‘ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ’ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดแผนลุยรถไฟฟ้าทั่วประเทศ

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

หมายเหตุนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

⦁ปัจจุบันมีโครงการใดที่ดำเนินการอยู่ และใกล้จะแล้วเสร็จบ้าง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับส่วนขยายของสายสีน้ำเงินเดิม ปัจจุบันวิ่งจากสถานีเตาปูนมายังสถานีหัวลำโพง โดยได้มีการเปิดส่วนต่อขยายไปบางส่วนแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ในส่วนต่อขยายทางด้านทิศใต้ จากสถานีหัวลำโพงไปถึงสถานีวัดมังกร ย่านเยาวราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปยังสถานีฝั่งธนบุรี ก่อนจะเป็นสถานียกระดับที่ท่าพระ และสิ้นสุดปลายทางที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค หรือสถานีหลักสอง ส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือ ตั้งแต่สถานีเตาปูนเป็นต้นไป เริ่มทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีแล้วในต้นปี 2563 ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปลายเดือนมีนาคมนี้
ส่วนที่ต่อจากสถานีเตาปูน ยกระดับข้ามแม่น้ำเข้าพระยาบริเวณท่าน้ำบางโพธิ์ เลี้ยวเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์  วิ่งเหนือถนนเส้นจรัญสนิทวงศ์ จนมาบรรจบกับถนนเพชรเกษม บริเวณสี่แยกท่าพระ ก่อนจะบรรจบกับสถานีส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ ซึ่งจะทำให้เส้นทางสายสีน้ำเงินเป็นรูปเลข 9
อีกเส้นทางที่ รฟม. มีส่วนร่วมในการดำเนินงานก่อสร้าง เป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยรับผิดชอบในส่วนของงานโยธา ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทางด้านทิศใต้ จากสถานีแบริ่ง เป็นสถานีปลายทางของกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการไว้ ต่อขยายไปจนถึงปลายทางที่สถานีสมุทรปราการ ส่วนนี้กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และเปิดส่วนต่อขยายจนถึงสถานีสมุทรปราการ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 และมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือ สถานีหมอชิต วิ่งไปตามแนวถนนพหลโยธิน สิ้นสุดที่สถานีคูคต มีการทยอยเปิดให้บริการโดยกรุงเทพมหานครล่าสุดเปิดให้บริการ 4 สถานี จนถึงแยกเกษตร ส่วนสถานีอื่นๆ จะทยอยเปิดตามลำดับ
อีกเส้นที่กำลังก่อสร้างอยู่ เป็นสายสีส้มส่วนตะวันออก จะมีแนวเส้นทางก่อสร้างจากมีนบุรี วิ่งมาตามถนนรามคำแหง จนถึงสี่แยกหัวหมาก เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 9 ผ่านหน้าสำนักงาน รฟม. สิ้นสุดปลายทางตะวันออกที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม เป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนความคืบหน้าของงานโยธาก่อสร้างแล้วกว่า 50% และอยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนที่จะร่วมลงทุน จะรับผิดชอบงานก่อสร้างของสายสีส้มตะวันตก อยู่ระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน น่าจะประกาศซื้อซองประมาณปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมนี้
อีก 2 สายเป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล สายสีชมพูและสีเหลือง สายสีชมพูเริ่มต้นจากศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี บริเวณแยกแคราย วิ่งตามถนนติวานนท์ จนบรรจบกับถนนแจ้งวัฒนะที่ห้าแยกปากเกร็ด ข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนจะสิ้นสุดที่แยกหลักสี่ และวิ่งยาวตามถนนรามอินทรา ก่อนจะไปจบปลายทางที่ย่านมีนบุรี ความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 60% ถือว่าเร็วกว่าระบบเฮฟวี่เรลของสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางตามสัญญาร่วมทุน จะเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่สถานี    สี่แยกรัชดาลาดพร้าว วิ่งไปตามถนนลาดพร้าว ไปยังฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ผ่านจุดตัดแยกลำสาลี เลี้ยวขวาเข้าถนนศรีนครินทร์ ยาวเข้าถนนบางนาตราด ไปสู่จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนจะเลี้ยวขวาแยกเทพารักษ์ และบรรจบกับสถานีย่านสำโรง เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ก่อสร้างไว้ ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 60% เท่ากับสายสีชมพู เพราะเริ่มโครงการในช่วงเวลาเดียวกัน และเป็นระบบโมโนเรลเหมือนกัน

