อาศรมมิวสิก โดย สุกรี เจริญสุข : ศิลปินแห่งชาติ สถาปัตยกรรม 2562 อุดมการณ์ไม่ตาย ชาตรี ลดาลลิตสกุล

ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณชาตรี ลดาลลิตสกุล เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ขณะที่บรรยายเรื่องวิกฤตการศึกษาดนตรีในสถาบันอุดมศึกษา ที่คณะจัดตั้งวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

“อาจารย์ครับ ผมได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติปีนี้ครับ ผมอยากบอกอาจารย์เป็นคนแรก ในฐานะที่ได้ร่วมงานกันมาเป็นเวลายาวนาน ผมได้ส่งงานที่เป็นสถาปัตยกรรมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ครับ ไม่ได้ส่งผลงานที่อื่นเลย ไม่ต้องการให้อาจารย์รู้จากคนอื่นก่อน” ต้นสายจากศิลปินแห่งชาติคนใหม่

จากคำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2562 สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรม โดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ซึ่งมีชื่อคุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ทำงานร่วมก่อสร้างกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เห็นว่าคุณชาตรีเป็นศิลปินที่มีคุณภาพสูง มีคุณธรรม มีจรรยาบรรณ มีอุดมการณ์และปรัชญาในการทำงาน ในการดำเนินชีวิต มีหัวใจที่แน่วแน่ หนักแน่นมั่นคง โดยมีชีวิตอยู่กับความงาม ความดี ความจริง ความถูกต้อง และสัจจะ

คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2501 ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มเรียนหนังสือที่จอมทอง และเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.4-5) ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของภาคเหนือ ต่อมาได้เข้าเรียนวิชาสถาปัตยกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล จะบอกตัวเองและบอกคนใกล้ชิดเสมอๆ ว่า “ผมภูมิใจมากที่เป็นคนบ้านนอก เพราะได้นำความเป็นบ้านนอกมาปรับใช้กับงานสมัยใหม่”

Advertisement

ผมได้ร่วมงานกับคุณชาตรี ลดาลลิตสกุล มาตั้งแต่ พ.ศ.2537 โดยคำแนะนำของสถาปนิกใหญ่ คุณครองศักดิ์ จุฬามรกต เพื่อนผู้ที่มีงานยุ่งทั้งชีวิต ในฐานะสถาปนิกใหญ่แห่งบริษัท แปลน อาคิเต็ค จำกัด ผมได้บอกความประสงค์จะหาสถาปนิกเพื่อออกแบบวิทยาลัยดนตรีแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งอาคารสถานที่ ออกแบบห้องเรียน ห้องฝึกซ้อมดนตรี ห้องรวมวง ห้องแสดงดนตรี ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงห้องแสดงดนตรีขนาด 300 ที่นั่ง และห้องแสดง 2,000 ที่นั่ง

เนื่องจากอาคารเรียนดนตรีในสถาบันการศึกษาของไทยไม่เคยมีการออกแบบมาก่อน สถาปนิกก็ไม่มีประสบการณ์ สถาปนิกไม่มีความรู้เรื่องระบบเสียงมากนัก แม้จะได้เรียนมาบ้างแต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะห้องเรียนดนตรีเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ห้องเรียนทุกห้องเสียงทะลุถึงกันหมด การทำห้องเก็บเสียง ห้องบันทึกเสียง เป็นการลงทุนสูง ระบบของวิถีคนไทยและราชการไทยจะไม่ลงทุนทำ

นอกจากนี้ เมืองไทยอากาศร้อน ห้องเรียนดนตรีต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศก็มีเสียงดัง ทำอย่างไรให้มีความเงียบ เสียงไม่รบกวน เมื่อรวมกันแล้วเป็นการลงทุนที่สูงมากเพื่อจะทำอาคารเรียนดนตรี เมื่อมีราคาแพงจึงเป็นปัญหา คนอนุมัติเงินงบประมาณไม่เข้าใจ จึงไม่มีใครลงทุน ไม่มีอาคารเรียนดนตรีที่ออกแบบโดยเฉพาะ การออกแบบอาคารเรียนดนตรีจึงเป็นองค์ความรู้ใหม่ของไทย

