สงครามคลื่น-สงครามธุรกิจ 5ค่ายเปิดศึกชิงเบอร์1 ยึด5จีต่อยอดอุตสาหกรรม

จากบทเรียนราคาแพงในอดีตที่ไทยเข้าสู่ระบบ 3G ล้าหลังกว่านานาประเทศถึง 8 ปี และระบบ 4G ที่ล้าหลังถึง 4 ปี ทำให้การกดปุ่มสวิตช์ออนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นอีกตลบของหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ต้องจารึกไว้ และต้องมาดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้…

“ไทย” เป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ประเทศผลิตเทคโนโลยี ฉะนั้น ลำพังการกดปุ่มสวิตช์ออนคลื่นความถี่ แต่ไม่คล้องไปกับอุปกรณ์ที่พร้อมรองรับอย่าง “สมาร์ทโฟน” สำหรับ 5G ซึ่งช่วงแรกจะทยอยนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย อาทิ สมาร์ทโฟนสัญชาติเกาหลีใต้ และสัญชาติจีน ซึ่งก็เป็นธรรมดาว่าจะมีราคาแพงหูฉี่เหยียบ 40,000 บาท ทำให้ ณ บัดนาวยังพูดได้ไม่เต็มปากว่า ไทยเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์โดยสมบูรณ์แล้ว

ฤทธิ์เดช”5G”เร็วปู๊ดป๊าด

ที่ผ่านมาแม้จะมีการปูพรมให้ความรู้เรื่อง 5G กันเป็นระยะ แต่เชื่อว่าหลายคนยังให้คำจำกัดความของ 5G คือการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ เพื่อให้รองรับประสิทธิภาพของ 5G ที่เร็วปู๊ดป๊าด ซึ่งนั่นไม่ใช่ทั้งหมด โดย 5G จะเป็นการใช้งานในลักษณะบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที ซึ่งจะตอบสนองความต้องการการส่งและรับข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

อีกทั้ง สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ในพื้นที่เดียวกัน ได้มากถึงระดับล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร และมีการส่งข้อมูลระหว่างกันในปริมาณน้อยๆ จึงไม่ต้องการความเร็วสูง ซึ่งอุปกรณ์ทั่วไปจะมีราคาถูกและมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่นานกว่าอุปกรณ์ทั่วไป เช่น อุปกรณ์อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) เป็นต้น และเป็นการใช้งานที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที จึงเหมาะกับการใช้งานระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล หรือการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ

อานิสงส์ทำมูลค่าเศรษฐกิจพุ่ง

ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดการณ์ว่า การมี 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค อาทิ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท, ภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03 ล้านบาท, ภาคบริการสาธารณะ 8.7% มูลค่า 171.92 ล้านบาท, ภาคขนส่ง 5.4% มูลค่า 106.28 ล้านบาท, ภาคการศึกษา 2.3% มูลค่า 44.62 ล้านบาท, ภาคการแพทย์ 1.0% มูลค่า 19.23 ล้านบาท และอื่นๆ 23.7% มูลค่า 469.76 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท

Advertisement

“คลื่นความถี่”ไม่มีไม่ได้

แต่ก่อนจะได้เห็นอานิสงส์ของ 5G ดังว่า “คลื่นความถี่” คือหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยย่านความถี่ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ต้องมีเพื่อให้บริการ 5G ได้ครอบคลุมการใช้งาน ประกอบด้วย 3 กลุ่มย่านความถี่ ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ หรือโลว์แบนด์ (ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิรตซ์) เช่น คลื่นความถี่ย่าน 700, 900, 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ เป็นต้น เพราะเป็นย่านความถี่ที่มีคุณสมบัติด้านความครอบคลุมของสัญญาณ ถัดมาคือ ย่านความถี่กลาง หรือมิดแบนด์ (ตั้งแต่ 1-6 กิกะเฮิรตซ์) เช่น คลื่นความถี่ย่าน 2600, 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่เหมาะสมทั้งเพื่อรองรับความครอบคลุมของสัญญาณ และรองรับความจุของโครงข่าย และย่านความถี่สูง หรือไฮแบนด์ (มากกว่า 6 กิกะเฮิรตซ์) เช่น คลื่นความถี่ย่าน 26, 28 กิกะเฮิรตซ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่มีคุณสมบัติด้านการรองรับความจุได้สูงมาก เนื่องจากมีขนาดความกว้างแถบความถี่ (แบนด์วิดท์) ที่กว้างมาก และมีความหน่วงต่ำจึงเน้นใช้งานในพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานสูง อาทิ อาคารสูง ห้างสรรพสินค้า

