อ.รัฐศาสตร์ มช. แนะ อย่าเลือกปฏิบัติ ปมบังคับทหารเกษียณย้ายออก ชี้ถ้าธรรมาภิบาลไม่ชัด ภาพกองทัพยิ่งติดลบ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

สืบเนื่องกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก แถลงข่าวกรณีทหารกราดยิงประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมา โดยระบุว่าจะสังคายนากองทัพนั้น

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มีความเห็นว่า ในการแถลงของบิ๊กแดง อาจจะยังไม่ได้เห็นภาพในการปฏิรูปโครงสร้างกองทัพทั้งหมดอย่างชัดเจน สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาคาราคาซัง คือการทำธุรกิจซึ่งบางอย่างเป็นสีเทา สิ่งที่บิ๊กแดงกล่าวมา เป็นการแก้ปัญหาส่วนหนึ่งของกองทัพ แต่ยังไม่ได้เห็นสัญญาณมากนักในการปฏิรูปโครงสร้างใหญ่ แต่ที่ค่อนข้างตรงประเด็นและเป็นไปในทางบวก คือ การที่จะแก้ปัญหาธุรกิจสีเทา และผลประโยชน์บางอย่างซึ่งทำให้เกิดคำถามเรื่องธรรมาภิบาลอย่างไรก็ตาม ต้องมองระยะยาวว่าในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือไม่เพราะผลประโยชน์ยึดโยงกันหลายส่วน ต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ และมีความชัดเจนมากกว่านี้

ปกติการดูแลกำลังพลในกองทัพจะมีการดูแลสุขภาพจิตเป็นพิเศษเฉพาะทหารที่อยู่ในสถานการณ์การรบ และกลับจากการรบซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติโดยทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาหนึ่งที่พบ และคิดว่ากองทัพน่าจะพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ปัจจุบันปัญหาโรคซึมเศร้า ปัญหาความเครียดของคนในกองทัพ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมเป็นพิเศษ เรื่องส่วนตัวของคนในกองทัพจะกลายเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะคนเหล่านี้มีการติดอาวุธ เพราฉะนั้น ต่อไปกองทัพอาจต้องมีการดูแลสุขภาพจิตของคนในกองทัพในเรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกำลังคนใหม่ๆ ที่ติดโซเชียล หากทำได้จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

“ทุกวันนี้ หน่วยงานราชการไทยหลายส่วนที่ไม่ใช่กองทัพ อยากมีกองกำลังติดอาวุธอยู่ในสังกัดตัวเอง สิ่งนี้ก็ต้องระวังด้วย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ไม่ควรยึดติดว่ามีกองกำลังติดอาวุธให้มีพลัง มีเพาเวอร์ มีหน่วยงานพลเรือนที่อยากมีกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าอาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

Advertisement

กรณีคลังอาวุธ ต้องแยกว่าหน่วยนั้นเป็นหน่วยรบ หรือหน่วยสนับสนุนการรบ ซึ่งระบบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยมีความแตกต่างกัน ไม่ควรให้อาวุธไปอยู่ในกองรักษาการณ์ ซึ่งควรมีเฉพาะอาวุธเบาเท่านั้น แต่มาตรฐานการรักษาคลังอาวุธอย่างน้อยต้องเพิ่มมาตรการ ยกระดับให้เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องเดียวกัน

ปัญหาที่กองทัพเคยประสบมาและน่าจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขพร้อมๆ กัน คือ การตรวจสอบอาวุธในคลังอาวุธซึ่งมีการรั่วไหล คิดว่าทุกกองทัพภาคมีปัญหานี้เหมือนกัน การตรวจสอบของผู้บังคับบัญชาระดับกองพัน กองร้อยที่อาจมีอยู่แล้ว ต้องมีความรัดกุมมากขึ้น”