Advertisement

ห้องเรียนดนตรีโดยทั่วไป เป็นอาคารเรียนเก่า เป็นหอพักเก่า โรงอาหารเก่า ต่อเติมใหม่จากอาคารเดิม เป็นห้องที่อยู่ไกลจากอาคารอื่นๆ ทั้งนี้ เพราะมีเสียงดัง รบกวนวิชาเรียนอื่น ผู้คนรังเกียจเพราะหนวกหู แต่ก็ไม่มีอาคารใหม่ที่ออกแบบเพื่อเรียนดนตรี ที่มีระบบเก็บเสียงและติดเครื่องปรับอากาศ

ในการออกแบบอาคารเรียนดนตรี การสร้างวิทยาลัยดนตรีจึงเป็นเรื่องใหม่ ต้องหาเงินสร้างอาคาร ต้องหาสถาปนิกที่มีความตั้งใจเพื่อออกแบบอาคารดนตรี ต้องเรียนรู้ความจำเป็นและความต้องการด้วยกัน เพราะต้องมีทั้ง “สถาปนึกและวิศวกะ” ร่วมทำงานด้วย การพัฒนาให้ดนตรีเป็นวิชาที่มีเกียรติเชื่อถือได้ คือการออกแบบอาคารดนตรีให้ดูดี เป็นที่น่าเชื่อถือ อุปสรรคสำคัญคือ การหาสถาปนิกมาร่วมทำงานยาก เพราะคนว่าจ้างไม่มีเงินอยู่ในมือ พูดให้ใครฟังก็ไม่มีใครเชื่อ ถือว่าเป็นความเพ้อฝัน โม้เสียมากกว่า ขณะที่ “ดนตรีเป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน” ไม่มีเกียรติและเชื่อถือไม่ได้

“ไม่มีเงิน ผมก็ยินดีออกแบบให้ อาจารย์จะจ่ายให้ผมทีหลังก็ได้ แต่ห้ามอาจารย์แก้แบบผม” ซึ่งเป็นเงื่อนไขและข้อตกลงกันระหว่างผมกับคุณชาตรี ในการออกแบบอาคารภูมิพลสังคีต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นคำปฏิเสธที่สวยงาม เป็นข้อตกลงของสุภาพบุรุษโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย แต่อย่างน้อยก็ได้พยายามจนสุดฤทธิ์แล้ว

เมื่ออาคารถูกออกแบบเสร็จ ก็ส่งเอกสารไปยืนยันกับสำนักงบประมาณว่า “ได้มีแบบเรียบร้อยแล้ว” ซึ่งสามารถขอตั้งงบประมาณก่อสร้างได้ ความจริงก็ไม่ง่ายขนาดนั้น สถานที่ราชการต้องให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออกแบบ อาทิ กรมโยธาธิการ กองออกแบบของกรุงเทพฯ กรมศิลปากร เป็นต้น ในขณะนั้น ส่วนราชการยังไม่สามารถให้เอกชนออกแบบได้อย่างเสรี แม้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการออกแบบเองสุดจะเชย ล้าหลัง ไม่มีฝีมือ ไม่มีลายมือของสถาปนิก ที่แย่มากนั้นก็คือ การสร้างอาคารของราชการทั่วประเทศมีแบบเหมือนกันหมด โดยไม่คำนึงถึงภูมิศาสตร์หรือธรรมชาติเลย

คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ใช้ปรัชญานำการออกแบบ โดยมีความงามเป็นหัวใจนำทาง ใช้ความเป็นชาวบ้าน สร้างพื้นที่สีเทาขึ้น คือ กึ่งภายในกึ่งภายนอก จะเป็นข้างนอกก็ไม่ใช่ ข้างในก็ไม่เชิง ใช้จิตวิญญาณที่เป็นความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่อยู่เหนือกาลเวลา เนื่องจากคุณชาตรีมีพื้นเพเป็นชาวเหนือ ชอบดูงานของช่างไม้ ต้องการลายมือของชาวบ้านเพื่อจะบอกความเป็นชนบท ผสมผสานกับความเป็นโบราณ และสอดแทรกความเป็นสมัยใหม่ที่ใช้กระจกและเหล็ก ใช้แสงสัมพันธ์กับธรรมชาติทางสายตา ให้สายตามองแล้วสามารถเป็นเจ้าของพื้นที่ได้

คุณชาตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องของความเป็นสากล ความเป็นท้องถิ่น เรื่องของความเจริญและความพอเพียง ความยากจนกับความร่ำรวย ความเป็นตะวันออกที่แสวงหาความหลุดพ้น การมองดุลยภาพขององค์รวม การให้ความสำคัญของความรู้สึกกับความเป็นตะวันตก ที่เป็นการแบ่งแยกเฉพาะส่วน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะส่วน การใช้นวัตกรรมเป็นตัวกำหนด การก้าวข้ามมิติความแตกต่างและมิติของความเหมือน โดยอาศัยความกลมกลืนและความลงตัว “ที่พอดี”

คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ได้แสดงศักยภาพผ่านผลงานสถาปัตยกรรม โดยอุทิศผลงานให้กับความสวยงาม เมื่อฝรั่งทำงาน เขามีทุกฝ่ายให้การสนับสนุน ให้ความร่วมมือ สำหรับสถาปนิกไทย เมื่อคิดมาแล้วก็ไม่มีใครสนับสนุน ต้องทำงานคนเดียว “หนึ่งสมองและสองมือ” เพราะการทำงานมีปัจจัยที่ละเอียดอ่อน แต่ก็ไม่ควรยอมแพ้

ทั้งนี้ เพราะว่าสังคมเราไม่รู้จักตัวเราเองเพียงพอ เรามีความเป็นอื่นในตัวเรามากเกินไป เรายอมรับคนอื่น ชื่นชมความเป็นอื่น มากกว่าการยอมรับตัวเราเอง

อีกทรรศนะหนึ่ง คุณชาตรีเห็นว่าสถาปัตยกรรมควรจะสั่งให้อาคันตุกะหรือผู้ที่มาเยือนทั้งหลาย ทำความเคารพและทำตามคำสั่งของสถาปัตยกรรมได้ เช่น ให้ถอดรองเท้า ให้นั่ง ให้อยู่ในความสงบ ให้นั่งที่สำรวม หากเมื่อเราเคารพตัวเอง เราก็จะสร้างสถาปัตยกรรมที่สั่งให้คนอื่นทำตามได้ ซึ่งสถาปัตยกรรมในตะวันตกสามารถสั่งให้นักท่องเที่ยวทำความเคารพกับสถาปัตยกรรมได้

การซื้อความสำเร็จมาจากต่างประเทศ พ่อค้าจะทำเองฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากสถาปนิกด้วย อาทิ การสร้างบรรยากาศ อาคารอิตาลีที่เขาใหญ่ ไม่มีฝรั่งเขานับถือเราหรอก บ้านโรมันแถวบางบัวทอง การทำความเป็นอื่นในตัวเรา ทำไมเรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ เมื่อไหร่เราจะก้าวข้ามความเป็นไทยเสียที ความเป็นไทยที่ล้าหลังไม่พัฒนาหรือวิถีชีวิตที่เป็นแบบไทยๆ ตายไปแล้ว อดีตที่งดงามนั้นได้ตายไปแล้ว โดยที่ไม่สามารถย้อนหวนกลับมาอีก