⦁เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะแล้วเสร็จในช่วงใด
ยังคงเป้าหมายโครงการจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 ทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ส่วนสายสีส้มที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของส่วนตะวันออก ส่วนตะวันออกมีเป้าหมายจะเปิดให้เดินรถในช่วงปลายปี 2567 ส่วนตะวันออกงานก่อสร้างยังไม่ได้เริ่ม รอเอกชนผู้ร่วมลงทุนจะเข้ามาดำเนินการ มีเป้าหมายเปิดเดินรถล่าช้าออกไป 2 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569
นอกจากนี้ ยังมีโครงการอยู่ในกรุงเทพมหานครอีก 1 โครงการคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ เส้นทางจะเริ่มจากจุดเชื่อมของสายสีชมพูและสายสีม่วง ที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี แยกแคราย วิ่งตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านหน้าตลาดพงษ์เพชร ผ่านหน้าถนนวิภาวดีรังสิต มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ต่อเนื่องด้วยถนนเกษตรนวมินทร์มีเสาตอม่อของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วางไว้อยู่เดิม แนวเส้นทางจะซ้อนทับกับทางด่วนเกษตรนวมินทร์ของ กทพ. เส้นทางจะแยกออกจากถนนนวมินทร์ ตรงผ่านแยกลำสาลี จุดปลายทางจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะเป็นสถานีเชื่อมต่อใหญ่เช่นกัน ต้นทางและปลายทางจะเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสาย 3 เช่นกัน เนื่องจากโครงการจำเป็นจะต้องดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกับโครงการทางด่วนของ กทพ. เกษตรนวมินทร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2570
ยังมีอีก 1 โครงการคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงต่อขยายจากเส้นทางปัจุบันที่ให้บริการอยู่ ในเส้นทางคลองบางไผ่ ปลายทางแยกเตาปูน ส่วนต่อขยายจะเป็นเส้นทางใต้ดิน สถานีแรกบริเวณย่านเกียกกาย ต่อเนื่องถนนพระสุเมรุ ผ่านแยกผ่านฟ้า จนลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ไปฝั่งธนบุรี วงเวียนใหญ่ ถนนตากสิน และไปยกระดับย่านดาวคะนอง เชื่อมต่อกับถนนสุขสวัสดิ์ บรรจบกับแยกต่างระดับถนนกาญจนาภิเษก โดยเรียกว่าเป็นโครงการสายสีม่วงใต้ อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ เพราะออกแบบเรียบร้อยแล้ว น่าจะเริ่มประกวดราคาได้ภายในช่วงกลางปีนี้ และมีแผนเปิดเดินรถในเดือนมีนาคม 2570

⦁รฟม.มีโครงการรถไฟฟ้าขนส่งระหว่างจังหวัดบ้างหรือไม่
ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการรถไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค 4 เมือง จากเป้าหมายตามแผนพัฒนาทั้งหมด      6 เมือง ได้แก่ 1.ภูเก็ต 2.เชียงใหม่ 3.นครราชสีมา 4.พิษณุโลก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินการ ส่วนอีก 2 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่นและอุดรธานี รฟม.ยังไม่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม
ในส่วนของที่ได้รับมอมหมายมาแล้ว 4 โครงการ แบ่งเป็นภูเก็ตถือว่ามีความคืบหน้าตามลำดับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ รฟม. ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ       (พีพีพี) และ ครม.ต่อไป ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ    สิ่งแวดล้อม เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ        (อีไอเอ) ซึ่งอาจล่าช้ากว่าภูเก็ต 2 เดือน
ถัดมาเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนที่นครราชสีมา จะล่าช้ากว่าภูเก็ต 1 เดือน เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ และการพิจารณาของคณะกรรมการพีพีพี รวมถึงการศึกษาอีเอไอด้วย ส่วนพิษณุโลก ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบออกมา จึงอยู่ในระหว่างการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่จะมาทำรายละเอียดเพิ่มเติมตามคณะกรรมการพีพีพีและอีไอเอต่อไป โดยประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ภูเก็ตก่อน

Advertisement

⦁การพัฒนาระบบขนส่งทางราง จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร ส่งผลกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากการจราจรคับคั่ง ทำให้การเลือกจัดงานแสดงสินค้าหรืองานการประชุมขนาดใหญ่ เปลี่ยนเป้าหมายไปจัดที่ประเทศสิงคโปร์แทน เพราะปัญหาการจราจร ทำให้การที่ภาครัฐมีนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ เป็นเรื่องของการขนส่งคน อดีตที่ผ่านมาการเดินทางพึ่งพารถยนต์ ทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะเป็นหลัก จึงไม่สามารถคลี่คลายการขนส่งคนให้เดินทางได้ตรงเวลา การมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี จะเป็นการส่งเสริมการเดินทางให้ดีขึ้น ตรงเวลามากขึ้น ไม่ต้องเผื่อเวลาในการออกเดินทางล่วงหน้ามากเหมือนในปัจจุบัน
ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพของกรุงเทพฯ ในการเป็นเวทีติดต่อสื่อสาร การจัดงานประชุม หรือมหกรรมขนาดใหญ่ เพราะระบบขนส่งมวลชนจะมีการเชื่อมต่อระหว่างสนามบิน ทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง ที่จะเข้ามาในเมืองได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถเชื่อมต่อย่านธุรกิจทั้งเก่าและใหม่ได้ดีมากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าย่านธุรกิจขยายตัวครอบคลุมในหลายพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จะทำให้ย่านธุรกิจเหล่านี้เชื่อมต่อกันในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นส่วนส่งเสริมสภาพเศรษฐกิจ ในเมื่อประชาชนมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น สามารถใช้เวลาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้น ในทุกระดับของสังคม ตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงวัยทำงาน จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งหมด ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาได้มากขึ้น เพราะมีระบบสาธารณะที่ดี และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นกรุ๊ปทัวร์ สามารถเดินทางมาเองพร้อมครอบครัว (เอฟไอที) ได้ง่ายขึ้น เหมือนกับการเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากรุ๊ปทัวร์ แต่สามารถไปเองได้ ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเพิ่มสภาพคล่องมากขึ้น เพราะการหมุนเวียนของเม็ดเงินตั้งแต่มือแรกจนถึงมือสุดท้าย มีการหมุนรอบของการใช้เงินกว่า 10 รอบ ทำให้เชื่อว่าหากการหมุนรอบของเงินคล่องตัวขึ้น ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย น่าจะสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

⦁จะช่วยให้เกิดการจ้างงานมากน้อยเท่าใด
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะเมื่อมีอาคารสำนักงานมากขึ้น โครงการก่อสร้างต่างๆ ก็จะต้องจ้างงานเพิ่มเติมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือไม่ใช่ที่อยู่อาศัยก็ตาม การพัฒนาเมืองนอกเหนือจากแนวราบ จะเพิ่มความจุของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการจ้างงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยเหล่านั้นแน่นอน

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image