ไทยพบพม่า ตอน ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่ (6) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนพาผู้อ่านไปรู้จักกับ ออง ซาน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรัฐพม่าสมัยใหม่ ในชีวิตอันแสนสั้นของรัฐบุรุษผู้นี้ ยังมีแง่มุมและทัศนคติอันเฉียบแหลมและมีคุณค่าเหนือกาลเวลา (timeless) ซึ่งสะท้อนผ่านงานเขียนและสุนทรพจน์ไม่กี่ชิ้น ที่ ศาสตราจารย์ โจเซฟ ซิลเวอร์สไตน์ (Josef Silverstein) แห่งรัทเจอร์ส-มหาวิทยาลัยรัฐแห่งนิวเจอร์ซี (Rutgers – The State University of New Jersey) รวบรวมเพื่อตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1972

นอกจากบทบาทในการนำขบวนการชาตินิยมเพื่อเรียกร้องเอกราชแล้ว ออง ซานยังเป็นนักคิด นักอ่าน และเป็นนักการเมืองที่มีวาทศิลป์ และเป็นนักพูดไฮด์ปาร์กที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ผู้เขียนกล่าวถึงแนวคิดการสร้างรัฐสมัยใหม่ของออง ซาน ที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและศาสนาไปแล้ว แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน และอาจเป็นแง่มุมที่เรารับรู้น้อยที่สุดเกี่ยวกับออง ซาน คือเขาเป็นผู้เชื่อมั่นในความเป็นสากล (internationalism) และแนวคิดโลกนิยม (globalism) ในช่วงหนึ่งของข้อเขียนว่าด้วย “ปัญหาสำหรับเอกราชพม่า” ที่ผู้เขียนยกขึ้นมาอ้างถึงบ่อยๆ ออง ซานกล่าวว่า ชะตากรรมของพม่าในยุคหลังเอกราชก็ไม่ต่างจากชะตากรรมของชาติอื่นๆ ในเอเชีย ที่ล้วนมีประสบการณ์การตกเป็นอาณานิคมมาก่อน ทั้งอาณานิคมตะวันตก และอาณานิคมของญี่ปุ่น ในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ประเทศในเอเชียที่มีประสบการณ์ร่วม ทั้งพม่า อินโดนีเซีย อินเดีย และอินโดจีน ควรจับมือกันเพื่อสร้าง “ความสามัคคีแห่งเอเชีย” (Asian Unity) ประเทศเหล่านี้ควรหันมาร่วมมือกันและสร้างระเบียบของเอเชียใหม่ ที่ไม่ใช่เอเชียของกลุ่มชาติพันธุ์ใดกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง และสร้างสันติสุขให้เป็นตัวอย่างของโลก
“เอเชียต้องเดินต่อไปด้วยกัน” เขากล่าวต่อ “เอเชียต้องร่วมมือกันและคิดแผนการร่วมกันเพื่อสู้กับปัญหาร่วมที่ต่างเผชิญร่วมกัน”

ออง ซานชื่นชมขบวนการเอกราชในอินโดนีเซียและในอินโดจีนเป็นพิเศษ และกล่าวยกย่องประชาชนผู้กล้าในประเทศเหล่านี้อย่างน่าประทับใจ

Advertisement

“แม้ภูเขาและทะเลจะกั้นเราไว้ แต่ข้าพเจ้าอยากให้ผู้กล้าและวีรบุรุษทั้งหลายรู้ว่าเราอยู่เคียงข้างพวกเขา เราถือว่าการต่อสู้ของพวกเขาก็คือการต่อสู้ของพวกเราเช่นเดียวกัน จงต่อสู้ต่อไป! เราขอส่งความปรารถนาดีและคำอวยพรไปให้ ไม่สิ เราจะส่งมากกว่าความปรารถนาดีและคำอวยพรไปให้พวกท่าน”

สําหรับออง ซาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้และผู้อ่านทฤษฎีมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์อย่างแตกฉาน มองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าความเลวร้ายในโลกมีเพียงระบอบจักรวรรดินิยมและระบอบฟาสซิสต์เท่านั้น เขาจึงมองไม่เห็นว่าในอีกไม่กี่ปีต่อมา โลกจะสับสนอลหม่านและเกิดสงครามทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยและค่ายคอมมิวนิสต์ขึ้น เพราะสำหรับเขา ไม่ว่าชาติต่างๆ จะมีประสบการณ์ที่เลวร้ายเพียงใด แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ตัวอย่างของโลกในอุดมคติแบบออง ซาน มาจากความฝันของเขาที่จะเห็นการรวมประเทศจีนและอินเดีย

