นอกลู่ในทาง : บริษัทที่ควรรัก

สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็เป็นอย่างที่รู้ๆ กันทำให้ไม่แปลกใจเมื่อเห็นข่าวเกี่ยวกับการปรับลดพนักงานของบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง แต่มาสะดุดตรงชื่อโครงการ “จากด้วยใจ”

อะไรคือ “จากด้วยใจ”

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ชี้แจงว่า จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก และส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาทำให้บริษัทต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีทางเลือก บริษัทจึงเปิดโครงการ “จากด้วยใจ” ให้แก่พนักงานรับเหมาช่วง เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก โดยจะได้รับเงินชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน และบริษัทจะพิจารณาจ่ายเงินเพิ่มเติมพิเศษให้ด้วย

Advertisement

ถึงบรรทัดนี้ยังไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรพิเศษหรือแตกต่างไปจากโครงการทำนองเดียวกันของบริษัทอื่นๆ กระทั่งย่อหน้าสุดท้ายที่บอกว่า

“หากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ดีขึ้น บริษัทยินดีที่จะรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก โดยยังคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะนับอายุงานต่อเนื่องด้วย”

“โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย” ย้ำทิ้งท้าย

Advertisement

ไว้ด้วยว่า ตลอด 50 กว่าปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงานออกแต่อย่างใด ทั้งยังคงมีความมั่นใจว่า ประเทศไทยจะยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ต่อไป

ประมาณว่าถ้าทุกอย่างดีขึ้น ค่อยกลับมาใหม่ สัญญาว่าทุกอย่างจะยังเหมือนเดิม (นะ)

จะจากด้วยใจ หรือ “จำใจให้จาก” ก็ว่ากันไป

มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เชื่อว่าบริษัทเองก็เช่นกัน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องถือว่าการบริหารจัดการของบริษัท (จากคำชี้แจง) ชัดเจน ตรงไปตรงมา และ (ดู) จริงใจกับพนักงาน สมชื่อโครงการ “จากด้วยใจ”

ถ้าจากกันด้วยดี การจะกลับมาร่วมงานกันใหม่ก็ดูจะเป็นไปได้ด้วยกันทั้งคู่

เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้ทำให้หลายคนมีคำถามในใจ…ถัดจากนี้จะมีบริษัทอื่นอีกไหม และใครเป็นรายต่อไป

ใช่หรือไม่ว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้เราเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องบริษัทผลิตชอล์คแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

อ.เกตุวดี นักเขียนชื่อดังและเจ้าของเว็บไซต์ดังที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น www.marumura.com เล่าไว้ในนิตยสารซีเคร็ต

บริษัท นิฮง ริคะงะขุ เป็นบริษัทผลิตชอล์กเล็กๆ ที่คนญี่ปุ่นรู้จักในฐานะบริษัทผลิตชอล์กไร้ฝุ่นอันดับหนึ่ง

70% ของพนักงานในบริษัทเป็น “คนพิเศษ”

หลังดำเนินธุรกิจมา 22 ปีแล้ว “โอยาม่า คาซุฮิโร” ผู้บริหารของบริษัทได้รับการติดต่อจากคุณครูในโรงเรียนสอนผู้ทุพพลภาพว่าต้องการให้นักเรียนมีโอกาสมาทำงานที่บริษัท หลังจากเรียนจบ

คุณครูเห็นว่าการทำชอล์ก ไม่น่าจะมีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากเกินความสามารถของลูกศิษย์ของเธอ

เธออยากให้ลูกศิษย์มีโอกาสใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ทำงาน และช่วยเหลือตนเองได้

ตอนแรก คุณโอยาม่าปฏิเสธ เพราะกลัวว่าเด็กๆ จะทำงานไม่ได้ จะด้วยความเห็นใจหรืออะไรก็แล้วแต่ ในที่สุด บริษัทตัดสินใจรับเด็กมาลองฝึกงานก่อน 2 อาทิตย์

โรงเรียนส่งนักเรียนมา 2 คน เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 15 และ 17 ปี

