‘ดอน’ตอบทุกประเด็น ทิปรีพอร์ต-เอสซี-แจงยูเอ็น

หมายเหตุ – “มติชน” นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นด้านต่างประเทศที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมไทยในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไล่เรียงไปตั้งแต่การประกาศผลรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (ทิป รีพอร์ต) ผลการเลือกตั้งชิงเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) และการเดินทางไปชี้แจงกับรองเลขาธิการยูเอ็นของคณะผู้แทนพิเศษนายกรัฐมนตรี

เป็นความตั้งใจของรัฐบาลไทยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2557 หลังจากนั้นทุกภาคส่วนของไทยก็ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างมุ่งมั่นจริงจังจนทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้มีแค่ปลาเล็กปลาน้อยแต่ยังรวมถึงปลาใหญ่ด้วย

การที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐประกาศปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยจากเทียร์ 3 ขึ้นเป็นเทียร์ 2 ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง สะท้อนให้เห็นว่าความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งถือเป็นการค้าทาสยุคใหม่ว่าเป็นที่รับรู้และยอมรับ ใครจะมองอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับที่เราตั้งใจทำอย่างจริงจัง เรารู้ว่าเรามาถูกทางและจะทำงานอย่างจริงจังต่อไป

หลังจากนี้ไทยก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วยความแน่วแน่ มุ่งมั่น และมีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์ของสหรัฐหรือของใคร แต่เพื่อทำให้เมืองไทยดีขึ้นและเพื่อให้ลูกหลานคนไทยในอนาคตอยู่ได้โดยปราศจากความหวาดกลัว อย่างไรก็ดี จะหวังให้มันหมดสิ้นไปในทันทีทันใดนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่เหมือนการลบสิ่งที่เขียนลงบนกระดาษ

Advertisement

การปรับอันดับดังกล่าวจะส่งผลดีต่อสัมพันธ์ไทย-สหรัฐหรือไม่

สิ่งที่เป็นอยู่ถือเป็นการเริ่มต้นในจุดที่ดี ทั้งเราและสหรัฐต่างมีพื้นฐานการทำงานที่ชัดเจน โปร่งใส บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมากระทรวงและสถานทูตสหรัฐก็ปรึกษากันอย่างใกล้ชิดมาตลอด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้แทนสถานทูตสหรัฐในไทยก็เพิ่งจะมาพูดคุยกับกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ของกระทรวงเพื่อดูว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไรต่อในปีหน้า ซึ่งความร่วมมือที่มีครอบคลุมหลายมิติ อาทิ เศรษฐกิจ การทหาร วิทยาศาสตร์ และการค้า จึงเชื่อว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้นและทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำงานร่วมกันต่อไป

การปรับอันดับไทยในทิปรีพอร์ตจะส่งผลบวกต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ด้วยหรือไม่

Advertisement

แม้ในอดีตเราจะพยายามแยกสองเรื่องนี้ออกจากกัน แต่ที่สุดก็ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และปัญหาแรงงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาไอยูยูอย่างแยกกันไม่ออก แต่สุดท้ายอยู่ที่การประเมินว่าจะมองกันอย่างไร เพราะบางฝ่ายมองแบบแยก แต่บางฝ่ายบอกต้องมองเป็นองค์รวม

สุดท้ายเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าไทยพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถือว่าเป็นปัญหาสากลซึ่งทุกประเทศเข้าใจผลกระทบในเรื่องนี้ และยังสามารถคิดในมุมใหม่ได้ว่าแม้ไทยจะมีเงื่อนไขพิเศษที่นำมาใช้จัดการเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งอาจไม่เหมือนที่ประเทศอื่นๆ ใช้ เป็นวิธีการแบบไทยๆ ที่เขาอาจไม่เคยเชื่อและบอกว่าต้องใช้มาตรวัดสากลเท่านั้น แต่เมื่อเรื่องนี้ออกมาเขาจะได้เห็นว่าวิธีหลากหลายที่ทำให้แก้ไขปัญหาในโลกนี้ได้มันมีอยู่จริง ถ้าเราทำเรื่องนี้ให้เป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพก็จะเห็นผลว่าวิธีการแก้ไขปัญหาแบบไทยๆ มันก็เวิร์ก

