โพล ม.หาดใหญ่”เผย” งบประมาณไม่แนนอน ไวรัสโคโรน่า “ฉุด” ดัชนีความเชื่อมั่น 14 จังหวัดใต้”ลด”

วันที่ 1 ก.พ. ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ 420 ตัวอย่าง ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค. 62 ด้านภาวะเศรษฐกิจ และการออมเงิน

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าปัจจัยลบส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาลง จากกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ลดบทบาทของแรงงานคน เกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ร้านค้าแผงลอย

“องค์กรธุรกิจจำนวนหนึ่งได้เลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ส่งผลต่อการออมเงินลดลง และเกิดภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น แรงงานส่วนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้างหันมาเปิดกิจการเล็ก ๆเช่น ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ร้านขายของอุปโภคบริโภค และร้านให้บริการและการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าคนจำนวนมากมีความคิดที่จะเปิดกิจการของตนเอง ประเภทสินค้าและการให้บริการก็มีความคล้ายคลึงกัน ทำให้การแข่งขันของกิจการมีค่อนข้างสูง ผู้บริโภคที่เป็นเกษตรกรมีรายได้ลดลง กำลังซื้อลดลง มนุษย์เงินเดือนถึงแม้จะมีรายได้คงที่และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในแต่ละปี ควบคุมการค่าใช้จ่าย เลือกใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

Advertisement

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลลดลง มาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลต่อปัญหา (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่ยังไม่มีความแน่นอน

“รัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมาตรการการช่วยเหลือต่าง ๆ ยังไม่เข้าถึงกลุ่มประชาชนอย่างทั่วถึง เสนอแนะให้ภาครัฐใช้มาตรการการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเชิงรุก กำหนดเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้เกิดผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และยั่งยืน”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงเช่น รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและประเทศไทย สร้างความหวาดระแวงให้กับประชาชนที่ไม่ต้องการเสี่ยงไปแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน

Advertisement

“ รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว และความสุขในการดำเนินชีวิต เนื่องจากในเดือน ม.ค.ปีใหม่ และวันตรุษจีน ประชาชนส่วนหนึ่งได้รับโบนัส และเงินแต๊ะเอียจากนายจ้าง นิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพบปะกับญาติพี่น้อง และทำบุญในช่วงวันปีใหม่ และวันตรุษจีน และมีการใช้จ่ายซื้อของบริโภคเพื่อมาเลี้ยงฉลองในช่วงปีใหม่ ซื้อของไหว้เจ้าในช่วงวันตรุษจีน”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.10 ความสุขในการดำเนินชีวิตร้อยละ 36.40 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจร้อยละ32.90 และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ38.60

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด คือค่าครองชีพ ร้อยละ 27.30 ราคาสินค้าสูงร้อยละ 23.70 และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำร้อยละ 19.10

“ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง”ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image