‘มรภ.วไลยอลงกรณ์’ ดัน Active Learning หัวใจสำคัญการเรียนรู้

ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการจัดแสดงผลงาน ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระหว่าง มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ตามโครงการวิจัย “การพัฒนาโรงเรียนสาธิตให้เป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติการและการวิจัยเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น” ใช้ “ห้องเรียน GPAS 5 Steps Active Learning” ขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมี นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เป็นประธาน โดยผศ.ดร.สุพจน์  กล่าวว่า  ปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวค่อนข้างมาก มหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯจึงพยายามพัฒนาครูให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนที่จะสร้างทักษะให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนมากกว่าที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก การเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการปฏิบัติจริงจึงเป็นวิธีการที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ เพราะผู้เรียนต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์และลงมือปฏิบัติ เพื่อค้นหาคำตอบหรือองค์ความรู้เพื่อการแก้โจทย์ร่วมกัน Active Learning จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า

“ชาวราชภัฏ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเห็นคำตอบชัดเจนว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนได้อย่างมีความสุข สามารถนำทักษะความรู้ไปแก้ปัญหาได้จริง รวมทั้งสามารถเตรียมตัวเพื่อออกไปแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ในโลกได้ด้วย”ผศ.ดร.สุพจน์ กล่าว

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารพว. กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้พัฒนาเพียงโรงเรียนสาธิต มรภ.วไลยอลงกรณ์ ฯ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ได้ขยายผลไปพัฒนาโรงเรียนในเครือข่ายในจังหวัดสระแก้ว จำนวน 48 โรง จังหวัดปทุมธานี 20 โรง ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนการการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ถึงร้อยละ 80 ของโรงเรียนเครือข่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image