ในเดือนตุลาคมนี้ เรากำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียู รัฐมนตรีของอียูจะเดินทางมาเยือนไทยเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาในโลก เรื่องค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติก็เป็นหนึ่งในปัญหาสากลที่อาจหยิบยกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เราสามารถนำเอาประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยโดยการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ด้วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนเรื่องนโยบายประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพราะในอดีตที่ผ่านมาแม้อียูจะรับรู้ว่าเราทำอะไรแต่อาจไม่ได้ติดตามใกล้ชิดว่าเราทำอย่างไร มาตรา 44 ทำให้เราสามารถจับผู้กระทำผิด ปรับโครงสร้างองค์กร แก้ไขและอุดช่องโหว่ของกฎหมายถึงขนาดนี้ได้ภายในเวลาสั้นๆ แค่หนึ่งปีครึ่งนี้ ถ้าใช้วิธีปกติธรรมดาคงแก้ไม่ได้ แต่หลายๆ ครั้งเวลาเราพูดอะไรแล้วอียูจะคลางแคลงใจ ทั้งหมดนี้จะทำให้ได้รู้ว่าเราไม่ได้แค่พูด แต่ทำจนปรากฏผลงานชัดเจน

มีข่าวว่าไทยใช้งบประมาณ 600 ล้านในการหาเสียงสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี)

ความพยายามของเราที่จะเข้าไปนั่งในยูเอ็นเอสซีต้องย้อนไปสมัยผมเป็นเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก เดิมไทยคิดจะลงสมัครในวาระปี 2550 แต่ขณะนั้นสถานการณ์ในไทยเต็มไปด้วยความวุ่นวาย บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ มีการเดินขบวนประท้วง จึงถามตัวเองว่าถ้าบ้านเมืองเป็นอย่างนี้แล้วใครจะมาเลือกเรา ถ้าเรามีปัญหาขนาดนั้นแล้วเราจะไปดูแลปัญหาของคนอื่นได้อย่างไร ในฐานะทูตผมได้เสนอให้เลื่อนออกไป ซึ่งกระทรวงมอบให้ผมเป็นคนตัดสินใจ จึงได้เลื่อนออกไป 10 ปี มาเป็นวาระปี 2560-2561 เพราะหวังว่าปัญหาในบ้านเมืองขณะนั้นจะคลี่คลายลง เราจะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี ตลอดเวลานับตั้งแต่ปี 2550-2557 บ้านเมืองก็ยังไม่นิ่ง การเมืองยังเต็มไปด้วยปัญหาทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน การชิงชัยมันเดินไปเพราะเราประกาศการเลื่อนเวลาลงสมัครออกไปแล้ว แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาไทยไม่สามารถไปรณรงค์อะไรได้อย่างเต็มที่เพราะปัญหาภายในของเรา เพราะมัวแต่วุ่นวายกับเรื่องในบ้านเมือง ขณะที่คู่แข่งของเราเขาเดินหน้าเต็มที่และแลกเสียงกับประเทศต่างๆ ไปมากแล้ว

กระทั่งในปี 2557 เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี ได้มีการปรึกษากันว่าจะเดินต่อหรือไม่ในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญและแทบจะไม่ได้ทำอะไรในเรื่องนี้เลย ไม่มีการแลกเสียงแล้วเราจะเอาเสียงที่ไหนไปชนะเขา เพราะในการชิงเก้าอี้ของยูเอ็นเราจะต้องไปแลกผลประโยชน์กับประเทศต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการแลกเสียงกัน ใครทำเร็วก็ได้สัญญาจากประเทศอื่นๆ เร็ว แต่สุดท้ายเมื่อคิดถึงคำที่ว่าในการแข่งขันกีฬาสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ชัยชนะ แต่คือการมีส่วนร่วม เช่นเดียวกับชีวิตจริงชัยชนะไม่ใช่เป้าหมาย แต่คือการได้ต่อสู้ ถึงจะคิดว่าโอกาสจะน้อยแต่เราก็สู้ เพื่อที่เด็กๆ รุ่นใหม่ของเราจะได้มีโอกาสในการฝึกฝนตัวเองระหว่างการออกไปรณรงค์หาเสียง จึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ เราสู้ในเวลาที่เหลืออยู่ 2 ปี โดยที่เราไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย แต่เราก็ทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้

