ข้อเสนอ-ความหวัง หลังรับฟังข่าวดี ถก ‘สันติใต้’ รอบใหม่

นับว่าเป็นครั้งแรกข่าวดีตั้งแต่ต้นปีของจังหวัดชายแดนใต้ ที่รัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่างก้าวขยับขึ้นมาพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่ม BRN โดยมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เพราะกลุ่มผู้เห็นต่างไม่ว่าจะเป็นขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN ถือว่าเป็นแกนหลักที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด

รัฐบาลไทยเริ่มต้นกำหนดเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยเป็นทางการตั้งแต่ปี 2554 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ยังไม่ก้าวหน้าไปมากเท่าที่ควร

รศ.สามารถ ทองเฝือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง และเมื่อขยับเมื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรเอาลงมาอีก ต้องเดินหน้าผลักดันไปสู่ข้อตกลง เรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยผ่านองคาพยพตามกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้อยู่ที่การพูดคุยกันตามสมาชิกของกระบวนการนั้นๆ สำหรับคนในพื้นที่แล้ว ย่อมต้องการให้การพูดคุยสันติสุขครั้งนี้

เป็นวาระแห่งชาติต่อไป จากที่พูดคุยครั้งที่ผ่านมาถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดีขึ้น ภายหลังจากการพูดคุยครั้งที่แล้วที่ต้องหยุดชะงักไป ครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นการเริ่มใหม่ที่ดีทั้ง 2 ฝ่าย

Advertisement

ส่วนต่างชาติหรือคนนอกไม่ควรมาแทรกแซงกับเรื่องนี้ เพราะรัฐบอกตลอดว่าเป็นเรื่องภายใน เมื่อรัฐดำเนินการได้แล้ว ควรมีความต่อเนื่องรวมทั้งด้านการข้อมูลข่าวสารต้องเปิดเผยตามข้อมูลที่เปิดเผยได้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้เข้าใจ เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองที่ต่างชาติเฝ้ามองอยู่ด้วย ข่าวสารต้องให้เข้าใจตรงกันทุกระดับ ตั้งแต่ประชาชนในพื้นที่จนถึงระดับภายนอกหรือระดับประเทศชาติ และต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย ด้านปฏิกิริยาของคนในพื้นที่ จะเบื่อไม่เบื่อนั้น อยู่ที่แต่ละคนจะคิด แต่อยากขอให้ทุกคนอดทน และรอดูการแก้ไขปัญหาประเด็นนี้กันต่อไป

จากการพูดคุยครั้งล่าสุดถือว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ได้ 1 ต่อ 1 ทั้งคู่ และเราต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าจะมีอะไรเดินหน้า และคืบหน้ากัน ขอให้อย่ามีอะไรที่สะดุดอีก

นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาภาคประชาสังคมคนใหม่ กล่าวว่า มีการเปิดให้คุยกับบีอาร์เอ็นก่อน แต่ไม่ต้องการให้มีเฉพาะกลุ่มเดียวเท่านั้น ควรมีตัวแทนกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มมารา และต้องยังไม่ทิ้งกลุ่มอื่นๆ ด้วย ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในพื้นที่ รัฐต้องคำนึงและให้ความสำคัญต้องเรียกพูดคุยด้วย และทำให้ไม่กระทบต่อกระบวนการสันติภาพ

Advertisement

ที่น่าสนใจคือการขอเพิ่มคนนอกที่เป็นคนกลางเข้ามีส่วนร่วม กระบวนการพูดคุยสันติสุขนั้น ทั้ง 3 ฝ่ายคือ รัฐ, กลุ่มขบวนการและทางการมาเลเซีย ควรคำนึงถึงว่าถึงเวลาที่จะให้มีผู้สังเกตการณ์อื่นเข้ามาด้วยไหม ข้อเรียกร้องหนึ่งของบีอาร์เอ็นต่อข้อเรียกร้องนี้ ให้เข้ามา รัฐไทยก็มีท่าทีไม่คัดค้านแต่อย่างใด แสดงว่ารัฐไทยมีความยืดหยุ่น อันนี้ส่งสัญญาณว่า มีทิศทางดีขึ้น รวมทั้งสำหรับเสียงสะท้อนในพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่า การพูดคุยครั้งนี้เรื่อง ตัวจริง ตัวปลอม ไม่มี ไม่เกิดข้อสงสัย แสดงว่ามีความเชื่อถือมากขึ้น

อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ใช้คำว่านักล่าอาณานิคมสยาม เหมือนปีที่ผ่านมา และในการใช้คำว่ารัฐไทยแทน แสดงว่าเขามีท่าทีอ่อนลงและคาดหวังกับกระบวนการพูดคุย แสดงถึงว่าพวกเขาเตรียมตัวมาดี กับการพูดคุยครั้งนี้