Advertisement

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ  กล่าวว่า การที่บิ๊กแดงร้องไห้ แล้วถูกแปลงคำพูดโดยคนในโลกออนไลน์ให้กลายเป็นมุขตลก ส่วนหนึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจุบันกองทัพกลายเป็นเป้าทางด้านการเมือง โดยเฉพาะบทบาททางการเมือง และโดยบุคลิกของตัวท่านเอง พูดง่ายๆ ต้องทำใจที่จะตกเป็นเป้าสายตา แต่ภาพรวมทั้งหมด เวลาเกิดภาวะโศกนาฏกรรมในสังคมไทย นอกจากวิพากษ์วิจารณ์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาแล้ว เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันต้องมีการติเพื่อก่อ

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า หน่วยงานราชการชอบที่มีกองกำลังติดอาวุธในมือ แต่มาตรการในการป้องกันไม่ให้รั่วไหลจะทำอย่างไร เพราะขนาดกองทัพยังหลุดได้ แล้วพลเรือนหน่วยอื่นๆ มีมาตรการตรงนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม และการค้าอาวุธสงครามด้วย

การที่บิ๊กแดงประกาศให้ทหารที่เกษียณแล้ว ย้ายออกจากบ้านพัก ประเด็นนี้ หากจะมีการบังคับใช้ ก็ต้องเท่าเทียมกันทั้งหมด จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ จริงๆ แล้วสิ่งที่บิ๊กแดงประกาศ รวบยอดอยู่ในคำเดียว คือ การสร้างธรรมาภิบาลในกองทัพ ถ้าจะให้ย้ายออก ก็ต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ระดับสิบโท จ่า โดนไล่ให้ย้ายออก ถามว่า ระดับบนๆ มีการให้ย้ายออกด้วยหรือไม่ หากไม่เท่าเทียม สังคมก็ย่อมตั้งคำถาม ถ้าธรรมาภิบาลของกองทัพยังไม่ชัดเจน จากที่กองทัพเป็นเป้าสายตาอยู่แล้ว ต่อไปก็จะยิ่งกลายเป็นภาพลบขึ้นไปอีก ถ้าพูดออกมาแล้วก็ต้องทำตามสิ่งที่ประกาศ สังคมไทยอยากเห็นธรรมาภิบาลในกองทัพ

สำหรับในต่างประเทศ ล่าสุด เมื่อปลายปี 2562 ฐานทัพสหรัฐ มีทหารออกมากราดยิงเช่นกัน แต่ลักษณะเด่นของกองทัพสหรัฐ ก็เป็นกรณีศึกษาให้เราได้ คือการดูแลสุขภาพจิตของคนในกองทัพทั้งที่อยู่ในภาวะปกติ และภาวะสงคราม โรคซึมเศร้า และภาวะเครียดนั้น สำหรับคนทั่วไปอาจก่อปัญหาการฆ่าตัวตาย แต่ถ้าเป็นคนในกองทัพ เรื่องส่วนตัวจะส่งผลกระทบต่อสาธารณะ

“เท่าที่ทราบการดูแลสุขภาพจิตของกำลังพลในแต่ละประเทศนั้น แม้มีการฝึกหนัก แต่จะมีช่วงบำบัดภาวะความเครียดจากการฝึกด้วย อย่างไรก็ตาม บ้านเรามีปัญหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการฝึก หรือภาวะสงคราม แต่มีประเด็นเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทหารชั้นประทวนซึ่งได้รับค่าตอบแทนน้อย ภาวะความเครียดของคนกลุ่มนี้จึงไม่ได้มาจากการฝึก แต่เป็นเรื่องรายได้ สำหรับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารพราน และกองกำลังในพื้นที่ กองทัพควรใช้โอกาสนี้ในการดูแลสุขภาพจิตโดยตรวจสอบซ้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนากำลังพลและทำให้การปฏิบัติหน้าที่ได้ผลมากขึ้น” ผศ.ดร. ฐิติวุฒิกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image