ในช่วงที่ผ่านมาเราใช้เงินไป 132 ล้าน ไม่มีเลข 600 ล้านอะไรอย่างที่พูดกัน ซึ่งเงินจำนวนนี้รวมการดำเนินการทุกอย่างที่เราเห็นว่าจะเป็นประโยชน์เพื่อให้เราได้เสียงมามากที่สุด แต่อยากให้ทราบว่าการต่อสู้ในยุคใหม่มันมากไปกว่านั้น มันมีวิธีการสารพันที่ทำให้เรารู้ว่าถ้าเราจะสู้อย่างที่คนอื่นๆ สู้คงต้องใช้มากกว่า 600 ล้าน แต่เราไม่ได้คิดจะทำอย่างนั้น เราสู้แบบที่เมื่อผลออกมา ประเทศที่เลือกเราบอกว่าเราสู้ได้อย่างโปร่งใส มีหลักการและสู้ตามกรอบกฎหมายจริงๆ

พูดจริงๆ เรื่องที่นั่งในยูเอ็นเอสซี คนทั่วไปไม่มีใครรู้จักและไม่มีใครแคร์ เว้นแต่คนที่สนใจ ขณะที่การหาเสียงมันก็มองกันหลากหลายด้านในการที่เขาจะลงคะแนนให้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยในประเทศไทย ไม่มีใครถามถึงสถานการณ์ในประเทศไทย แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์และการแลกเสียงระหว่างกันเป็นหลัก

ผลการเดินทางไปชี้แจงกับเลขาธิการยูเอ็นของคณะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไร

เราถือโอกาสไปอธิบายให้ทราบว่าบ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องแปลกว่าประเทศไทยมักจะถูกวาดภาพว่าบ้านเมืองของเราลุกเป็นไฟ แดงฉานไปด้วยเลือด มีปัญหาไม่น้อยไปกว่าเบลเยียมหรือฝรั่งเศสที่ทหารต้องมาถือปืนกลางเมือง เลขาธิการยูเอ็นไม่ได้ตั้งใจจะมาสอบถามอะไร แต่มันมีการไปพยายามผลักดันให้ข่าว เราเลยต้องไปเล่าข้อเท็จจริงให้เขาฟัง

ก็ไปเล่าให้เขาฟังว่าไทยเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างรัฐบาลรัฐประหารที่ปรากฏตามตำรา สื่อของเรายังคงมีเสรีภาพ ประชาชนไทย 60 กว่าล้านก็ไม่มีใครบ่นเรื่องนี้ เว้นแต่มากสุด 50 คนที่วนเวียนมาบ่นให้ฟัง ก็หวังว่าจะทำให้เขาเห็นในสิ่งที่เขาไม่ค่อยเชื่อ เพราะแม้แต่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ก็ยังเขียนไว้ชัดเจนว่าบ้านเมืองใดก็ตามหากขาดซึ่งระเบียบ มีปัญหาซึ่งจะกระทบความมั่นคงและความเรียบร้อยของประเทศ ผู้บริหารสามารถดูแลไม่ให้มีคนที่มาสร้างปัญหาเหล่านั้นได้

ที่ทราบคือเขาไม่ได้ติดใจอะไรมาก เพราะเรื่องในโลกนี้มันมีเยอะมาก ยูเอ็นเขาไม่ได้สนใจไทยตราบใดที่ไม่ได้มีเรื่องเลือดตกยางออก แต่มีคนพยายามไปกรอกหูเขาเลยถามขึ้นมา ทุกวันนี้เรื่องอย่างที่เกิดในตุรกีหรือเบร็กซิทมันเป็นปัญหาใหญ่กว่าไทยมาก ของเราชัดเจนว่ามันไม่ใช่ปัญหา แต่มีคนพยายามทำให้เกิดปัญหาเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image