ลุ้นร่าง พรบ.งบฯ อนค.ระทึกอีกรอบ การเมืองในฝุ่นควัน

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องกล่าวหา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพรรคอนาคตใหม่ว่าล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า ไม่ผิด

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ เพราะเห็นว่า ถ้อยความในข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่นั้นได้ผ่านการพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว

หากมีข้อความใดที่ไม่สมควรนายทะเบียนพรรคการเมืองก็น่าจะมีคำสั่งให้แก้ไข แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการบอกให้ยกเลิกหรือแก้ไขข้อความในข้อบังคับพรรค

ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุพฤติกรรมของนายธนาธร และแกนนำนั้นก็เป็นเพียงการกล่าวอ้าง

Advertisement

และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์หรือการกระทำตามความคิดเห็นที่มีการกล่าวอ้าง จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องท่ามกลางเสียงถอนหายใจของบรรดากองเชียร์พรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่มีความผิดจากคำร้องเรื่องล้มล้างการปกครองฯ แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ยังมีคดีค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 เรื่อง

Advertisement

นั่นคือกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธรจำนวนเงิน 191,200,000 บาท

คำร้องกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

กกต.จึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่

คดีจึงเป็นอีกคดีที่พรรคอนาคตใหม่ต้องระทึก

แม้ว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จะเปิดเผยข้อมูลในภายหลังว่ามีพรรคการเมืองที่กู้ยืมเงินอีกอย่างน้อย 18 พรรค

บางพรรคยืมเงินโดยยังหาหลักฐานมาไม่ได้

แต่กรณีดังกล่าว กกต.ได้อธิบายว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มองว่า กรณี 18 พรรคกับกรณีของพรรคอนาคตใหม่นั้นมีความแตกต่างกัน

ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะการพิจารณาตามมาตรา 72 ซึ่งมีบทลงโทษถึงยุบพรรค

เท่ากับว่าแม้พรรคอนาคตใหม่จะพ้นความผิดเรื่องล้มล้างการปกครองฯ แต่ก็ยังต้องรอฟังคำตัดสินในเรื่องการกู้ยืมเงินนายธนาธร

การเมืองจึงต้องสดับฟังผลการตัดสินต่อไป

เหตุที่การเมืองต้องสดับฟังผลการตัดสินเรื่องยุบพรรค เพราะหากผลการวินิจฉัยออกมาเป็นเชิงลบต่อพรรคอนาคตใหม่

การเมืองย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย

ทั้งเรื่องปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” ทั้งเรื่องขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งเรื่องการจัดทัพการบริหารราชการแผ่นดิน

และปัญหาที่สร้างความพะอืดพะอมให้เกิดขึ้นในแวดวงรัฐบาล

เฉกเช่นปัจจุบันที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ซ้ำเติมด้วยปัญหาการบริหารที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนมากขึ้น

ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ยิ่งเมื่อต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นจากความปั่นป่วนทางการเมืองแล้วส่งผลซ้ำเติมปัญหาต่าง ๆ อาทิ การเสียบบัตรแทน

ยิ่งสร้างความพะอืดพะอมให้เกิดขึ้นในวงการการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อาการที่สดับฟังหลังจากเกิดเหตุการณ์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยข้อมูล ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยเสียบบัตรแทนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

ตามมาด้วยคลิปภาพ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐกำลังเสียบบัตรแทน ส.ส.คนอื่นๆ กระจายไปทั่ว

พล.อ.ประยุทธ์ที่รับทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงกับเซ็ง

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามนายกฯ ถึงปัญหา ส.ส.ขุดคุ้ยกันเอง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าปัญหาวันนี้เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลขุดคุ้ยกันเอง พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับถอนหายใจ

พร้อมกล่าวว่า “ต้องไปถามคนฟ้อง อย่ามาถามผม ผมไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย สรุปก็คือว่า ไม่ควรไปกระทำ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามก็ไม่ควรจะกระทำ ถ้ารู้ว่ามันผิดกติกาของสภา เอาอย่างงี้ ผมก็ตอบแบบนี้ก็แล้วกัน”

ขณะเดียวกัน การเสียบบัตรแทนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเป็นหนึ่งในเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัยกรณีร่างกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่จะนำมาลงทุนรถไฟไฮสปีด

และเช่นเดียวกับกรณีพรรคกู้เงิน นายวิษณุออกมาระบุอีกครั้งหนึ่ง

กรณีของกฎหมายงบประมาณ 2 ล้านล้านบาทตอนนั้น กับกรณีของกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตอนนี้ ไม่เหมือนกัน

เช่นเดียวกับความเห็นของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มองว่า 2 เรื่องมีความแตกต่างกัน

แม้แต่คดีเสียบบัตรแทนระหว่างของเดิมที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับของใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ประธาน ป.ป.ช.มองว่า ไม่อาจเทียบกันได้

ผลจากการเสียบบัตรแทน ทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องเคลื่อนไหว เพราะมีข้อสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวอาจทำให้กระบวนการออกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเอาผิด

ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลก็ยื่นหนังสือถึงนายชวน ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเชิงปรึกษาหารือ

แต่ไม่ว่าจะมีเป้าประสงค์อะไรก็ตาม เท่ากับว่ากระบวนการบังคับใช้งบประมาณปี 2563 มีโอกาสล่าช้า

เลวร้ายที่สุดคือล่าช้าไปมาก

เลวร้ายน้อยที่สุดคือล่าช้าไปอีกเดือน

จากเดิมที่ล่าช้าอยู่แล้ว เพราะกระบวนการพิจารณาไม่ทันใช้เมื่อตุลาคม 2562 และคาดหมายว่าจะใช้งบประมาณได้ในเดือนกุมภาพันธ์

แต่หากล่าช้าไปอีกก็เท่ากับว่าระยะเวลาการใช้งบประมาณปี 2563 สั้นเข้าไปอีก

การใช้งบประมาณช้ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปัญหาย้อนกลับมาที่รัฐบาลอีกครั้ง

ย้อนกลับไปดูปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่เกิดมาจากการเมือง
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเมืองที่อยู่ภายในฟากฝั่งของรัฐบาลเอง

ทั้งนี้ เพราะแม้พรรคฝ่ายค้านจะพยายามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม หรือการใช้กลไกกรรมาธิการ

รวมถึงการผลักดันยื่นญัตติเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่ดูเหมือนทุกๆ จังหวะการก้าวเดินของฝ่ายค้านเริ่มมีอุปสรรค

เริ่มปรากฏงูเห่า ปรากฏข่าวการฮั้ว และเกิดความขัดแย้งทางความคิด

ทำให้พลังของพรรคฝ่ายค้านลดทอนลง

ขณะที่ความแรงที่พุ่งกระทบฝ่ายรัฐบาลกลับกลายเป็นฟากฝั่งของรัฐบาลเองที่มีความเคลื่อนไหว

การเมืองในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์คงสัมผัสได้เป็นอย่างดี

เป็นการเมืองที่อยู่ในฝุ่นควัน เหมือนคนไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับ
ฝุ่นพิษอยู่ในขณะนี้

ทิศทางการเดินของรัฐบาลยังไม่คมชัด คงต้องมีการจัดการกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image