คิดเห็นแชร์ : เกษตรกรไทยรับอานิสงส์ ราคาสินค้าเกษตรปีนี้ได้ไม่เต็มที่

สวัสดีครับ คอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” บทความแรกของปี 2563 ของผม จะขอเขียนย้อนความถึงประเด็นเรื่อง “ภัยแล้ง” ที่เคยเขียนเดือน ต.ค.2562 ว่า หลังจากพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ของไทยหลังหมดฤดูฝน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาภัยแล้งบางพื้นที่ในปี 2563 ซึ่งเป็นจริงตามคาด (เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด) อย่างไรก็ดี ผลจากภัยแล้ง, นโยบายภาครัฐ และรวมถึงการสงบศึกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลักๆ อาทิ ข้าว, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, และน้ำตาล เริ่มปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันปาล์มดิบ

สภาพภูมิอากาศของโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี เป็นความโชคร้ายที่พายุในช่วงฤดูฝนในแปซิฟิกตะวันตกส่วนใหญ่เคลื่อนตัวขึ้นทางทิศเหนือไม่เข้าประเทศไทย ส่วนใหญ่เคลื่อนตัวไปทางเหนือเข้าทางใต้ของจีน ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งทิศทางพายุไม่เหมือนปี 2560 และ 2561 ที่มีปริมาณพายุโซนร้อนและอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวเข้ามาในแผ่นดินมาก เป็นเหตุให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของไทยภาคเหนือ-กลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำกักเก็บในฤดูฝนที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่สำหรับเขื่อนหลักในภาคใต้กลับมีปริมาณน้ำกักเก็บในระดับที่สูง จึงคาดว่าภัยแล้งในปีนี้ จะเกิดที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก

ผลกระทบภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตรของไทย จากข้อมูลสถิติในปี 2557 และ 2558 เป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญที่รุนแรง (ภาวะแห้งแล้งรุนแรงมากสุดในช่วงฤดูแล้งต้นปี 2559) ส่งผลให้มูลค่าผลผลิตภาคการเกษตรลดลง 8.7% และ 8.6% หรือคิดเป็น 0.9% ของจีดีพีราคาปัจจุบัน ณ เวลานั้น หรือเฉลี่ยลดลง 0.3% ของจีดีพี ณ ราคาคงที่ และเมื่อปรากฏการณ์เอลนิโญกลับสู่ภาวะปกติในช่วงฤดูฝนปี 2559 มูลค่าผลผลิตภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 0.1% ของจีดีพีราคาปัจจุบัน ณ เวลานั้น แต่ลดลง 0.1% ของจีดีพี ณ ราคาคงที่

สำหรับประมาณการมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรปี 2563 นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินภาวะวิกฤตแล้งจะส่งผลให้มูลค่าผลผลิตลดลงเฉลี่ย 7% ของจีดีพีราคาปัจจุบัน และลดลงเฉลี่ย 0.2% ของ   จีดีพี ณ ราคาคงที่

Advertisement

โชคร้ายซ้ำที่ปี 2563 หากพิจารณาปริมาณน้ำของประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรในภูมิภาคอย่าง เวียดนาม กัมพูชา และลาว กลับมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้คาดว่าราคาสินค้าเกษตรหลักของประเทศในภูมิภาคอย่าง ข้าว จะปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก ล่าสุดราคาข้าวเปลือกในตลาดชิคาโก +13.8% ข้อมูลตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 (เริ่มพ้นฤดูฝน) ถึง 16 ม.ค.2563 ส่งผลให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวเป็นหลักในพื้นที่ภาคกลางและอีสาน อาจได้รับผลประโยชน์จากราคาข้าวในตลาดโลกที่ปรับขึ้นไม่เต็มที่ (ปริมาณผลผลิตข้าว คาดลดลงจากภัยแล้ง) ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรหลักอื่นในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, และอ้อย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้นอย่างเต็มที่ในปีนี้ คือ ปาล์มน้ำมันและยาพารา โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนน้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบสำหรับกลั่นเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นทันทีอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่ามีโอกาสที่ภาครัฐจะมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือราคายางพาราเพิ่มเติม นอกเหนือจากเรื่องของการประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น นโยบายไบโอดีเซล บี 10 ที่เข้ามาช่วยหนุนราคาปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ภาคใต้ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกหลักของปาล์มน้ำมันและยางพารา อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ไม่มีปัญหาภัยแล้ง

โดยสรุป ราคาสินค้าเกษตรหลักๆ ของไทยที่จะปรับตัวขึ้นในปีนี้ อาจทำให้เกษตรกรในประเทศไทยในภาพรวมได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ เนื่องจากแม้ราคาสินค้าเกษตรจะปรับขึ้นก็ตาม แต่ผลผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่อาจลดลงจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น

Advertisement

กลับเข้ามาที่การลงทุนในตลาดหุ้น ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผมคาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงแนะนำ ระมัดระวัง ผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มค้าปลีก และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในต่างจังหวัด ที่อาจจะชะลอตัวลงในช่วงฤดูร้อนปีนี้ อย่างไรก็ดี อาจจะต้องจับตาดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่กำลังจะตามมาหลัง สภาผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 แล้วว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้มากน้อยเพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image