วิกฤตตะวันออกกลาง โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

วิกฤตตะวันออกกลางเข้าขั้นคับขันอิหร่านยิงขีปนาวุธ โจมตีจุดยุทธ ศาสตร์สำคัญของสหรัฐในอิรัก เป็นการล้างแค้นที่สหรัฐใช้เครื่องบินไร้คนขับสังหารนายพลโซไลมานี ผู้บัญชาการทหารของอิหร่าน เมื่อวันที่ 3 มกราคม

บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ว่าสหรัฐ-อิหร่านเข้าสู่ขบวนการปะทะกันทางการทหาร

หากสหรัฐ-อิหร่านเปิดศึก ย่อมมีแนวโน้มให้ประเทศอื่นร่วมด้วยช่วยกัน

เป็นการอันกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค และเศรษฐกิจของโลก

Advertisement

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤตครั้งแรกหลังจากสงครามอิรักเมื่อปี 2003

วันที่ 3 มกราคม ทหารอเมริกันสังหารนายพลโซไลมานี

ต่อมาวันที่ 8 มกราคม อิหร่านยิงขีปนาวุธ โจมตีฐานทัพสหรัฐในอิรัก

Advertisement

รัฐบาลอิหร่านประกาศว่า มีคนตาย 80 คน ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของสหรัฐด้วย แต่ฝ่ายสหรัฐปฏิเสธว่าไม่ปรากฏมีทหารอเมริกันบาดเจ็บและตาย

ส่วนรัฐบาลอิรักแถลงว่า อิหร่านได้แจ้งล่วงหน้าว่าเป้าหมายการโจมตีเจาะจงเฉพาะทหารอเมริกัน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ปรากฏมีทหารอิรักบาดเจ็บหรือตายแต่ประการใด

ประจวบเหมาะกับวันที่ 8 มกราคม เครื่องบินโดยสารของประเทศยูเครนที่ออกจากสนามบินเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ปลายทางคือยูเครน แต่ขึ้นบินได้ไม่นานก็ตกโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมดนั้น

นำมาซึ่งการคาดเดาต่างๆ นานา

หากพินิจถึงความเป็นจริง ถ้าอิหร่านจะโจมตีทหารอเมริกันในอิรัก ไม่มีความจำเป็นต้องสละเป้าหมายใกล้ตัว และเล็งไปจุดที่ไกลตัว การที่เจตนายิงตกเครื่องบินยูเครนซึ่งห่างไกลจากพรมแดนของอิหร่านและอิรักนั้น ยังไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้

อย่างไรก็ตาม ในนาทีอ่อนไหว ถ้าหากอิหร่านและยูเครนจะร่วมกันยืนยันว่าเหตุการณ์เครื่องบินตก ไม่เกี่ยวกับวิกฤตตะวันออกกลาง

แต่ก็ยังมิอาจหลุดพ้นจากข้อครหาและความสงสัยของชาวโลก

ปี 2018 หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจาก “สัญญานิวเคลียร์อิหร่าน” โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำการกดดันชนิดตกขอบเฉพาะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางการทูตเท่านั้น

แต่การสังหารนายพลโซไลมานี เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า สหรัฐได้เปลี่ยนจาก “บุ๋น” เป็น “บู๊”

เป็นการอันชัดเจนยิ่ง

ถ้า 2 ประเทศยังเล่น “เกมสงคราม” ต่อไป วันหนึ่งพลาดท่าเสียที

สงครามจริงอาจมาเยือน

งานศพของนายพลโซไลมานี มีมวลมหาประชาชนเข้าร่วมพิธีไว้อาลัย อันเนื่องจากเป็นทหารที่ทำประโยชน์คุณูปการแก่อิหร่าน เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวอิหร่าน

หากรัฐบาลอิหร่านไม่ทำการตอบโต้ คาดว่าประชาชนอิหร่านคงให้อภัยมิได้

แต่รัฐบาลก็ได้ทำแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่า ได้เปิดช่องว่างไว้สำหรับการประนีประนอม

