กรมพระศรีสวางควัฒนฯ บำเพ็ญกุศลอุปสมบท ‘พระนวกโพธิ’ ‘ไทย-อินเดีย’ สัมพันธไมตรีแน่นแฟ้น

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ บำเพ็ญกุศลอุปสมบท ‘พระนวกโพธิ’ ‘ไทย-อินเดีย’ สัมพันธไมตรีแน่นแฟ้น

องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน

ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว

หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว

ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร

Advertisement

องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร

โปรดหมู่ประชากร มละโอฆกันดาร

ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์

Advertisement

ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย

พร้อมเบญจพิธจัก- ษุจรัสวิมลใส

เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง

กำจัดน้ำใจหยาบ สันดานบาปแห่งชายหญิง

สัตว์โลกได้พึ่งพิง มละบาปบำเพ็ญบุญ

ข้าฯ ขอประณตน้อม ศิรเกล้าบังคมคุณ

สัมพุทธการุญ- ญภาพนั้นนิรันดร

ด้วยทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงตั้งพระทัยเสด็จไปยังดินแดนที่เป็นถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา เพื่อทรงเป็น “ประธานฝ่ายฆราวาส” ในโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่และปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระกุศลศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาส ครบรอบ 10 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ณ สาธารณรัฐอินเดีย และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ระหว่างวันที่ 15-23 กุมภาพันธ์ 2563

นับเป็นพระกุศลอันยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ “ราชวงศ์ไทย” เสด็จประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่และปฏิบัติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิ

โอกาสนี้ เสด็จยังพระอุโบสถวัดไทยพุทธคยา ตั้งอยู่ อ.คยา จ.มคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ทรงเป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีปลงผมนาค ทรงขลิบผมนาค ซึ่งเป็นบุคลากรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันการศึกษาจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จำนวน 44 ราย นำโดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นับเป็นพิธีมหามงคลที่บุคลากรทุกคนพร้อมใจบรรพชาอุปสมบทหมู่และปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระกุศล เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี สำนึกในพระกรุณาธิคุณขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยพระเมตตาและพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็ง และพัฒนาต่อยอดสู่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นที่พึ่งพิงและช่วยเหลือประชาชนยามเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาสให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล อีกทั้งธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามทางพุทธศาสนา นับเป็นโครงการที่มีความเป็นมงคลยิ่งทั้งต่อพระพุทธศาสนา ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

จากนั้น ทรงเป็นประธานพิธีบรรพชาสามเณร ณ มณฑลพิธีใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ วัดพระศรีมหาโพธิ์ อันเป็นสถานที่ “ตรัสรู้” ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทรงถวายผ้าไตรในพิธีบรรพชาสามเณรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ วัดพระศรีมหาโพธิ์
บรรพชาสามเณร ณ มณฑลพิธีใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
บรรพชาสามเณรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ในช่วงเช้าวันต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จทรงบาตรพระสงฆ์ 36 รูป และสามเณรนวกะ (บวชใหม่) 44 รูป ณ วัดไทยพุทธคยา แล้วเสด็จยังมณฑลพิธี ณ พระอุโบสถ ทรงเป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีมหามงคลอุปสมบทพระภิกษุ 44 รูป เป็นพระนวกโพธิอย่างสมบูรณ์

โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม, ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และเจ้าอาวาสวัดยานนาวา, พระธรรมปัญญาบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, พระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร, พระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล และ พระศรีโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล เป็นพระอุปัชฌาย์

ทั้งนี้ ผู้อุปสมบทได้นามฉายาต่อท้ายด้วยคำว่า “โพธิ” ซึ่งเป็นรูปแบบการให้ฉายาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่าผู้บวชได้มาประกอบพิธีบรรพชาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หนึ่งในสังเวชนียสถานทั้งสี่ ซึ่งนับเป็นความปีติของทุกคน อาทิ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ได้รับฉายาว่า “นิธิยานนฺทโพธิ” ผู้มีขุมทรัพย์เป็นเครื่องเพลิดเพลินยินดี, รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ฉายา “สุธีรโพธิ” นักปราชญ์ผู้มีปัญญาดี, นายชัยโรจ มุสิกะภุมมะ ที่ปรึกษา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฉายา “ภุมฺมชยโพธิ” ผู้มีชัยชนะในผืนแผ่นดิน, พล.อ.อนุศักดิ์ เผ่านาค ข้าราชการบำนาญ ฉายา “วีรเสนโพธิ” ผู้กล้าหาญแห่งกองทัพธรรม, น.ท.ฉกรรจ์ คันธชมภู หัวหน้าโครงการในพระองค์ สำนักประธาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฉายา “จิตฺตวรโพธิ” ผู้มีจิตอันประเสริฐ