วันแรก พนักงานกลัวว่า เด็กๆ จะไม่สนใจทำงานหรือไม่เข้าใจสิ่งที่สอน แต่ปรากฏว่าเด็กทั้งคู่มีสมาธิจดจ่อและตั้งใจทำงานมากจนไม่ได้ยินเสียงกริ่งพักกลางวันด้วยซ้ำ

พนักงานทุกคนต้องปรับวิธีการสื่อสาร และวิธีการผลิต เช่น ขั้นตอนการผสมชอล์ก เพราะทั้งคู่ไม่เข้าใจเรื่องตัวเลขบนถ้วยตวง และไม่รู้ว่าจะใช้ถ้วยตวงแบบไหน สอนกี่ครั้งก็ยังจำไม่ได้

จนมีพนักงานคนหนึ่งสังเกตว่า เด็กๆ นั่งรถไฟมาลงที่สถานี และเดินมาโรงงานได้ แปลว่าเด็กๆ รู้วิธีข้ามถนน รู้จักสัญญาณไฟจราจร จึงลองเปลี่ยนฝาภาชนะใส่ผงชอล์กกับถ้วยตวงให้เป็นสีต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น

เมื่อการฝึกงานจบลง พนักงานทั้งโรงงานขอให้รับเด็กสาวทั้งคู่เป็นพนักงานประจำ โดยสัญญาว่าจะช่วยดูแลพวกเขาเอง

ตอนแรก คุณโอยาม่าไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้ทุพพลภาพต้องมาทำงานในเมื่อที่ญี่ปุ่น มีสถานรับเลี้ยงดูพวกเขา เด็กๆ จะได้เล่นเกม ได้เจอเพื่อน และน่าจะมีความสุขกว่าการนั่งรถไฟแน่นๆ เพื่อมาทำงานทุกวัน

เมื่อพระรูปหนึ่งได้ฟังเรื่องนี้ ท่านบอกคุณโอยาม่าว่า “มนุษย์จะรู้สึกมีความสุขมากก็ต่อเมื่อ ได้รับความรัก ได้รับคำชมจากผู้อื่น รู้สึกว่าตนเป็นที่ต้องการของผู้อื่น และมีประโยชน์แก่ผู้อื่น”

ความสุขของเด็กๆ จึงไม่ไช่การอยู่ดีกินดี ได้เล่นไปวันๆ แต่คือการได้รับความรัก และรู้สึกว่าตนมีค่า

ตั้งแต่นั้นมา บริษัทรับผู้ทุพพลภาพทางสติปัญญาเข้ามาทำงานด้วยทุกปี โดยปรับกระบวนการทำงานทุกจุดให้เรียบง่ายเพื่อให้พนักงานเข้าใจ และปฏิบัติตามคำสั่งได้

เมื่อทำได้ ก็จะได้รับคำชื่นชม ทุกเย็นหลังเลิกงาน คุณโอยาม่าจะพูดกับพนักงานทุกคนว่า “วันนี้ขอบคุณมากนะ”

เด็กๆ ยิ้ม และแสดงท่าทีดีใจทุกครั้งที่ได้รับคำชม

คุณโอยาม่าบอกว่า “เข้าใจแล้วว่า บริษัทต้องเป็นสถานที่ที่สร้างกำไร ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขด้วย”

ตั้งแต่มีพนักงานพิเศษเข้ามาร่วมงาน พนักงานในบริษัทต่างรักใคร่ และช่วยเหลือกันมากกว่าเดิม และนั่นทำให้ผลผลิตของบริษัทดีขึ้นด้วย

พนักงานพิเศษที่อยู่มานานๆ หากมีความสามารถจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม ฝึกสอนน้องๆ พนักงานพิเศษที่เพิ่งเริ่มมาทำงาน

ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานทั้งหมด 73 คน เป็นผู้ทุพพลภาพทางสติปัญญา 53 คน

เด็กหญิงสองคนที่เข้ามาทำงานตั้งแต่แรก คนหนึ่งทำงานจนถึงอายุ 65 ปี อีกคนทำงานถึง 68 ปี

บริษัทที่ควรรักเป็นแบบนี้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image