‘ครู’กับความท้าทายในสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลง

สังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ความสำคัญและยกย่องให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ทั้งนี้ เนื่องจากวิชาชีพครูเป็นหนึ่งในต้นทางของการพัฒนาคนและพัฒนาชาติ

บทบาทหน้าที่ของครูหรือพันธกิจที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความเจริญงอกงามให้กับศิษย์ด้วยการเป็นต้นแบบหรือแม่พิมพ์ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และวิชาการต่างๆ โดยหวังให้ศิษย์เติบโตเป็นคนดีคนเก่งสามารถรับใช้สังคมและประเทศชาติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ถึงแม้โลกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งแต่ด้วยบทบาทและความมีวิญญาณแห่งความเป็นครูทุกท่านก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงยังทำหน้าที่ด้วยการเป็นผู้รังสรรค์สังคมและพัฒนาทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ด้วยความสำคัญของครูองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดจัดงานวันครูขึ้นทุกปีโดยยึดเอาวันที่ 16 มกราคม เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นคุณค่าของวิชาชีพครูและเมื่อถึงวันครูของทุกปีนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศจะมอบคำขวัญเพื่อให้ครูนำไปสู่การปฏิบัติ

สำหรับวันครูประจำปี 2563 นี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบคำขวัญความว่า “ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา” จากคำขวัญดังกล่าวจะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีต้องการให้ครูเป็นผู้ที่จิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริงตลอดจนการส่งเสริมให้ครูมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้วยมิติต่างๆ

Advertisement

จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มอบคำขวัญดังกล่าวจึงมีคำถามว่าคำขวัญเป็นเพียงวาทกรรมหรือเป็นหน้าที่ที่ผู้นำประเทศต้องปฏิบัติเมื่อถึงวันสำคัญ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่ครูทั้งประเทศจะได้นำคำขวัญไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงต่อประเด็นนี้จะเห็นได้ว่าจากการติดตามเกี่ยวกับการมอบคำขวัญของนายกรัฐมนตรีในทุกปีที่ผ่านมาวันนี้ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าครูได้ตระหนักและนำคำขวัญไปสู่การปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน

ที่สำคัญเมื่อถึงงานวันครูนายกรัฐมนตรีจะให้เกียรติเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานและคารวะครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาที่หอประชุมคุรุสภาภายในกระทรวงศึกษาธิการทุกปีและหนึ่งในกิจกรรมที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงออก เพื่อให้ครูและสังคมเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพอันทรงเกียรติดังกล่าว ได้แก่ การปาฐกถา

ซึ่งหากย้อนกลับไปในงานวันครูประจำปี 2562 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวความตอนหนึ่งว่า “สิ่งแรกที่อยากจะพูดวันนี้ก็คืออยากจะยกย่องเป็นปูชนียบุคคลที่สังคมควรให้การยกย่องและเชิดชูเป็นอย่างยิ่งนั่น คือ เกียรติอันยิ่งใหญ่ของท่าน เพราะวันครูทุกปีเป็นวันที่ท่านกลับจะมาทบทวนว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างในปีที่ผ่านมา จะได้ภาคภูมิใจในวันที่ 16 มกราคม เราทำความดีมาเท่านั้นเท่านี้ และอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ผมคิดว่าครูคงทำอะไรไม่ดีไม่มากนัก เพียงแต่ต้องคิดทบทวนดูว่าเราจะทำอะไรในปีหน้าให้ดีกว่าเดิม….”

Advertisement

อ ย่างไรก็ตาม ด้วยความสำคัญของวิชาชีพครูในส่วนของรัฐบาลจะพบว่าทุกยุคทุกสมัยรัฐบาลจะให้ความสำคัญด้วยการกำหนดเป็นนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีคุณค่าต่อการพัฒนาการศึกษาชาติและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติบนเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นครู

แต่วันนี้เมื่อโลกและสังคมเข้าสู่ปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงจำเป็นอยู่เองที่ครูจะต้องปรับตัวให้ทันต่อสภาวะการณ์ดังกล่าว และการที่ครูจะดำรงชีวิตหรือปฏิบัติหน้าที่บนความเคยชินกับสังคมในยุคที่ผ่านมาคงจะไม่ทันกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงครูจำเป็นที่จะต้องเป็นครูพันธุ์ใหม่ที่มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