การเสด็จมาอินเดียครั้งนี้ มิใช่เพียงเสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลเท่านั้น หากยังเสด็จมาทรงงานตามคำกราบทูลเชิญของสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทรงขลิบผมนาค
ปลงผมนาค
13 นาคถ่ายภาพร่วมกันหน้าพระอุโบสถวัดไทยพุทธคยา

แต่ก่อนที่จะเสด็จเข้าร่วมประชุมประจำปีกับสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงนิวเดลี ด้วยความตั้งพระทัยในการบำเพ็ญพระกุศล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จทรงบาตรพระสงฆ์ 36 รูป และพระนวกโพธิ 44 รูป อีกครั้ง ก่อนเสด็จเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือทบทวนผลงานที่ผ่านมา และจะทำแผนการดำเนินงานในอนาคต ในฐานะที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก

ซึ่งหลังจากนี้ พระนวกโพธิทั้ง 44 รูป เดินทางจาริกปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิในดินแดนพุทธภูมิ ซึ่งถือเป็นบ่อเกิดแห่งบุญบารมี โดยจาริกไปยังสังเวชนียสถาน 4 แห่ง และสถานที่สำคัญๆ อาทิ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ, พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้, พาราณสี สถานที่แสดงปฐมเทศนา และกุสินารา สถานที่ปรินิพพาน เปรียบเสมือนตามรอยพระบาทพระศาสดาด้วยพลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธาสุดจิตสุดใจ

วันสุดท้ายแห่งโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่และปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระกุศลฯ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังปรินิพพานวิหาร ณ สาลวโนทยาน สถานที่ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย ทรงกระทำประทักษิณในพระวิหาร 3 รอบ ถวายผ้าห่ม และสักการะองค์พระพุทธรูปปางปรินิพพานในพระวิหาร

แล้วเสด็จต่อไปยังมกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า ทรงกระทำประทักษิณรอบมกุฎพันธนเจดีย์ ทรงประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ทรงปิดทอง ทรงวางพวงมาลัย ทรงถวายผ้าไตร และทรงจุดธูปเทียนสักการะมกุฎพันธนเจดีย์

จากนั้น เสด็จไปยังวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ทรงปลูกต้นสาละ เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงเป็นประธานในพิธีลาสิกขา โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม, ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และเจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงหลั่งทักษิโณทก ผู้ลาสิกขาเข้าเฝ้ากราบพระบาทน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ

ทรงบาตร
ทรงหลั่งทักษิโณทก
ทรงสักการะพระพุทธรูปปางปรินิพพาน
ปรินิพพานวิหาร ณ สาลวโนทยาน สถานที่ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมืองกุสินารา
ลาสิกขาบท


สำหรับ “วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 5,050,000 บาท เป็นทุนปฐมฤกษ์ในการจัดสร้างพระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมราชศรัทธา อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์กลับคืนสู่แดนที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน โดยนำมาบรรจุไว้ ณ มหาธาตุเจดีย์แห่งนี้ เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบูรพมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์

ในการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงสักการะพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายในวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ทรงบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายพระราชบิดา

พระบรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 ในวัดไทยกุสินารา

และด้วยทรงห่วงใยสุขภาพของประชาชนไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้มีหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อตรวจรักษาพระภิกษุสงฆ์ คณะผู้ปฏิบัติธรรม รวมทั้งประชาชนในชุมชนใกล้เคียงวัดไทยพุทธคยา และวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ โดยมีพระสงฆ์และชาวอินเดียเข้ามารับบริการไม่ขาดสาย และต่างซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก

โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่และปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระกุศลฯ จึงมิเพียงเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐอินเดียทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม และสนับสนุนการเผยแผ่พระศาสนาของพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาลเท่านั้น ยังเป็นการเจริญความสัมพันธไมตรีด้านสาธารณสุขอีกด้วย

หน่วยแพทย์พระราชทาน

 


ชาวภารตะปีติ
‘ราชกุมารีมาไหว้พระ’
องค์แบบอย่างความศรัทธา

พระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล กล่าวว่า การเสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในครั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทั่วโลก ทุกชาติ ทุกศาสนา ให้ได้ประจักษ์พระเกียรติคุณ และความตั้งพระทัยของพระองค์อย่างสูงว่าทรงมีจิตเกื้อกูลต่อมวลมนุษยชาติ

“พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้กับคนไทยที่ได้รับชมจากสื่อไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาวอินเดีย ที่เมื่อทราบว่าพระองค์เสด็จมาที่นี่ ผู้คนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ราชกุมารีมาไหว้พระ’ เขาก็จะมีความปลื้มปีติว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ตั้งไว้ซึ่งความศรัทธา เป็นราชวงศ์ชั้นสูงของประเทศไทย ยังเสด็จมาแสวงบุญ ก็เป็นผลให้ชาวอินเดียมีความกระตือรือร้นในการที่จะดูแลศาสนสถานให้สะอาด ให้ดีงาม และการที่พระองค์เสด็จมา นอกจากพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระจริยวัตรอันงดงามแล้ว ยังได้เห็นความตั้งพระทัยในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ที่ได้พระราชทานหน่วยแพทย์มาดูแลคณะผู้บวช ผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งได้สร้างความมั่นใจให้กับคนทั้งหลายว่า ต่อไปมาอินเดียไม่ต้องกลัวลำบาก ขนาดพระองค์ยังเสด็จได้ คนทั้งหลายก็จะเห็นว่าการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกชนชั้น ทุกวรรณะ และวัดเองก็พลอยได้รับความอบอุ่น คนทั้งหลายเห็นว่าวัดมาพักได้ เกื้อกูลต่อวัด ต่อพระศาสนาได้”

“พระกรุณาธิคุณในการเสด็จมายังแดนพุทธภูมิครั้งนี้ ทรงทำให้คนทั้งหลายเชื่อมั่นว่า ธรรมะที่เราปฏิบัติช่วยจุนเจือให้เรานั้นมีความสุข และมีความสำเร็จได้จริง และการมาไหว้พระที่อินเดีย ทำให้เราใกล้ชิดพระรัตนตรัยด้วยตัวของเราได้จริง” พระธรรมโพธิวงศ์กล่าว

พระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา

10 ปี รพ.จุฬาภรณ์
วิทยาการรักษามะเร็งล้ำสมัย

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระกุศลในครั้งนี้ กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เปิดดำเนินการมาครบ 10 ปี ด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาเพื่อทรงช่วยประชาชนที่เจ็บป่วยยากไร้ เพื่อสานต่อพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยทรงให้ความสำคัญกับโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

“แรกเริ่มทรงตั้งพระทัยว่าให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่เปิดมาได้ 10 ปี เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็ง ต่อมาเมื่อคนไข้มากขึ้น ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงทรงมีพระดำริให้ขยายเป็นโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อที่จะช่วยประชาชนให้ได้ครบทุกเรื่อง พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะขยายโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้เพิ่มขึ้นอีก 400 เตียง จะเปิดให้บริการรักษาทุกโรคประมาณต้นปี 2565 และนอกจากทรงตั้งพระทัยให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้แล้ว ยังทรงตั้งพระทัยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างดีเยี่ยมให้เหมือนคนที่มีฐานะด้วย”

ศ.นพ.นิธิกล่าวอีกว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นนักวิจัยที่ทรงรู้เรื่องมะเร็งเป็นอย่างดี ทรงอยากช่วยคนไทยทุกระดับ และทรงอยากให้คนไทยได้รับการรักษาเหมือนต่างประเทศ

“เครื่องไม้เครื่องมือของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นอุปกรณ์ที่ดีเหมือนกับต่างประเทศ หรือดีกว่าในบางเรื่อง เพราะเรารู้ในเรื่องการวิจัยที่ก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ในด้านนี้อยู่ และอีก 1-2 ปีข้างหน้า เราจะมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการรักษามะเร็ง Heavy Particle Therapy ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งเฉพาะจุด มีผลข้างเคียงน้อย ถ้าเปรียบเป็นมีดผ่าตัดก็เป็นมีดผ่าตัดที่คมมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอความร่วมมือจากทั่วประเทศ เพราะมีแห่งเดียว และทุกคนสามารถมาใช้รักษาได้ โดยทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางในการดูแล

“พระองค์พระราชทานชื่อไว้แล้วว่า ศูนย์บำบัดรักษาโปรตอน-คาร์บอนแห่งชาติ ศรีสวางควัฒน”

จากปีแรกที่ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระยะเวลาเพียง 10 ปี การดำเนินงานของโรงพยาบาลก้าวหน้าทันสมัย

“เราได้ขยายการดำเนินงานไปอย่างรวดเร็ว ด้วยพระบารมีพระองค์ ทำให้เราทำได้ ซึ่งพระองค์ทรงมีความสุขที่ได้ช่วยประชาชน ทุกครั้งที่เสด็จไปตามต่างจังหวัด ประชาชนต่างชื่นชมโรงพยาบาล ก็ทรงปลื้มพระทัยที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ช่วยเหลือประชาชนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ตั้งพระทัยมาตลอด” ศ.นพ.นิธิทิ้งท้าย

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์
วิหารมหามายาเทวี สถานที่ประสูติ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image