เบื้องหลังคำสั่ง ม.44 ‘บิ๊กตู่’ แก้ปัญหากระทรวงหมอ

ภาพกราฟิกลิขสิทธิ์

จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2559 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเหตุขัดข้องบางประการ ทําให้เป็นอุปสรรคต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการของโรงพยาบาล จนต้องออกคำสั่งดังกล่าว

เกิดคำถามว่าเพราะเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จึงออกคำสั่งดังกล่าว จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตีความคำสั่งไปต่างๆนานา เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากประเด็นสมัย นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)ตรวจสอบการดำเนินงานของสปสช. ช่วงปีพ.ศ. 2557 โดยพบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

กล่าวคือ สปสช.จัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวให้แก่ทางโรงพยาบาล(รพ.)สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยจะเข้าบัญชีเงินบำรุงของ รพ. ซึ่งรพ.มีการนำไปใช้จ่ายตามความจำเป็น อาทิ ค่าตอบแทนการปฏิบัติการนอกเวลา ค่าตอบแทนภาระงาน ค่าสาธารณูปโภค พวกค่าน้ำค่าไฟต่างๆ รวมไปถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ให้บริการ หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ ยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินประสบอุบัติเหตุระหว่างนั่งในรถฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นต้น รวมถึงเงินค่าเสื่อม เพื่อซ่อมบำรุงสิ่งก่อสร้าง อาคารหอพักเจ้าหน้าที่ พยาบาล โดยมีการตีความว่าไม่สามารถนำเงินกองทุนบัตรทองไปใช้ได้ เพราะเงินบัตรทองต้องใช้ที่มีผลโดยตรงกับผู้ป่วย

จากปัญหาดังกล่าว สปสช. ได้มีการทำหนังสือชี้แจงในแต่ละข้อ สรุปคือ มีการตีความที่แตกต่างกัน เพราะสปสช.พิจารณาแล้วว่า ทั้งหมดมีผลต่อผู้ป่วยทั้งสิ้น อย่างค่าตอบแทนบุคลากรที่ทำงานล่วงเวลา ก็เพื่อให้บริการผู้ป่วยอยู่ดี หรือแม้แต่ค่าน้ำค่าไฟ อย่างหากถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ผู้ป่วยจะอยู่อย่างไร

Advertisement

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการสธ. ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ ได้มีการประชุมบอร์ดสปสช. และหารือกันว่า เห็นควรให้รพ.แต่ละแห่งใช้จ่ายเงินตามความจำเป็นก่อน โดยอาจต้องใช้เงินบำรุงที่มีร่วมด้วย ขณะเดียวกันระหว่างรอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ก็จะมีการหามาตรการรองรับ ซึ่งขณะนั้นมีการพูดกันแล้ว อาจขอใช้คำสั่ง คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้รพ.สามารถใช้จ่ายเงินตามความจำเป็นไปก่อน และไม่ต้องกังวลว่า จะขัดกับกฎหมาย

กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเวลา 6 เดือน จึงมีคำสั่งคสช. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมุ่งเน้นในแง่การบริหารจัดการให้ราบรื่น ลดอุปสรรคนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อคิดเห็นว่า จริงๆแล้วคำสั่งดังกล่าว หากพิจารณาดีๆ ย่อมสะเทือน สปสช.ไม่ใช่น้อย เนื่องจากการให้อำนาจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการออกเงื่อนไข เกณฑ์การจ่ายเงินต่างๆ เปรียบเท่ากับเป็นการลดอำนาจของ สปสช.เช่นกัน และจะนำไปสู่การแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพราะอย่าลืมว่าตลอด14-15 ปีที่ผ่านมา ฝั่งสธ. แทบไม่สามารถมีบทบาทอะไรต่อสปสช.ได้เลย

Advertisement

ปิยะสกล เลือกเลขา สปสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image