สมัยใหม่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจากตะวันตกสามารถกลืนกินวิถีชีวิตเก่าไปหมดสิ้น แล้วทำไมปัญญาชนชาวสยามไม่พัฒนาภูมิปัญญาหรือคลี่ปรัชญาของชาวสยามให้ทันสมัยขึ้น เมื่อความงามในอดีตเป็นแบบไหน งดงามอย่างไร เราควรจะหยิบขึ้นมาสืบทอดต่อไปได้ เราต้องถอยเพื่อจะก้าวไปข้างหน้า อาทิ การออกแบบความงามเรื่องความสงบใช้แสงอาทิตย์ ความสงบด้วยสี ด้วยองค์ประกอบอันงามวิจิตร ความสว่างไสวของแสงท่ามกลางของธรรมชาติ

ความฉงนอยู่ที่ว่า ทำไมญี่ปุ่นออกแบบอาคารสมัยใหม่ได้ โดยยังคงความเป็นญี่ปุ่นลงตัว ความลับที่ซ่อนอยู่ในความงาม ความลับที่อยู่ในภาษาไทย อยู่ในลายมือไทย ช่องว่างในพื้นที่ว่าง แสงที่ลอดเข้ามาในช่องประตู ความรู้สึกของแสงหรือช่องว่าง เพราะว่าเราร่ำรวยแสงแดดและธรรมชาติ ทำไมเราไม่ทำ

ความบริสุทธิ์สูงสุดก็คือความงาม ความงามที่ไม่ประนีประนอม ความจริงที่มีต่ออุดมการณ์ เพราะอุดมการณ์ไม่เคยตาย ความดีและความถูกต้องอยู่หลังสุด ในการออกแบบนั้น จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม ระหว่างทางนั้นจะเป็นหน้าที่ของลายมือทางสถาปัตยกรรม การดำรงอยู่ของชีวิตก่อนที่จะจากไป เมื่อได้ทำผลงานไว้ช่างงดงามโดยไม่มีที่ติแล้ว มันจะต้องมีความเท่าเทียมอยู่ในตัว ซึ่งจะต้องมีศีลที่เสมอกันด้วย

ผมรู้สึกดีใจมากที่คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรม พ.ศ.2562 การได้ร่วมงานกันมา 26 ปี ไม่มีลูกค้าคนไหนที่ทำตามใจสถาปนิก สนับสนุนทุกรูปแบบ เพื่อให้สถาปัตยกรรมขลัง ผมมีหน้าที่ปลูกต้นไม้ที่ใช้ทำเครื่องดนตรีไว้รอบๆ อาคาร แม้จะถูกทัดทานว่า มันรก ทำให้มองไม่เห็นตึก ซึ่งผมก็บอกว่า ไม่อยู่ในข้อตกลง ในอาคารผมไม่แตะต้องอยู่แล้ว แต่นอกอาคาร เรื่องต้นไม้เป็นของผม

ผลงานและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่คือ การได้แสดงศักยภาพความเป็นเลิศทางสมอง ด้วยสติปัญญา ฝีมือ หัวใจ ความรักในงาน และความไม่ยอมแพ้ แม้ในเวลาน้ำท่วมปี พ.ศ.2554 คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ยังไปช่วยป้องกันน้ำท่วมจนรักษาพื้นที่เอาไว้ได้ เพราะกลัวงานสถาปัตยกรรมจะเสียหาย

ฝีมือของคุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ที่ฝากไว้กับแผ่นดินมี อาคารภูมิพลสังคีต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาคารโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อาคารรัฐสภา เกียกกาย ร้านขายขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั้ว บางคล้า

งานชิ้นล่าสุดคือโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ พุทธมณฑลสาย 2 เป็นห้องเรียนดนตรีสำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ ซึ่งเป็นลายมือของศิลปินแห่งชาติ ที่คนรุ่นหลังจะต้องศึกษาละเอียดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image