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ที่ทั่วโลกนิยมใช้เพื่อรองรับ 5G ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ โดยคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบัน “ไชน่าโมบายล์” ของจีน ซึ่งมีฐานลูกค้ามากที่สุดในโลกราว 925 ล้านราย เปิดให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่ดังกล่าว และมีการผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับ ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่หลักในการรองรับ 5G ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยใช้ในกิจการดาวเทียม โดยจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564

“5ค่าย”ชิงใบอนุญาตเดือด

การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่ผ่านมา คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จึงเป็นที่จับตามองว่า โอเปอเรเตอร์ 3 ราย ที่เข้าร่วมการประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท จะมีการแข่งขันกันดุเดือด แต่ในทางกลับกัน ใช้เวลาในการประมูลรวม 40 นาที โดยโอเปอเรเตอร์เคาะราคา 2 โป๊กเป็นอันเสร็จสิ้น

โดย “เอไอเอส” เป็นผู้ชนะการประมูล จำนวน 10 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 100 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 20,930.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 2,093.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต พร้อมรับใบอนุญาต และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี)จากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลือ 18,837 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้ว ขณะที่ “ทรู” เป็นผู้ชนะการประมูล จำนวน 9 ใบอนุญาต รวม 90 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 19,123.04 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย และเมื่ออุปกรณ์โครงข่ายพร้อมใช้งาน จะเข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 1,912.304 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน

ทั้งนี้ การชำระค่าใบอนุญาต คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะแบ่งเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 จำนวน 10% และงวดที่ 2-7 จำนวนงวดละ 15% (ปีที่ 5-10) โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ภายใน 4 ปี

ฟากคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ก่อนการประมูลหลายคนประเมินว่า อาจจะไม่ดุเดือดเลือดพล่านมากนัก แต่ในทางกลับกัน โอเปอเรเตอร์ 3 ราย ที่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ กลับฟาดฟันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร เคาะราคากันรัวๆ 20 รอบ กินเวลาไป 2 ชั่วโมงครึ่ง โดย “แคท” ซึ่งสนอกสนใจคลื่นความถี่นี้ตั้งแต่ต้น เป็นผู้ชนะการประมูล จำนวน 2 ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 10 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 36,707.42 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 3,670.742 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต

และเอไอเอส เป็นผู้ชนะการประมูล จำนวน 1 ใบอนุญาต รวม 5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 1,835.478 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต 18,354.78 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมวางแบงก์การันตีจากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วันก่อนวันเริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่ง กสทช.กำหนดเบื้องต้นให้เริ่มในวันที่ 1 เมษายน 2564 หรือจนกว่า กสทช. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

อย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนนี้จะพร้อมใช้งานในเดือนเมษายน 2564 โดยปัจจุบันมีการใช้ในกิจการไมโครโฟน ส่วนที่โอเปอเรเตอร์ 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ทรู และดีแทค ได้รับการจัดสรรเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 คาดว่าจะพร้อมใช้งานเดือนตุลาคม 2563

ยิ่งคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ไม่ต้องพูดถึง โอเปอเรเตอร์ 4 ราย ที่เข้าร่วมการประมูล ได้แก่ เอไอเอส, ทรู, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เคาะราคาโป๊กเดียวจบในเวลา 10 นาที โดยเอไอเอส ชนะการประมูล จำนวน 12 ใบอนุญาตๆ ละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 1200 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 5,719.15 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขณะที่ ทรู ชนะการประมูล จำนวน 8 ใบอนุญาต รวม 800 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 3,826.32 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ส่วน ทีโอที ชนะการประมูล จำนวน 4 ใบอนุญาต รวม 400 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 1,920.65 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และดีแทค ชนะการประมูล จำนวน 2 ใบอนุญาต รวม 200 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 974 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดย ดีแทค เข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตเต็มจำนวนแล้ว ซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ กำหนดชำระเงินค่าใบอนุญาตเต็มจำนวนภายใน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) ผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับคลื่นความถี่ย่านนี้

