‘พาราโบลาโดม’ นวัตกรรมล่าสุดกอบกู้ราคายาง

แผ่นยางที่แห้งสนิทแล้วจะใส สีสวย ไม่คล้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐบาลออกทีวีชี้แจงทางโทรทัศน์ เมื่อต้องเผชิญกับม็อบปัญหาราคายางตกต่ำ จากกลุ่มสหพันธ์แกนนำชาวสวนยางภาคใต้ ที่รวมตัวกันเมื่อเดือนมกราคม 2563 ทวงถามผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาราคายาง ที่ถึงขณะนี้ยังไม่โงหัวไต่ระดับขึ้นอย่างที่สัญญาเอาไว้ กลุ่มสหพันธ์ดังกล่าวมีการรวบรวมปัญหานำสะท้อนให้รัฐบาลลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยมานานกว่า 7 ปีแล้ว

อย่างไรก็ดี ปัญหาราคายางพาราไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภาคใต้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับผู้ที่ปลูกยางทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนภาคอีสาน ก็โดนกระหน่ำซ้ำซ้อนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่แพ้กัน เนื่องจากชาวสวนยางภาคอีสานส่วนใหญ่จะผลิตยางก้อนถ้วย ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะยางก้อนถ้วยมีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องลงทุนมากมาย และไม่ต้องลงแรงหรือตั้งโรงงาน แต่ถ้าหากมีการแปรรูปทำเป็น “ยางแผ่นดิบ” ซึ่งได้ราคาดีกว่านั้น ต้องเพิ่มขั้นตอนการผลิตและต้องลงทุนอีกมาก ดังนั้น ชาวอีสานจึงไม่นิยม ทำให้ผลิตแต่ยางก้อนถ้วยซึ่งเป็นยางไม่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด กลายเป็น “ยางตกเกรด” จึงถูกกดราคาหรือถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

ปัญหาของยางก้อนถ้วย คือ 1.การหาค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางหรือยางแห้ง (ค่า DRC) ต่ำ 2.เกิดปัญหามลภาวะ กลิ่นเหม็นหากมีการนำยางก้อนถ้วยมารวมกันไว้จำนวนมาก หากจะกำจัดกลิ่นก็ต้องลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียด้วยเม็ดเงินที่สูงมาก 3.ชาวสวนยางจำหน่ายยางได้ราคาถูกกว่าต้นทุนการผลิต

ปัญหาที่กล่าวมานี้ แม้เวลาผ่านมาเนิ่นนานก็ยังไม่มีการแก้ไขเป็นรูปธรรมจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องโดยตรง ยังคงปล่อยให้ชาวสวนยางผจญชะตากรรมด้วยตัวเองต่อไป

Advertisement
ที่ตั้งวิสาหกิจกลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณ

ณะที่ปัญหาราคายางตกต่ำ อีกมุมหนึ่งของภาคอีสาน ที่ บ้านหนองตาเฮียง ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ วิสาหกิจกลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณ ร่วมมือกับคณะอาจารย์จากหน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หาแนวทางช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวสวนยาง ให้ผลิตยางได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อจะได้ราคาดี รวมถึงการหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มของยางให้สูงขึ้น

สิ่งที่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ พพ. ร่วมกันคิดค้นก็คือ “พาราโบลาโดม” หรือ “ระบบอบแห้งยางด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก” เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด สำหรับใช้อบแห้งยางพาราที่เป็นยางแผ่นดิบ แทนการรมควันด้วยไม้ฟืน เนื่องจากควันและความร้อนจากฟืน เป็นตัวทำลายผิวยางให้เสื่อมและทำให้ยางขาดได้ง่ายขึ้น โดยโมเดลนี้เป็นโมเดลทดลองนำร่องในภาคอีสาน ขณะที่ภาคอื่นๆ ก็มีการทดลองด้วยเช่นกัน คือ จ.น่าน, อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ, จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.จันทบุรี

