‘ฐากร’ ฝากการบ้าน ‘กรรมการ กสทช.’ ชุดใหม่ สานต่อการจัดระเบียบสายสื่อสาร-การนำสายสื่อสารลงดิน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ว่า การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. นี้มีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ คือ เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช., แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. กรณีเคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด, ปรับปรุงอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้มีสิทธิรับสมัครเข้ารับการสรรหา, ปรับปรุงลักษณะของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช., ปรับปรุงกระบวนการสรรหา คัดเลือก และแต่งตั้ง และเพิ่มการกำหนดให้กรรมการสรรหามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัย ปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับหลักการและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 30 วัน

นายฐากร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 โดย กสทช. เสนอปรับปรุงเพื่อให้การสรรหากรรมการ กสทช. เป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากก่อนหน้านี้กฎหมายดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2560 แต่พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก จึงต้องมีการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว

“เมื่อกระบวนการสรรหาเกิดขึ้นและได้กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ สิ่งที่อยากฝากถึงกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ คือ ให้เร่งดำเนินการการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดินทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับทุกหน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งก่อให้เกิดทัศนียภาพอันสวยงาม โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ส่วนตัวประเมินว่า ใช้เวลา 2 ปีน่าจะแล้วเสร็จ” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะนำเงินในอัตรา 15% ของรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ งวดแรกที่ได้รับจากผู้ชนะการประมูลหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว นำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) และนำเงินรายได้จากการประมูลที่หักค่าใช้จ่าย และเงินที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนดีอีแล้ว ส่งเข้ากระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกภายใน 15 วันก่อนวันเริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่ง กสทช. กำหนดเบื้องต้นให้เริ่มในวันที่ 1 เมษายน 2564 หรือจนกว่า กสทช. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท จำนวน 2 ใบอนุญาต มูลค่า 36,707.42 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 3,670.742 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 1 ใบอนุญาต ต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 1,835.478 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต 18,354.78 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

Advertisement

ขณะที่ คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ผู้ชนะการประมูลต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตเต็มจำนวนภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล ได้แก่ เอไอเอส จำนวน 12 ใบอนุญาต มูลค่า 5,719.15 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 8 ใบอนุญาต มูลค่า 3,826.32 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 ใบอนุญาต มูลค่า 1,920.65 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 2 ใบอนุญาต มูลค่า 974 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

“ส่วนรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกที่ได้รับจากผู้ชนะการประมูล ต้องรอมติเห็นชอบวงเงินเยียวยาให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ทั้งนี้ เอไอเอส ผู้ชนะการประมูล จำนวน 10 ใบอนุญาต มูลค่า 20,930.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 2,093.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาตแล้ว” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่เสร็จสิ้นแล้ว เห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วนโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการต่อยอดการใช้งาน 5G ในภาคอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เสนอแนวทางไว้ ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานร่วม ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ รวมถึงมีตัวแทนจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ทั้งนี้ มองว่า ควรให้ผู้ชนะการประมูลโดยได้รับใบอนุญาตรวมสูงสุดและรองลงมา ได้แก่ เอไอเอส จำนวน 23 ใบอนุญาต และทรู จำนวน 17 ใบอนุญาต เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image