กสทช.จัดประมูลคลื่นฯเข้าเป้า ไทยอาจได้ใช้ 5จี ก้าวลํ้านำอาเซียน : โดย ไพรัช วรปาณิ

ในที่สุด กสทช.ภายใต้การนำอัน “เข้มแข็ง” ของ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการ, พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์, รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กสทช.ด้านเศรษฐกิจ “มือดี” อีกทั้งเลขาธิการใหญ่ “คนเก่ง” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์, พลอากาศโท ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ รองเลขาฯ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาฯ ต่างได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่านต่างๆ จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ท่ามกลางบรรยกาศอันชื่นมื่น และสามารถนำเงินเข้ารัฐเป็นเงินจำนวนถึงแสนล้านบาทเศษ ถือว่าบรรลุเป้าระดับหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กุมพาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ ซึ่งจะยังผลทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้ใช้ระบบ 5จี ในไม่ช้านี้ เพื่อจะนำธงให้ประเทศไทยก้าวล้ำอาเซียนอย่างน่าชื่นชม

โดยสรุปผลการประมูลคลื่นความถี่ 700MHz, 2600MHz และ 26GHz ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการลุล่วงไปด้วยดีตามที่ กสทช.คาดการณ์ไว้ทุกประการ

ในการนี้ ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 5 รายด้วยกัน และมีการประมูลสู้กันอย่างดุเดือดเผ็ดมันตามกลเม็ด ประกอบด้วยบริษัท ดังนี้คือ…

บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN หรือ AIS)

Advertisement

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (dtac)

บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TruemoveH)

บริษัท ทีโอที จำกัด (TOT) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT Telecom)

Advertisement

จากการประมูลสู้รบแข่งขันกันอย่างดุเดือดของ 5 บริษัทดังกล่าว ผลปรากฏว่า

คลื่นความถี่ย่าน 700MHz จำนวน 3 ใบอนุญาตนั้น CAT ได้ไป 2 ใบอนุญาต และ AIS ได้ไป 1 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 51.460 ล้านบาท

คลื่นความถี่ย่าน 2600MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต AIS ได้ไป 10 ใบอนุญาต และ True ได้ไป 9 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 37.434 ล้านบาท

สำหรับคลื่นความถี่ 26GHz จำนวน 26 ใบอนุญาต AIS 12 ใบอนุญาต True 8 ใบอนุญาต TOT 4 ใบอนุญาต และ dtac 2 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 11.627 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันแล้วว่าคุณสมบัติของคลื่นความถี่ 700MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่ไว้สำหรับใช้ในการทำ 5จี ทำให้เกิดการส่งสัญญาณได้ไกลกว่านั่นเอง

ส่วนคลื่นความถี่ 2600MHz นั้นเป็นคลื่นความถี่หลักที่หลายประเทศนำมาใช้ทำ 5จี เช่นเดียวกัน

และเป็นที่น่าสังเกตว่า คลื่นความถี่ 26GHz หรือคลื่นแบบ mmWave ที่มีคุณสมบัติเป็นพิเศษนั้น ผู้ใดมีความต้องการสูงและได้แข่งขันเสนอราคาประมูลที่สูงกว่าก็คว้ากันไปตามความต้องการตามคาด โดยที่ดีแทคเองประกาศออกมาว่าได้ที่ช่วงความถี่กว่า 200MHz หรือ 2 ใบอนุญาต ส่วน AIS ได้มากสุดที่ 12 ใบอนุญาต รวมคลื่นกว่า 1,200 MHz ถือว่าประมูลได้เยอะที่สุดถ้ารวมกันไปแล้ว และที่เหลือเป็นของ TOT ได้ไปทั้งหมด 4 ใบ และ TruemoveH ไปทั้งหมด 8 ใบด้วยกัน ทั้งหมดรวมมูลค่ากว่า 11,628 ล้านบาท ซึ่งผิดคาดจาก กสทช.ที่จะมีการประมูลใบอนุญาตทั้งหมด 27 ใบอนุญาต แต่มีการประมูลกว่า 26 ใบอนุญาตเท่านั้น