ธนากร จีนกลาง

การติดตั้งโมเดลทดลอง ที่วิสาหกิจกลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณ “ธนากร จีนกลาง” ประธานกรรมการกลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า ได้รับการติดต่อจากอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขอติดตั้งพาราโบลาโดม ใช้ทดลองอบแห้งยางพารา เป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยชาวสวนยางในการทำให้ยางได้ราคาดี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจึงตกลงร่วมมือกัน ซึ่งได้ทดลองอบแห้งมาระยะหนึ่งแล้ว สามารถบอกได้ว่าผลออกมาดีเกินคาด ยางที่ได้ออกมามีคุณภาพถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

“…แต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่าแสงอาทิตย์หรือแสงยูวีทำลายเซลล์ยางพาราได้เกิน 50% ถ้าเราตากยางตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างยางเครพไม่เกิน 7 วัน ยางจะขาด แต่เมื่อนำมาตากหรืออบแห้งในพาราโบลาโดม ผ่านแผ่นโพลิคาร์บอเนต ปรากฏว่ายางอยู่ได้นานขึ้น 1-2 เดือนก็ไม่ขาด เราไม่เคยรู้สิ่งนี้มาก่อน ถือว่าเป็นผลดีแก่ชาวสวนยางมาก เพราะปกติแล้วชาวสวนยางภาคอีสานนิยมผลิตยางก้อนถ้วย เป็นยางคุณภาพต่ำจึงไม่ได้ราคา แต่ถ้าหากสามารถปรับเปลี่ยนมาแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบอบแห้ง ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น ที่ผ่านมาชาวสวนไม่ทำยางแผ่นดิบเพราะต้นทุนสูงและขั้นตอนยุ่งยาก ต้องตั้งเป็นโรงงาน แต่ถ้าสามารถติดตั้งพาราโบลาโดมแทน อาจจะทำยางแผ่นดิบมากขึ้น เพราะสามารถอบแห้งแผ่นยางด้วยนวัตกรรมใหม่นี้ ซึ่งลงทุนไม่สูงมากและยังได้แผ่นยางที่มีคุณภาพดีเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถขายได้ราคาดี และยังเก็บสต๊อกไว้รอจำหน่ายได้ เพราะยางแห้งสนิท ไม่ขึ้นรา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาราคายางได้อย่างเป็นรูปธรรม…”

พาราโบลาโดม หรือระบบอบแห้งแสงอาทิตย์เรือนกระจก

ธนากรกล่าวอีกว่า ตลอดเวลาที่ทำยางมา 20-30 ปี หาวิธีการมาตลอดว่าจะสร้างคุณภาพยางแผ่นดิบได้อย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลเองแก้ปัญหาด้วยการรับจำนำยาง ซึ่งไม่เป็นผล เพราะไม่ลงไปถึงเรื่องของคุณภาพยาง ทำให้การรับจำนำยางไม่ตอบโจทย์ชาวสวนยาง “…ลองคิดดู เมื่อมีการรับจำนำ เขาก็จะเอายางมาเก็บรวมๆ กันไว้ในโกดัง ยางมันมีความชื้น ไม่แห้ง เลยทำให้ยางเสื่อม ไม่ได้มาตรฐาน GMP พอยางเสื่อม ขึ้นรา ยางก็เสีย รับจำนำมา 60 บาท/กก. แต่ตอนขาย ขายได้ 40 บาท/กก. อย่างนี้เป็นต้น ผมมองว่าถ้าจะเอาเรื่องคุณภาพ การอบยางให้แห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เรือนกระจกแบบนี้ ได้ยางที่แห้งสนิท ไม่ขึ้นรา ที่สำคัญผิวยางไม่ถูกทำลาย แต่ได้เป็นยางแผ่นสวยใส สีไม่คล้ำ เวลานำไปขายก็ได้ราคาดี ใครๆ ก็อยากได้…” เหนืออื่นใด ธนากรบอกว่า การใช้พาราโบลาโดมอบแห้ง เป็นการใช้แสงธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นฟืนเพื่อ “รมควันยาง” อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้