ดังนั้น การที่สหรัฐปฏิเสธว่าไม่มีทหารอเมริกันได้รับบาดเจ็บหรือตาย จึงรับฟังได้

สหรัฐได้อยู่ในภาวะสงครามตะวันออกกลางหลายปี หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งมีถ้อยแถลงชัดแจ้งว่า ประสงค์ถอนตัวออกจากตะวันออกกลาง หากเปิดศึกกับอิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ ก็มีโอกาสที่จะดึงเอาประเทศยูไนเต็ด อาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอลเข้าร่วมด้วย อันอาจเป็นเหตุให้สิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับน้ำมันถูกโจมตี ช่องแคบ Strait Hormuz ถูกปิดกั้น ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระตุ้นราคาน้ำมันให้สูงขึ้น เป็นการกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์อเมริกัน ครั้นสงครามเกิดขึ้น เครื่องส่งเอกสารของวอชิงตันก็เริ่มทำการโฆษณา อเมริกันชนล้วนหันกลับไปสนับสนุนการทำสงครามของรัฐบาล

ปี 2003 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวหาว่าอิรักมีอาวุธร้ายแรง สามารถทำลายโลก จึงทำการบุกรุกโจมตีอิรักอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ปีถัดไปก็ได้รับเลือกอีก 1 สมัย

นี่คือ “แบบฉบับ” ของพรรครีพับลิกัน

เวลา 9 ปีผ่านไป วันนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้ตรรกะเดียวกันกับ จอร์จ ดับเบิลยู บุชหรือไม่

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

กล่าวถึงสรรพกำลังของอิหร่าน หากเปรียบเทียบกับอิรักในสมัยนั้น ย่อมถือว่าเหนือกว่าหลายขุม หากสหรัฐจะเปิดศึกครั้งนี้
ย่อมต้องลงทุนอันสูงยิ่ง

หากพินิจถึงเหตุการณ์อันแท้จริง โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีเหตุผลที่จะเปิดศึกอย่างผลีผลามในยามนี้ เพราะจะต้องกระทบถึงหุ้นสหรัฐและเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของสหรัฐ โดยนำเอา “สงคราม” มาเป็นเดิมพันในปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี

สังเกตจากการที่อิหร่านทำการล้างแค้นโดยยิงขีปนาวุธโจมตี ก็ไม่ปรากฏว่าทรัมป์สะทกสะท้าน หรือพูดจาโต้ตอบแต่อย่างใด แต่กลับกล่าวว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

ทำให้เหตุการณ์เจือจาง

แม้ว่ามีอเมริกันชนเกินกว่าร้อยละ 50 ไม่พอใจพฤติกรรมของทรัมป์

แต่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตและผู้ใช้สิทธิอิสระ

ส่วนพรรครีพับลิกันสนับสนุนทรัมป์ชนิดถล่มทลาย

ตะวันออกกลางจะเกิดสงครามหรือสันติภาพ ประเด็นอยู่ที่ว่า

1 ถ้าสหรัฐเห็นว่าการตอบโต้ล้างแค้นของอิหร่านนั้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ และเพื่อเป็นการปลอบขวัญของอเมริกันชน
ก็สามารถคงไว้ซึ่งวิจารณญาณ ควบคุมมิให้การปะทะยกระดับ

1 ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ มีพฤติกรรมที่บุ่มบ่ามตามกมลสันดาน เพียงพริบตาเดียวก็อาจพังได้

อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปราศรัยกับอเมริกันชนเมื่อวันที่ 8 มกราคม เพียงกล่าวว่า จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่มิได้พูดถึงการเพิ่มกำลังรบ จึงดูประหนึ่งว่า ทรัมป์ไม่ประสงค์ให้การสู้รบยกระดับ สุดท้าย ทรัมป์กล่าวว่าหลังจากอิหร่านโจมตีทหารอเมริกัน ดูเหมือนว่าอิหร่านยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เพราะทรัมป์ใช้คำว่า

Standing down !

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image