“3 ค่าย”แจงยิบมีคลื่นเสริมทัพ

หลังการประมูลผ่านพ้น โอเปอเรเตอร์ 3 ราย อย่างเอไอเอส ทรู และดีแทค ต่างก็พากันตั้งโต๊ะแถลงจุดยืนว่า จะนำคลื่นความถี่ที่ได้ไปให้บริการ 5G ในด้านใด เริ่มจาก “ดีแทค” ที่ประกาศว่า ขณะนี้มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการครบทุกย่าน รวม 330 เมกะเฮิรตซ์

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จะนำมาให้บริการ 5G อินเตอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ไร้สายประจำที่ ซึ่งจะทำความเร็วได้สูงสุดราว 1 กิกะบิต ในพื้นที่ที่กำหนดเปิดให้บริการ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ขณะเดียวกันจะขยายโครงข่าย 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อการใช้งานครอบคลุมในส่วนภูมิภาคของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

ทั้งนี้ ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ระบุว่า การได้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งยังมีส่วนประกอบต่างๆ อีกมากที่จะตามมาในไตรมาสต่างๆ ของปีนี้ ขณะที่การดำเนินธุรกิจปีนี้ นอกจากจะเปิดบริการ 5G แล้ว ยังให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายในระบบ 4G ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะขยายโครงข่ายเพิ่มเติมเป็น 20,000 สถานีในปลายปี 2563 จากเดิม 17,000 สถานี เพื่อขยายสัญญาณให้ครอบคลุมการใช้งาน และเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งดีขึ้น

ถัดมาคือ เอไอเอส ที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันมีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการครบทุกย่าน รวม 1450 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมากที่สุดในอุตสาหกรรม โดย สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ระบุว่า วางแผนงบลงทุนใน 5G เบื้องต้น จำนวน 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

พร้อมย้ำว่า อย่าเป็นกังวลเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ เพราะมีหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมโอเปอเรเตอร์บางรายไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า ทุกโอเปอเรเตอร์มีการวางแผนการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างดี อย่างเอไอเอสก็มีแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนในฐานะที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดในอุตสาหกรรม การถือครองคลื่นความถี่ปริมาณมากจะทำให้สามารถดูแลลูกค้าได้ดีที่สุด ซึ่งเชื่อว่า ทุกโอเปอเรเตอร์ล้วนมีแผนการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต่างกัน เพราะคงไม่มีรายใดต้องการทำให้ตัวเองเสียเปรียบ หรือเสียประโยชน์จากการประมูลนี้

“จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ในเดือนมีนาคม 2563 และจะประกาศแผนการขยายโครงข่ายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งคาดว่า จะเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ภายในช่วงครึ่งปีแรก” สมชัยระบุ

ส่วนทรูเผยว่า จากการประมูลคลื่นความถี่ ทำให้ปัจจุบันมีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการครบทุกย่าน รวม 1020 เมกะเฮิรตซ์ โดย สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่สามารถประมูลได้ตามแผน เพื่อมาใช้ร่วมกับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่ที่ทั่วโลกนิยมใช้เพื่อรองรับ 5G ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งหากในอนาคตจะนำออกมาประมูลทรูก็มีความสนใจ

ทั้งนี้ พร้อมเปิดให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งาน 5G จริงบนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่เดียวกับที่ชนะการประมูล โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. เพื่อใช้ในการทดลองทดสอบ ณ ทรูช้อป และทรูสเฟียร์ 11 สาขา ได้แก่ สยามสแควร์ซอย 2, ซอย 3, พารากอน, ดิจิทัลเกตเวย์, เซ็นทรัลเวิลด์, ไอคอนสยาม และเอ็มควอเทียร์ รวมทั้ง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 4 สถานี ได้แก่ วัดมังกร, สามยอด, สนามไชย และอิสรภาพ