“…เลยอยากกระจายความรู้ตรงนี้ เพราะเป็นมิติใหม่และเป็นนวัตกรรมตัวใหม่ล่าสุด ที่สามารถทำให้ยางไทยมีคุณภาพค่อนข้างสูง ยางที่อบได้สามารถเทียบเท่ากับยางแท่ง 5 แอล ซึ่งเป็นยางชนิดที่ต้องลงทุนหลักร้อยล้านขึ้นไป เป็นยางใช้ทำล้อเครื่องบิน หรือสินค้าพรีเมียม ราคาสูงๆ…” ธนากรบอกด้วยว่า หลังการทดลองโมเดลนี้เสร็จสิ้น และมีการสรุปผล อยากให้ภาครัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับยางพาราและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาช่องทางขายยางที่มีคุณภาพ “…สิ่งที่อยากถามรัฐบาล คืออีสานเขียวพอแล้วหรือที่จะให้ลดพื้นที่ปลูก มลภาวะยังร้อนแล้งเหมือนเดิม ถ้าเราไม่ทำให้สีเขียวเพิ่มขึ้นมันก็จะเป็นปัญหาต่อไป เราต้องหาวิธีว่าเราจะใช้ยางอย่างไร ต้องหาวิธีมาช่วยเขา มาส่งเสริมตรงนี้ อย่างที่ผมบอกยาง 1 แผ่นในประเทศไทย ถ้าผ่านพาราโบลาโดม ผ่านมาตรฐานดีเอ็มพี จะเป็นยางมาตรฐานเดียวที่ผู้ประกอบการอยากได้ และชาวสวนยางก็อยากได้ ตอบโจทย์ ตรงใจ รอเพียงการส่งเสริมจากรัฐเท่านั้น…”

ยางพาราแผ่นดิบตากในโดม

อีกฟากฝั่งของคนคิดค้น “ดร.ประสาน ปานแก้ว” หนึ่งในทีมวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน ว่าการคิดค้นพาราโบลาโดม ก็เพื่อใช้ตากพืชผลทางการเกษตร เช่น กล้วย พริก กะเพรา ปลา หรือข้าวโพด เพราะผลิตผลทางการเกษตรของไทยจำนวนมากต้องผ่านการตากแห้งหรืออบแห้งหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการถนอมอาหาร หรือแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภค ผลิตผลดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่ธัญพืช เครื่องเทศ สมุนไพร ผักและผลไม้บางชนิด

เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้การตากแห้งตามธรรมชาติ ซึ่งมักเสียหายจากการรบกวนของแมลงและการเปียกฝน ดังนั้น มองว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง การใช้เทคโนโลยีการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จึงมีความเป็นไปได้สูง พพ.จึงร่วมมือกับหน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการพัฒนาระบบอบแห้งพลังแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก เพื่อใช้อบแห้งผลิตผลการเกษตรในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมองเห็นประโยชน์ที่จะนำมาใช้กับยางพารา จึงประสานกับกลุ่มฐานเกษตรยางพาราบ้านโนนสุวรรณเพื่อนำยางมาทดลอง ผลเบื้องต้นปรากฏว่าได้ผลดี สามารถทำให้ยางราคาเพิ่มขึ้นมาอีก 3 บาท ที่สำคัญลดปัญหาฝุ่นละอองเพราะไม่ต้องใช้ฟืน

