เดินหน้าชน : รับผิดชอบสังคม โดย นายด่าน

ครบ 2 เดือน กับอีก 3 วัน กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 นับตั้งแต่จีนออกมาประกาศการระบาดของไวรัสโคโรนาที่เมืองอู่ฮั่น ช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ปัจจุบันผู้เสียชีวิตและติดเชื้อทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตใกล้ทะลุ 3,000 คน ส่วนคนติดเชื้อ 80,000 กว่าคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน

ตัวเลขในไทยยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ข้อมูล 28 ก.พ.63) 41 ราย หายแล้ว 28 ราย และรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย

ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีวัคซีน หรือยารักษาได้โดยตรง ผู้คนยังหวาดวิตกกังวล

Advertisement

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา คือการตื่นตัว “รับผิดชอบต่อสังคม”

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้วกักตัวเองอยู่ในบ้าน ห้องพัก 14 วัน ตามข้อปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

คนเหล่านี้ต้องชื่นชม

Advertisement

เช่น กลุ่มบุคคลสาธารณะ ดารา นักแสดง หลายคนที่ยอมขาดรายได้จากงานต่างๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

แต่ถึงกระนั้น ยังมีอีกบางส่วนที่ไม่ได้ตระหนัก ส่วนหนึ่งอาจประมาท คิดว่าคงไม่เป็นไร คิดว่าคงไม่ติดไวรัสโควิด-19

อย่างกรณีของ “ปู่-ย่า” ที่เดินทางกลับจากฮอกไกโด ญี่ปุ่น แล้วไม่ได้ทำตามข้อปฏิบัติของ สธ.จนทำให้หลานชาย 8 ขวบ ติดเชื้อไวรัสไปด้วย

จนทำให้เกิดประเด็นดราม่า ถูกสังคมตำหนิว่าไม่มีความรับผิดชอบ

แต่หากมองอีกมุมกรณีดังกล่าวทำให้เกิดความตื่นตัวระแวดระวังเรื่องไวรัสโควิด-19 ในบ้านเราเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ออกมาตรการทั้งขอความร่วมมือ และห้ามข้าราชการ พนักงาน เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง

บางหน่วยงานของรัฐขู่ลงโทษทางวินัยหากไม่แจ้งให้ทราบก่อนเดินทางไป

การยกเลิกจัดงาน จัดอีเวนต์ต่างๆ ที่มีคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก

รวมทั้งการสั่งปิดสถานศึกษาที่มีนักเรียนเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน

เหล่านี้ถือเป็นมาตรการที่ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปให้ได้

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สธ. ได้ออกประกาศกระทรวง สธ.ให้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2029 หรือโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

สาระหลักของการออกประกาศเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย

ในประกาศได้อธิบายลักษณะอาการของโรคว่า “มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”

ประกาศฉบับนี้ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยได้กำหนดโทษปรับและจำคุกแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558

เช่น การกำหนดให้ประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด จะต้องรายงานแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยจะต้องให้ข้อมูลเป็นจริง หากไม่แจ้งจะมี “โทษปรับ 2 หมื่นบาท”

มาตรา 54 เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 40(2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 500, 000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง จะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกคน ที่จะช่วยกันป้องการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

และสิ่งสำคัญต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image