นักวิชาการชี้ทุกค่ายเหนื่อยแน่

สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยว่า เอไอเอส ถือครองคลื่นความถี่ทั้งสิ้น 1450 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมากที่สุดในอุตสาหกรรม ขณะที่ ทรู ถือครองคลื่นความถี่รองลงมาคือ 1020 เมกะเฮิรตซ์ โดยการที่เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาบริการใหม่และสร้างรูปแบบการแข่งขันที่น่าสนใจขึ้นได้ โดยสิ่งที่เอไอเอสทำได้แล้วเป็นอันดับแรก คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

ขณะที่ดีแทคแม้ในการประมูลครั้งนี้จะได้คลื่นความถี่เพียง ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุด แต่เป็นการเข้าประมูลเพื่อรอการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป ซึ่งอาจประเมินว่า กสทช. จะนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2564

ส่วนผลการประมูลของแคทและทีโอที เชื่อว่าทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจน่าจะพอใจ โดยแคทที่ได้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุด จะช่วยต่อยอดคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ที่มีอยู่เดิม โดยต่อยอดจากโครงข่ายและอุปกรณ์เดิมที่มีอยู่ และเมื่อมองในระยะยาวจนถึงภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างแคทและทีโอที เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด หรือเอ็นที จะทำให้เอ็นทีมีคลื่นความถี่ครบทั้งคลื่นความถี่ย่านต่ำ กลาง และสูง

“หากการควบรวมกิจการเกิดขึ้นได้จริง แม้การแข่งขันในนามเอ็นทีอาจจะยังไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมได้ทันที แต่จะมีจุดเด่นที่มีโครงข่ายการสื่อสารแบบมีสายที่ครอบคลุม แต่ขณะที่รูปแบบและความต้องการของผู้บริโภคไปที่การสื่อสารไร้สาย ฉะนั้น เอ็นทีจึงควรมีคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์เพิ่มเติม ทั้งนี้ อาจจะมีการร่วมมือกับพันธมิตรที่ให้บริการโดยใช้ความได้เปรียบของการมีคลื่นความถี่ที่หลากหลายในมือพัฒนาบริการที่เหมาะสมและสร้างรายได้” สืบศักดิ์เผย

ขณะที่ วีระเดช พาณิชวิสัย ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัย บริษัท ไอดีซี (ประเทศไทย) ระบุว่า เอไอเอส สามารถชิงความได้เปรียบในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อย่างชัดเจน ขณะที่ ดีแทค โดยเทเลนอร์ กรุ๊ป อาจยังไม่ต้องการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากยังมองไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนจากการลงทุน หรืออาจมองว่า ราคาคลื่นความถี่ที่นำออกมาประมูลสูงเกินไป

ส่วนรัฐวิสาหกิจ 2 ราย คือ แคท และทีโอที ภายหลังการควบรวมกิจการ โดยนำคลื่นความถี่รวมกันจะส่งผลให้เอ็นที ถือครองคลื่นความถี่มากเป็นอันดับ 3 ในอุตสาหกรรม ฉะนั้น จึงต้องมีการวางแผนในการลงทุนด้านโครงข่าย และการทำการตลาด อีกทั้งคิดหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองหลุดจากภาพของการเป็นโอเปอเรเตอร์ ที่นำคลื่นความถี่ที่ตัวเองมีอยู่ ไปให้บริการกับโอเปอเรเตอร์รายอื่นเพื่อให้บริการต่อ

“คิดว่าหลังจากนี้โอเปอเรเตอร์ทุกรายคงต้องเหนื่อย และทำงานกันหนักมาก เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อตรึงรายได้ ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของไอดีซีประเมินว่า การลงทุนจากการประมูลคลื่นความถี่และการพัฒนาบริการ 5G ทำให้โอเปอเรเตอร์ต้องลงทุนเพิ่ม 50% ต่อปี ต่อเนื่องกัน 3-5 ปี ขณะที่ความสำเร็จของ 5G จะเกิดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการมีรูปแบบและแผนธุรกิจในการนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน 5G อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน” วีระเดชระบุ

อย่างไรก็ตาม จากนี้คงต้องติดตามว่า การประยุกต์ใช้ 5G จะสร้างประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ตามเป้าประสงค์ จนเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ช่วยต่อลมหายใจของรัฐบาลได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image