“รมควันยาง 1 กก.ใช้ฟืน 5 บาท และทำให้ยางเพิ่มราคาขายได้อีก 3 บาท ถ้าดูในส่วนต่างของราคาขายไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องเชื้อเพลิงลดได้ 5 บาท ที่สำคัญกว่าคือลดเรื่องมลพิษ ไม่ทำลายต้นไม้ ถ้าใช้การอบแสงอาทิตย์ทั้งช่วยให้ราคายางเพิ่มขึ้นและลดการใช้ฟืนลง 5-8 บาท/ยาง 1 กก. ฉะนั้น น่าจะเป็นผลดีกับชาวสวนยาง ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะสรุปผลภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ก่อนจะแนะนำแก่เกษตรกรชาวสวนยางต่อไป”

ปัญหาราคายางพาราที่สร้างความปวดหัวและคาราคาซังมานานกว่า 7 ปี คณะศึกษาวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงมือศึกษาวิจัยหวังผลให้เป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหายางพาราให้ได้ในยุคของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลการศึกษานี้ก็อยู่ที่ว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง จะเห็นความสำคัญและประโยชน์ของมันหรือไม่

เสนอ ชูจันทร์ ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ ตรวจเยี่ยมกลุ่มฐานเกษตรฯ โนนสุวรรณ

 

ซึ่งหากมองกันตามความเป็นจริงและตรงไปตรงมาอย่างสุจริตชน อีกทั้งเห็นแก่ประโยชน์ชาวสวนยางอย่างแท้จริง ก็ต้องมองออกว่านวัตกรรมใหม่นี้ช่วยเหลือชาวสวนยางได้แน่นอน ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือหาทางส่งเสริมและต่อยอด เพราะพาราโบลาโดม เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ชาวสวนยาง


การทำงานของ ‘พาราโบลาโดม’

 

 

โครงสร้างระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ประกอบด้วยโครงเหล็กโค้งเป็นรูปพาราโบลา ยึดติดกับพื้นคอนกรีตและปิดคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต ด้านหน้ามีประตูและช่องอากาศไหลเข้า ส่วนด้านหลังมีพัดลมระบายอากาศที่ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ภายในระบบอบแห้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ จะมีท่ออากาศจากเครื่องเผาไหม้ก๊าซ (LPG gas burner) ซึ่งติดตั้งอยู่นอกระบบอบแห้งทางด้านหลัง เพื่อให้ความร้อนเสริม ผลิตภัณฑ์ซึ่งจะอบแห้งจะวางอยู่บนตะแกรงที่อยู่บนชั้นเหล็กตามแนวยาวของโรงอบแห้ง

ทำงานโดยอาศัยหลักการเรือนกระจก (Greenhouse effect) คือเมื่อแสงดวงอาทิตย์ส่องผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนต เข้าไปตกกระทบผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบต่างๆ ภายในระบบอบแห้ง ผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบเหล่านั้นจะดูดกลืนรังสีดวงอาทิตย์ ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา แต่รังสีอินฟราเรดส่วนใหญ่จะไม่สามารถผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตได้ จึงถูกเก็บกักอยู่ภายใน ทำให้อุณหภูมิภายในระบบอบแห้งสูงขึ้น ซึ่งช่วยทำให้น้ำในผลิตภัณฑ์ระเหยออกมาได้เร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ ความชื้นที่ระเหยออกมาจะถูกพัดลมดูดออกไปภายนอก และอากาศจากภายนอกจะไหลเข้ามาแทนที่ ทางช่องอากาศเข้าด้านหน้า แผ่นโพลีคาร์บอเนตเป็นฉนวนความร้อนที่ดี จึงช่วยลดการสูญเสียความร้อนจากการพาความร้อน นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันฝนและแมลงหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์อบแห้งที่ได้ สีไม่คล้ำ

สำหรับโครงสร้างรูปทรงพาราโบลา จะช่วยลดแรงต้านลม ก่อสร้างได้ง่าย และยังมีความสวยงามด้วย ถ้าแสงแดดไม่เพียงพอหรือช่วงเวลาฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ให้เปิดเครื่องเผาไหม้ก๊าซ เพื่อให้ความร้อนเสริมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image