‘ธรรมะ’ ยารักษาโรคคนเมือง เติมพลังความคิด ต่อยอดสู่องค์กร

“กรุงเทพมหานคร” มหานครที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ เมืองอันดับต้นๆ ที่มีการจราจรคับคั่งในระดับโลก ยังคงเป็นเมืองที่ใครหลายๆ คนเข้ามาตามหาความฝัน กระนั้นก็มีคนไม่น้อยที่บาดเจ็บกลับบ้านเกิดเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งกับชีวิตที่พอเพียงและเรียบง่าย

ความเครียดที่มาจากความกดดัน ความคาดหวัง และวีถีคนเมืองทำให้มนุษย์ในเมืองฟ้าอมรแห่งนี้มีอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ

กล่าวกันว่า การทำสมาธิคือหนึ่งในวิธีการบำบัดโรคที่ดีของคนพอศอนี้ ไม่แปลกที่มีคอร์สอบรมการทำสมาธิอย่างง่ายให้มือใหม่ได้ลองปฏิบัติกันมากมาย

รวมทั้งที่นี่ “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” หรือที่คนสวนใหญ่รู้จักในชื่อ “สวนโมกข์กรุงเทพ” ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าสวนวชิรเบญทัศหรือสวนรถไฟ

Advertisement

นอกจากเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนอารมณ์ หรือจะแวะมาเลือกหาหนังสือธรรมะดีๆ สักหลายๆ เล่ม ที่นี่ยังมีกิจกรรมมากมาย เช่น มานั่งสมาธิที่ “ห้องนิพพานชิมลอง” หรือสุดสัปดาห์ยังมีกิจกรรมให้เข้าร่วมเพื่อแบบชิลชิล เช่น โยคะในสวนธรรม ฯลฯ

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมกับสวนโมกข์กรุงเทพ เชิญชวนพนักงานในกลุ่มบริษัทเข้ามาร่วมทำกิจกรรมดีๆ ที่มีชื่อว่า “บรรยงพามา บัญชาพาไปชิมนิพพาน” เป็นการจัดเฉพาะกลุ่มองค์กรเข้ามาชิมลองธรรมะในแบบร่วมสมัย ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน ตั้งแต่เดินชมพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะ การภาวนากับชีวิต รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับครูดล ธนวัชร์ เกตน์วิมุต ประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา หนึ่งในวิทยากร และศราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม” เพื่อจุดประกายรูปแบบกิจกรรมนี้ให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นนำไปใช้พัฒนาบุคลากรในองค์กร บนหลักธรรมพื้นฐานความสำเร็จที่อยากบอกต่อ

ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เล่าถึงที่มากิจกรรมนี้ว่า เนื่องจากเราสนับสนุนทางสวนโมกข์กรุงเทพมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และการดำเนินงานเรื่อยมา ทางสวนโมกข์กรุงเทพก็ได้ชวนจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีเจตนา 2-3 เรื่อง 1.ช่วยเผยแพร่กิจกรรมของสวนโมกข์กรุงเทพ 2.ทางสวนโมกข์เองก็อยากตอบแทนที่สนับสนุนมาตลอด และ 3.ทำให้เป็นตัวอย่างว่ากิจกรรมอย่างนี้น่าจะเป็นที่สนใจขององค์กร สถาบัน หน่วยงานอื่นๆ ซึ่งสำหรับกิจกรรมในวันนี้เราเปิดรับสมัครบุคลากรของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดยรับจำนวนจำกัดเพียง 60 คน

Advertisement

“คนชอบมองธรรมะเป็นเครื่องปลดเปลื้องทุกข์ ซึ่งก็ถูก แต่ผมอยากให้มองว่าธรรมะเป็นเครื่องมือสนับสนุนความสำเร็จ การที่คุณเข้าใจธรรมะก็จะสามารถนำหลักธรรมชาติซึ่งเป็นหลักสัจธรรมเป็นพื้นฐานขององค์กรที่จะออกแบบธุรกิจ ออกแบบอะไรต่างๆ ตัวผมเองโดยประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ใช้หลักอย่างนี้ตลอดมา

“เราสามารถใช้หลักธรรมะหลายๆ ข้อมาเป็นเครื่องนำทางได้ เช่น อิทธิบาทสี่ พลธรรม ธรรมะเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นพื้นฐานที่จะทำให้การประกอบกิจการสามารถลุล่วง มีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จในที่สุด หรืออย่างพรหมวิหารสี่ ซึ่งหลายๆ คนเข้าใจว่าเป็นธรรมะเพื่อการขจัดทุกข์ ที่แท้เป็นธรรมะที่เพื่อการสร้างสุข สุขจากการให้ สุขจากจิตที่บริสุทธิ์หวังดีต่อผู้อื่น ผมพยายามส่งเสริมทุกคนเข้าหาธรรมะ ไม่ใช่เพื่อปลดทุกข์อย่างเดียว แต่เพื่อแสวงหาเครื่องมือซึ่งเป็นสัจธรรมที่จะพาให้ตัวเองประสบผลสำเร็จ นี่เป็นมุมที่อยากนำเสนอ”