สาเหตุที่คลื่นความถี่ 26GHz เป็นที่ต้องการของเหล่าผู้ร่วมประมูล ซึ่งต่างสนใจอยากจะได้ครอบครองกันมาก ทั้งนี้ ก็เพราะในคลื่นดังกล่าว เป็นคลื่นที่มีเทคโนโลยี mmWave จุดเด่นคือ คลื่น 26GHz หรือ mmWave เป็นคลื่นความถี่สูงที่มีคุณสมบัติพิเศษ เหมาะสำหรับการใช้งานความเร็วสูงสุดเพื่อรับส่งข้อมูลและสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลพร้อมทั้งมีความแม่นยำในการใช้งาน เพื่อรองรับนวัตกรรม 5จี ต่างๆ ในอนาคตได้อย่างแท้จริง โดยสามารถนำมาพัฒนาคอนเทนต์ร่วมกับการใช้ VR หรือ AR รวมถึงออกแบบบริการ 5จี เพื่อสาธารณสุขในที่ห่างไกล

เพื่อนๆ หลายคนที่อยากทราบว่า 5จี คืออะไร? และมีความสำคัญขนาดไหน? ไยจึงมีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของบรรดาประกอบกิจการหรือ Operator ทางโทรคมนาคมมากถึงขนาดนี้ ขอเรียนว่า 5จี คือเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 5 โดยถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก 4จี ซึ่งจะทำให้มนุษย์และอุปกรณ์ทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยคุณสมบัติอันวิเศษสุดของ 5จี ที่ให้ความเร็วเพิ่มมากขึ้น ความหน่วงหรือดีเลย์ลดน้อยลง อันจะทำให้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้เป็นจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5จี จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมต่างๆ ประโยชน์ของ 5จี นั้นไม่เพียงรองรับการใช้งานในอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ทว่ายังประโยชน์ให้กับสังคม ประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติอีกด้วย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแอพพลิเคชั่นและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และสามารถเชื่มต่อสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นตลอดจนการก่อเกิดประโยชน์ที่เรามองไม่เห็นอีกมากมายมหาศาล

ดังจะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ 4จี สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้สิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การมี VDO Streaming คุณภาพสูง หรือการ VDO call ข้ามประเทศ แต่เมื่อ 5จี เข้ามา จะทำสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมแน่นอน ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ความเร็วของ 5จี สูงกว่า 4จี ถึง 20 เท่า ในขณะเดียวกันก็มีความหน่วงหรือดีเลย์เพียง 1 มิลลิวินาที นอกจากนี้ยังสามารถรองรับอุปกรณ์ต่างๆ ได้จำนวนมากถึง 1 ล้านอุปกรณ์ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรอีกด้วย

ฉะนั้น แม้แต่การสาธารณสุขในโลกอนาคต มนุษย์จะสามารถรักษาโรคได้ข้ามซีกโลก และยังอาจสามารถศึกษาเรียนรู้ด้านการแพทย์ได้อย่างแม่นยำ โดยอาศัยเทคโนโลยีระบบ 5จี ดังกล่าว ทั้ง Smart Rescue Helmet ที่สามมารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในเบื้องต้นอย่างถูกวิธี จากคำปรึกษาแบบ Realtime ของผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจน VR Smart Suit ชุดอัจฉริยะ ที่วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของร่างกายได้ตามหลักสรีรศาสตร์ เพื่อป้องกันและรักษาอาการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำสูงสุด

สรุปความแล้ว หลังจากการประมูลครั้งนี้ก็ทำให้รู้ว่าผู้ประกอบการ Operator ทั้งหลายที่มาประมูลต่างพร้อมที่จะให้บริการเกี่ยวกับเครือข่าย 5จี กันอย่างเต็มที่ และคลื่นความถี่ที่ได้ก็มีการคิดพิจารณากันไปแล้ว แต่สุดท้ายการเปิดใช้งานเทคโนโลยี 5จี จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไหร่ ต้องลุ้นกันต่อไป แต่คาดว่าน่าจะภายในปี 2563 นี้เป็นอย่างช้า ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า บริษัทผู้ให้บริการของไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการให้เกิด 5จี ในประเทศไทยของเราภายใน 2563 นี้เป็นแน่ เพื่อทำให้ไทยมีเทคโนโลยีอันทัยสมัย ก้าวล้ำนำอาเซียนให้จงได้ อย่างน่าช่วยกัน “ลุ้น” สุดสุด… ว่าไหม?

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image