ด้านมิติการพัฒนานั้น อยากเสนอให้รัฐควรสนับสนุนกลุ่มองค์กรต่างๆ ระดับพื้นที่ด้วย สร้างความเข้าใจในพื้นที่ด้วย ให้เข้าถึงการพัฒนาการของชุมชน กลุ่มย่อยๆ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาให้ถึงฐานรากของชุมชน สำหรับนโยบายพัฒนาตามโครงการขนาดใหญ่ๆ นั้นอาจจะเข้าไม่ถึงชุมชน เข้าถึงได้ยาก อยากให้ฟังเสียงของชุมชนของประชาชนด้วยว่าเขาต้องการอะไร และเอาเสียงเหล่านั้นไปสู่ทิศทางการพัฒนา รวมทั้งสร้างความเข้าใจตามโครงสร้างนโยบายการพัฒนาของรัฐด้วย

ขณะที่การพูดคุยกำลังดำเนินอยู่นั้น ประชาชน ภาคประชาสังคมต่างๆ ต้องสร้างสภาวะบรรยากาศที่เอื้อต่อสันติสุข คนที่เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน เช่น คณะประสานงานในพื้นที่ ต้องเข้าใจกระบวนการสันติภาพด้วย นอกจากนี้ภาครัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ทอดทิ้ง ช่วยให้มีความปลอดภัยได้จริง อยู่อย่างสงบสุข และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัจจุบันเชื่อว่ากลุ่มมารากับบีอาร์เอ็น อาจดำเนินการต่อสายพูดคุยกันแล้ว ในส่วนของเขา น่าจะมีกลุ่มอื่นที่เพิ่มเข้ามาอีก คาดว่าทิศทางการพูดคุยครั้งหน้าดีขึ้น

นายอับดุล อาซิส เจ้ะมามะ รอง ปธ.คณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การพูดคุยที่ผ่านมาในฐานะที่ผมเป็นคนในนามผู้นำศาสนา ทุกคนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อการพูดคุยและทุกคนต้องการสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และอยากเห็นการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ครั้งนี้ถือว่ามีความเข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และทุกคนของในคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐบาลก็เป็นคนที่ทุกคนยอมรับ

ด้านความเชื่อมั่นนั้น ครั้งนี้ทุกคนต้องการ และเฝ้าชะเง้อรอคอยกันอยู่นานแล้ว ไม่อยากต้องทนทุกข์มายาวนานแล้ว ครั้งนี้ยอมรับว่ามีการพัฒนาการที่ดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และชาวผู้นำศาสนาเองก็ช่วยกันละหมาดขอพรกันทุกครั้ง เมื่อจะมีการพูดคุยเจรจาเกิดขึ้น พวกเราคุยกันตลอด อยากเสนอไปต่อทางรัฐบาลว่า อยากให้รัฐบาลมอบอำนาจที่แท้จริงกับคณะพูดคุยด้วย มีอำนาจตัดสินใจและมีความอิสระ ไม่ต้องรอต่อสายกับรัฐบาลส่วนกลางเสมอไป ต้องให้ความไว้วางใจกันและขอเสนอทางกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นว่า ต้องเปิดอก เปิดใจ ให้ยอมรับเพราะว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาเกิดการสูญเสียมามากพอแล้ว มีผู้บาดเจ็บล้มตาย แม่ม่าย เด็กกำพร้า เกิดขึ้นมากมายเป็นหมื่นคนแล้ว อันไหนที่นอมได้ก็ขอให้ยอมรับกัน

ส่วนทางการมาเลเซียที่เป็นคนกลางผู้อำนวยความสะดวก ก็ต้องช่วยเหลือให้การพูดคุยสันติสุขเดินหน้าทั้ง 2 ฝ่ายไปด้วยกัน และให้คนที่ออกมาเข้าสู่กระบวนการนี้ เป็นการสร้างสันติสุสขร่วมกันอย่างแท้จริง

อีกปัจจัยคือปัจจุบันข้ามเข้าสู่ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทำให้ทุกคนเข้าถึงข่าวสารสามารถเข้าใจถึงแก่นแท้เรื่องราวปัญหาลึกมากขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้ชาวบ้านกล้าที่จะบอกตรงๆ ว่ารู้สึกอย่างไรกับการพูดคุย ที่สำคัญเห็นชัดได้คือ มองเหมือนว่าการพูดคุยเองก็มาถูกเป้าหมายมากขึ้นเช่นกัน หลังจากก่อนนี้ลองผิดลองถูก พูดคุยแทบจะทุกกลุ่ม เพียงเพื่อพิสูจน์การกล่าวอ้างว่า สามารถควบคุมปัญหาภาคใต้แท้จริง

แม้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นยังต้องรอความชัดเจนกันอีกนานที่จะเดินไปถึงข้อตกลงร่วมกันและบรรลุวัตถุประสงค์ของทุกฝ่าย ขอให้ประชาชนชายแดนภาคใต้อดทนอดกลั้น เปลี่ยนความไม่ไว้วางใจไปสู่การติดตาม ตรวจสอบ เพื่อสร้างความโปร่งใสร่วมกัน เพราะอนาคตของเรามิควรมอบหมาย หรือถูกกําหนดโดยวิธีการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

ประชาชนที่เป็นเจ้าของชะตากรรมที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image