญญาทางด่วนออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน หรือสิ้นสุดทุกสัญญาในวันที่ 31 ตุลาคม 2578

“การประชุมบอร์ดครั้งนี้ได้หารือร่วมกับบีอีเอ็มด้วย โดยทางบีอีเอ็มยอมรับเงื่อนไขทั้งหมด ไม่จะเป็นการไม่ได้ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 รวมถึงการขยายอายุสัญญาตามที่กำหนด รวมถึงเงื่อนไขอื่นที่เคยระบุมาก่อนหน้านี้ เช่น การยกเว้นค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี”นายสุรงค์กล่าว

นายสุรงค์กล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนของตามกรอบการดำเนินงานหลังจากนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการกำกับตามมาตรา 43 ภายในสัปดาห์นี้ และนำร่างสัญญาที่เกี่ยวข้องเฉพาะข้อพิพาทเสนออัยการสูงสุดพิจารณา โดยตั้งเป้าหมายนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคมนี้ ตามกรอบที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดไว้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการขยายอายุสัญญาทางด่วน กำหนดเอาสัญญาที่จะหมดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน เอ บี และซี เป็นตัวตั้ง โดยขยายเป็น 15 ปี 8 เดือน สิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 เมษายน 2570 และส่วนต่อสัญญาทางด่วนบางปะอิน–ปากเกร็ด ซึ่งเป็นส่วนซีบวก จะหมดสัญญาวันที่ 27 กันยายน 2569 ก็จะสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578

Advertisement

ทั้งนี้คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด(เอ็นอีซีแอล) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบีอีเอ็ม ฟ้องร้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กรณีกรมทางหลวง(ทล.)มีการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต โดยเส้นทางดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางแข่งขันกับโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด การเปิดใช้ทางยกระดับดังกล่าวเป็นผลให้เอ็นอีซีแอลได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง โดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงจากประมาณการแก่ผู้ร้อง ณ วันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,359,916,478 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image