พศ.แจงขั้นตอนตั้ง”สังฆราช” รับมส.เสนอชื่อ”สมเด็จช่วง”

เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มหาเถรสมาคม (มส.) ได้ประชุมนัดพิเศษที่หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เรื่อง เสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ว่าในที่ประชุม มส.ได้หารือแนวทางและหลักการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีสมณศักดิ์และอาวุโสสูงสุดขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) ระบุไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ มส. เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งตามกฎหมายคือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

“แม้ มส.จะเป็นต้นเรื่อง แต่ต้องดูท่าทีของรัฐบาลก่อน ดังนั้นผู้แทน มส.และผู้แทนรัฐบาลต้องหารือกันเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าจะต้องเสนอนามอย่างไร ช่วงเวลาไหนที่เหมาะสม และคาดว่าเร็วๆ นี้ผู้แทน มส.และผู้แทนรัฐบาลจะเข้าหารือกันถึงการกำหนดวันและเวลาดังกล่าว” นายชยพลกล่าว

นายชยพลกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ชะลอการดำเนินการพิจารณาเสนอนามแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น อยากชี้แจงว่าเรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นเรื่องของประมุขสงฆ์ไทย โดยกฎหมายแล้ว มส.เป็นผู้คัดเลือกตามหลักของกฎหมาย และเมื่อ มส.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์พิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะมาปกครองคณะสงฆ์แล้ว หากพุทธศาสนิกชนไม่เชื่อ มส.แล้วจะเชื่อใคร

“การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จึงอยากให้ผู้ที่ออกมาคัดค้านหรือผู้ที่เสนอข้อมูลให้เกิดความเสียหาย ให้ความเคารพองค์กรสูงสุดของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติด้วย” นายชยพลกล่าว และว่า การเสนอนามแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชรูปใหม่ ตามธรรมเนียมไม่เคยกำหนดระยะเวลา กำหนดเพียงแค่รอให้พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 เสร็จสิ้น ซึ่งในอดีตภายหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯเสร็จสิ้นลง จากนั้น 1 เดือนต่อมาได้มีการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าคณะสงฆ์จะทำอะไรจะยึดหลักอยู่ 3 หลัก คือ พระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง และธรรมเนียมปฏิบัติ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image