ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่ 35 รายยอดสะสม 212 ราย

สธ.ยืนยันไทยพบผู้ป่วยโควิด-19ใหม่ 35 ราย รวมสะสม 212 ราย

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

นพ.สุวรรณชัย แถลงว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย รวมสะสม 42 ราย อยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) จำนวน 169 ราย มีอาการหนัก 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย สรุปรวมผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 212 ราย และในวันนี้พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มใหม่ 35 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่พบจากการสอบสวนโรค มีประวัติและมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยหรือสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 29 ราย มีรายละเอียด ดังนี้ 1.เกี่ยวข้องกับสนามมวย จำนวน 13 ราย เป็นผู้ชมจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) จ.ขอนแก่น จ.สมุทรปราการ จ.เชียงใหม่ จ.สุโขทัย จ.นครราชสีมา จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด 2.เกี่ยวข้องกับสถานบังเทิงย่านทองหล่อ จำนวน 4 ราย 3.ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสผู้ป่วยที่มีรายงานก่อนหน้านี้ จำนวน 12 ราย ในจำนวนนี้มาจากกลุ่มสังสรรค์ กลุ่มสนามมวย และกลุ่มเพื่อนร่วมงาน

Advertisement

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่จำนวน 6 ราย ได้แก่ 1.ผู้เดินทางกลับจากประเทศกัมพูชา 1 ราย 2.ผู้ทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศ 4 ราย ได้แก่ พนักงานต้อนรับ บริกร นิติคอนโดมิเนียม และมีผู้ป่วยที่รอการยืนยันสอบสวนโรค 1 ราย

ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนที่เข้าไปที่สนามมวยสุมพินีและสนามมวยราชดำเนิน ในวันที่ 6 มีนาคม และผู้ที่เข้าไปยังสนามบันเทิง ร้านอาหารยามค่ำคืน ในระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สธ.พบผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ขอให้กลุ่มคนเหล่านี้ดูแลเฝ้าระวังตนเอง เป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการป่วยให้รีบเข้าพบแพทย์ในสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ฟรี หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยมีอาการหนักได้รับรายงานเพิ่ม จำนวน 2 ราย จาก จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ ผู้ป่วยรายที่ 1 เป็น ชายไทย อายุ 49 ปี เริ่มป่วยวันที่ 8 มีนาคม ด้วยอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ต่อมาตรวจพบว่ามีปอดอักเสบ การทำงานของไตผิดปกติ ขณะนี้รักษาอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต รพ.ใน จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ในสภาวะใส่ท่อช่วยหายใจ เตรียมล้างไตและได้รับยาต้านไวรัสแล้ว
ผู้ป่วยรายที่ 2 เป็น ชายชาวเบลเยียม อายุ 67 ปี เดินกลับมาจากประเทศเบลเยียม ตรวจพบปอดอักเสบ และมีภาวะมีวิกฤตระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARDS) ขณะนี้ใส่ท่อช่วยหายใจและได้รับยาต้านไวรัสแล้ว รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ใน จ.เพชรบูรณ์ ส่วนอีก 1 ราย เป็นผู้ป่วยรายเก่าที่รักษาอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งแพทย์ให้การรักษาอย่างใกล้ชิด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่ประชาชนสนใจคือ ประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเชีย ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมา และมีคนไทยส่วนหนึ่งไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาแล้วเดินทางกลับมายังประเทศไทย ภาพโดยร่วมของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศมาเลเชีย ขณะนี้มีผู้ที่เดินทางผ่านช่องทางเข้า-ออกผ่านพรมแดนจากประเทศมาเลเชีย ติดตามได้แล้วจำนวน 89 ราย ได้แก่ จ.สงขลา จ.สตูล จ.ตรัง จ.พัทลุง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส พบว่ามีอาการป่วย 11 ราย จาก 89 ราย และได้เก็บสิ่งส่งตรวจไปแล้ว พบผู้ติดเชื้อไวรัส 2 ราย ทั้งนี้ไดติดตามผู้สัมผัสครบ 14 วันแล้ว จำนวน 54 คน ที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ดังนั้น สธ.โดยรัฐบาลได้มีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการที่รองรับ ที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ 1.เพิ่มบุคลากรที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อรองรับปริมาณของคนที่จะเดินทางกลับจากช่องทางเข้า-ออกจากประเทศมาเลเชียที่เป็นด่านพรมแดน 2.เพิ่มอุปกรณ์ เช่น อุปกรณ์เก็บอย่าง วัสดุป้องกันโรค เภชภัณฑ์ 3.พื้นที่จังหวัดชายแดน ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ12 ได้จัดเป็น หอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (Cohort ward) รวมถึงหาสถานที่กักกันที่ร่วมกับหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในพื้นที่ กรณีที่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากขึ้น 4.สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนเข้าใจเพื่อความตระหนักในการป้องกันตนเอง ไม่ให้เกิดความตระหนก 5.ใช้มาตรการทางสังคมร่วมกับกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคซึ่งสอดรับกับมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการครอบคลุมการคัดกรองไปยังกลุ่มคนและสถานที่ที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นระบาด สอดคล้องกับการรายงานการสอบสวนโรค ที่พบว่าผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว วัยทำงาน มีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ไปยังสถานที่คนแออัด มีกิจกรรมสังสรรค์ ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่กักกันตนเอง ทำให้นำเชื้อไปติดในครอบครัวและเพื่อน และที่สิ่งสำคัญคือ โรคโควิด-19 มีความรุนแรงในกลุ่มบอบบาง อาทิ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนมีโรคประจำตัว ดังนั้นถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ การระบาดของโรคก็จะมีการขยายวงไปสู่ภาวะที่เราควบคุมโรคได้ยากลำบาก ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ สธ. อย่างเคร่งครัด 1.เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร 2.สวมหน้ากากอนามัย 3.ล้างมือบ่อย 4.งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น 5.หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ 6.รับประทานอาหารปรุงสุก แยกสำรับอาหาร ใช้ช้อนกลางส่วนตัว” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลก 161 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ พบผู้ป่วยยืนยัน 194,582 ราย ผู้ป่วยรายหนัก 6,730 ราย รักษาหาย 81,080 คิดเป็นร้อยละ 41.7% ประเทศที่พบผู้ป่วยจำนวนมากคือ ประเทศอิตาลี 3,500 ราย ประเทศฝรั่งเศส 1,200 ราย ยอดผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สะสม 7,546 ราย เพิ่มจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคมจำนวน 501 ราย กลุ่มที่กลับจากอิตาลีขณะนี้ได้เข้ากักกันที่ท่าทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 83 ราย มี 6 รายที่รับตัวไว้ใน รพ. ทั้งหมดไม่มีไข้และไม่พบเชื้อ ต้องเฝ้าระวังให้ครบ 14 วัน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image