ออง ซานกล่าวถึงผู้นำจีนหลายฝ่ายที่กำลังต่อสู้กันอย่างหนักในยุคนั้น ได้แก่ เหมา เจ๋อ ตุง, เจียง ไค เชค และ นายพล จู่ เต๋อ (หนึ่งในผู้นำระดับสูงของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ให้หันมาพูดคุยกัน เช่นเดียวกับที่เขาฝากให้ผู้นำอินเดีย (ที่ในเวลานั้นยังไม่แยกเป็นอินเดียกับปากีสถาน) ปรองดองกันไว้ ทั้ง คานธี, จินนาห์ (ผู้นำปากีสถาน), เนห์รู และ อัซซาด (อดีตประธานพรรคคองเกรสแห่งอินเดีย) ควรจับมือกันเพื่อสู้กับภัยคุกคามอื่นๆ เพื่อสร้าง “อินเดียหนึ่งเดียวที่มีทั้งเสรีภาพและความสุข” (free and happy India)

Advertisement

สำหรับชาวอินเดียและชาวจีนที่อาศัยในพม่า ออง ซานให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลพม่าจะดูแลทุกข์สุขของชุมชนชาวอินเดียและชาวจีนพลัดถิ่นอย่างดี ตราบใดที่ทั้งสองกลุ่มไม่เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของพม่า ที่ผ่านมา ชุมชนชาวต่างชาติทั้งสองกลุ่มเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มชาตินิยมสายสุดโต่ง ที่กล่าวอ้างว่าชาวต่างชาติเข้าไปหาใช้ประโยชน์บนหยาดเหงื่อแรงงานของชาวพม่า และเคยเกิดเป็นการจลาจลทางเชื้อชาติ ทั้งระหว่างชาวพม่ากับชาวอินเดีย และกับชาวจีน มาก่อนหลายครั้ง

แนวคิดแบบออง ซาน เป็นแนวคิดแบบผู้นำชาตินิยมยุคใหม่ ที่ไม่ได้ยึดติดกับเขตแดนของชาติ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และศาสนาเป็นพิเศษ เขาย้ำเสมอว่าพม่าจะอยู่รอดต่อไปในอนาคต คนพม่าจำเป็นต้องปรับจูนความคิดกันใหม่ และมองว่าโลกก็มีความสำคัญไม่แพ้ประเทศของตัวเอง เขาจึงไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดการรวมกลุ่มอย่างเครือจักรภพ (ที่ต่อมารัฐบาลอู นุ หลังเอกราชจะปฏิเสธไม่ยอมรวมกับเครือจักรภพ) เพราะเขามองว่าพม่าจะกลับมามีศักยภาพและมั่งคั่งได้ด้วยความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายที่ดีกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การพัฒนาร่วมกันของ “ประชาคมโลก” ก็คือการเน้นย้ำจุดยืนของชาตินิยมอีกแบบหนึ่ง ชาตินิยมหรือความรักชาติไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาผ่านการกีดกันคนในชาติอื่นหรือกล่าวแต่เพียงว่าชาติของตนดีที่สุด

แต่การรักชาติที่ถูกต้องย่อมเป็นความปรารถนาดีของคนที่อยากเห็นชาติเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง เพราะประโยชน์สุขของประชาชนทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียมกัน

วรรคทองของออง ซาน ที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษในข้อเขียนชิ้นนี้คือการที่เขาเห็นว่าพม่าจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของโลก เมื่อทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพ และจับมือเดินไปร่วมกัน “ทั้งเวลาและพื้นที่ก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และโลกก็จะเป็นโลกของเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ต่างจากเพื่อนบ้านที่ห่างไกลเหมือนก่อน” เขามองว่าแนวคิดเรื่อง “ครอบครัวโลก” (world family) เป็นแนวคิดที่น่าหมดจดงดงาม แต่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ (อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของเขา) แต่สิ่งที่ผู้นำโลกน่าจะทำมากกว่าคือการพัฒนาความสนใจร่วมกัน เพื่อก้าวข้ามรัฐ เชื้อชาติ และศาสนา ซึ่งเขามองว่าเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก

ผู้เขียนอยากจะเน้นย้ำอีกสักครั้งว่าข้อเขียนของออง ซาน สะท้อนตัวตนและวิธีคิดของเขาก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการบริหารประเทศจริง พม่าทั้งในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีข้อจำกัดมากมาย และมีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา ดังที่ออง ซานได้กล่าวไว้ และความขัดแย้งนี้จะเป็นสาเหตุสำคัญให้พม่าไม่สามารถพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไปได้ ผู้นำชาตินิยมในยุคหลังออง ซาน ต่างเห็นเรื่องความมั่นคงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ เพราะหากประเทศไม่สงบสุข และยังมีสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้ออย่างที่เป็นอยู่ พม่าก็จะไม่สามารถพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้

แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สงครามกลางเมืองในพม่ายังคงดำเนินต่อไป แม้จะน้อยลงกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนอย่างเทียบไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นภัยคุกคามที่กองทัพพม่าให้ความสูงสุดอยู่เสมอ และจะเป็นอย่างนี้ต่อไป…อีกนานแสนนาน

ลลิตา หาญวงษ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image