การสร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับการบริหารจัดการตามบทบาทหน้าที่ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมถือได้ว่าครูเป็นผู้ที่พร้อมกับความท้าทายในสภาวการณ์การแข่งขันของโลกในมิติต่างๆ เหนือสิ่งอื่นใดนอกจากการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วอีกหนึ่งมิติที่ครูต้องก้าวให้ผ่านหลุมดำที่เกาะเกี่ยวกับวิชาชีพนี้มาอย่างต่อเนื่องคือการปลดเปลื้องหนี้สิน

อั นที่จริงเมื่อกล่าวถึงหนี้สินสำหรับผู้คนในสังคมไทยวันนี้พบว่ายังมีผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งข้าราชการและภาคเอกชนต่างมีหนี้สินด้วยกันทั้งสิ้น แต่เมื่อกล่าวถึงหนี้สินครูชี้ให้เห็นว่าสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพนี่จากอดีตถึงปัจจุบันยังมีข่าวถึงกระแสจำนวนหนี้สินที่มีจำนวนมากอย่างอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเป็นองค์กรที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพครูได้สำรวจพบว่าครูมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบจำนวนนับล้านล้านบาทด้วยตัวเลขที่สูงอย่างต่อเนื่องกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง

จากประเด็นของหนี้สินครูหากไปสืบค้นสาระและความเป็นมาพบว่า รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ได้แสดงทรรศนะต่อประเด็นนี้ไว้น่าสนใจตอนหนึ่งความว่า “หนี้สินครูเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สกสค.ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินของครูมีแต่ส่งเสริมให้เป็นหนี้” (มติชน 16 ธันวาคม 2558 หน้า 7)

พร้อมกันนั้น รศ.ดร.วรากรณ์ยังได้เขียนบทความเรื่อง “หนี้สินครูก้าวกระโดด” มีการนำเสนอในมติชนรายวันซึ่งในบทความดังกล่าวมีสาระที่น่าสนใจถ้าครูหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหนี้สินครูได้นำมาเป็นแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ไขก็ถือได้ว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ส าระสำคัญของบทความดังกล่าวสะท้อนออกมาความตอนหนึ่งว่า “ครูจำนวนหนึ่งมีความเชื่อผิดๆ ว่ากู้ไปเถอะอย่างไรเสียรัฐก็ต้องโดดลงมาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างแน่นอน เพราะมิฉะนั้นเด็กจะถูกกระทบในแนวคิดจับเด็กนักเรียนเป็นตัวช่วยประกันเช่นนี้มีอยู่จริงในครูบางกลุ่ม โดยเฉพาะเมื่ออ่านสัญญาณจากภาครัฐว่าจะมีการผัดผ่อนหนี้ครูมีการคิดจะตั้งกองทุนช่วยแก้ไขหนี้สินครู ฯลฯ ครูกลุ่มนี้จะกู้มากยิ่งขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ หนี้สินครูมีสาเหตุจากการกินอยู่เกินฐานะ เพราะต้องรักษาหน้าต้องการเป็นคนมีระดับมีตัวช่วยหาเงินให้กู้อยู่ตลอดเวลา มีแนวคิดจะจับนักเรียนเป็นตัวประกัน…” และในตอนท้ายของบทความนี้สรุปว่าคนที่น่าสงสารที่สุดในเรื่องนี้คือ เหล่าบรรดานักเรียนตัวประกันทั้งหลาย (มติชน 22 กันยายน 2554 หน้า 6)

การเปลี่ยนแปลงบนความท้าทายของครู ซึ่งจะส่งผลดีต่อวงการศึกษาชาติ โดยรวมนอกเหนือจากการเป็นผู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความทันสมัย มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนทักษะด้านภาษาต่างประเทศแล้ว

อีกหนึ่งในมิติที่ครูควรจะนำไปปฏิบัติคือ ความพอเพียง รักในเกียรติ และศักดิ์ศรีของวิชาชีพตลอดจนบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล หากทำได้เพียงนี้ครูก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่พร้อมกับความท้าทายภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image