บรรยงบอกและว่า การจัดกิจกรรมเช่นนี้เป็นครั้งแรก แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน และอาจมีการขยายผลเชิญลูกค้าที่มีความสนใจในด้านเดียวกันมาร่วมกิจกรรมครั้งต่อไป

นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการ และคณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในฐานะเจ้าบ้าน บอกว่า “ธรรมะเป็นของสาธารณะที่มีคุณค่ามาก เหมาะกับทุกคนไม่ใช่แค่คนที่มีปัญหา เหมาะสำหรับคนที่อยากเติมพลังเติมความคิด หรือเติมหลักปฏิบัติ”

กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมชุดใหม่ ที่เรียกว่า “บรรยงพามา บัญชาพาไปชิมนิพาน” คือการเชิญมาเป็นองค์กร มาเป็นกลุ่มเพื่อมาเรียนรู้แบบกระชับครึ่งวัน ตั้งแต่เรื่องของหลักคิดทางพระพุทธศาสนา และก็มาทดลองปฏิบัติ แล้วมาสะท้อนแลกเปลี่ยนกันแบบที่เรามีครูดล (ธนวัชร์ เกตน์วิมุต) และคุณนิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์)

ฉะนั้นการจัดกิจกรรมนี้ไม่ใช่แต่เพื่อจะตอบแทนกับองค์กรที่สนับสนุนสวนโมกข์กรุงเทพอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาเพื่อประโยชน์กับผู้อื่นด้วย

บรรยง พงษ์พานิช วิทยากรกิตติมศักดิ์ หัวข้อ โลก (ย์) กับ พุทธศาสนา
บรรยง พงษ์พานิช วิทยากรกิตติมศักดิ์ หัวข้อ โลก (ย์) กับ พุทธศาสนา


ทางด้านครูดล ธนวัชร์ เกตน์วิมุต วิทยากรในกิจกรรมบรรยงพามาบัญชาพาไป อธิบายถึงการฝึกจิตทำสมาธิว่า การทำสมาธิไม่ใช่แต่การจับคนมานั่งขัดสมาธิแล้วหลับตา สามารถนั่งทำบนเก้าอี้ก็ได้ การทำสมาธิมีหลายรูปแบบคนป่วยหรือคนพิการก็ทำสมาธิได้เช่นกันคือการนอนทำสมาธิ

หลักการทำสมาธิคือการหาที่ให้จิตวาง ตั้งมั่นที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้จิตมีพลัง พอจิตมีกำลังซึ่งเวลาของจิตแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนรวมจิตได้เร็วบางคนอาจใช้เวลามากกว่า ที่รวมของจิตมีหลายพื้นที่ทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย เช่นภายในร่างกายก็เป็น ลมหายใจ ภายนอกร่างกายก็อาจเป็นนั่งมองดูพระพุทธรูป

ประโยชน์ของการทำสมาธิฝึกจิตคือจะทำให้มีความสุข มีความปีติ เบิกบานใจเป็นความสุขที่เป็นสุขแท้ สุขที่เกิดจากความสงบ แล้วผู้ฝึกค่อยๆ ซึมซับมิติของความสุขแท้ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุ หรือใช้เงินใช้ทองซื้อหามา บางคนอาจมองว่าน่าเบื่อเพราะไม่เคยสัมผัสรสชาติของความสุขในการฝึกสมาธิ วีธีการง่ายๆ คือเปิดโอกาสตัวเอง ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลา ตั้งเป้าก่อน 3 นาที 5 นาที 15 นาที หรือเราสามารถฝึก สมาธิกับการเคลื่อนไหวก็ได้ อย่างเช่นวัยรุ่น วัยทำงานเราอาจนำเรื่องของของการฝึกสมาธิจิต เข้าไปใช้กับการออกกำลังกาย ที่เป็นการทำซ้ำ เป็นจังหวะต่อเนื่อง ก็จะทำให้เราเหมือนกับมีเครื่องมือการฝึกสมาธิมากยิ่งขึ้น

ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายภาพร่วมกัน
ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายภาพร่วมกัน

กิจกรรมรูปแบบนี้ยังคงเป็นที่ต้องการของใครอีกหลายคน ซ้ำยังเหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัยที่ต้องการความสงบของจิตและใจเพราะสังคมในปัจจุบันมีความสับสน วุ่นวายอยู่มาก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเข้าไปได้ที่ โทร 0-2936-2800 หรือจะแวะเข้าชิมลองก็ไม่ว่ากัน

ที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่พักผ่อนเติมกำลังและปัญญา มาพักผ่อนแบบมีสาระอิงพระพุทธศาสนา และยังมีกิจกรรมดีๆ หลายอย่าง

อย่างที่ นพ.บัญชาบอกว่าธรรมะเหมาะกับทุกคนไม่ใช่แค่คนที่มีปัญหา แต่เหมาะสำหรับคนที่อยากเติมพลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image