‘สมคิด’ เชื่อศักยภาพ สธ.ลดความเหลื่อมล้ำคนจน ลั่นหมอเก่ง แค่อย่าทะเลาะกัน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บรรยายเรื่อง”กระทรวงสาธารณสุขกับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ”ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข วาระพิเศษ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม โดย นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ ในระยะสั้นจะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจประเทศทรุดลง ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานช่วงเดือนกันยายน ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็พยายามออกมาตรการต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำงานค่อนข้างหนัก แต่ก็สามารถขยับค่าจีดีพี (ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) จากเดิมไตรมาสสุดท้าย 2.8% ขึ้นเป็น 3.2% ของไตรมาสแรก ซึ่งสวนกระแสโลกได้

นายสมคิด กล่าวว่า ที่ผ่านมาพวกเราหลอกตัวเองมาตลอดว่า ไทยเป็น middle income แต่ตนมองว่า คนรวยส่วนน้อย คนจนมาก ก็ยังเหลื่อมล้ำอยู่ดี การจับจ่ายใช้สอยก็ไม่ทั่วถึง ดังนั้น พื้นฐานสำคัญมากๆ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ดูแลอย่างเต็มที่ คือ ประเด็นความเหลื่อมล้ำ สิ่งแรกที่ต้องทำในเชิงเศรษฐกิจ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้คนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดได้มีโอกาส มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งตรงนี้เวลาเราประกาศนโยบายว่า ต้องการลดความเหลื่อมล้ำนั้น จริงๆ โจทย์ใหญ่มี 2 ข้อ คือ 1.เพิ่มรายได้ และ 2.ลดรายจ่าย ตรงนี้คือหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เวลาข้างนอกมองกระทรวงสาธารณสุข หน้าที่คืออะไร คนส่วนใหญ่อาจมองเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัย แต่ผมมองต่างกัน จริงๆ กระทรวงฯมีหน้าที่หลักเกี่ยวข้องกับเรื่องลดความเหลื่อมล้ำเลย ในด้านสังคมจะทำอย่างไรจะทำให้เกิดความเท่าเทียมในโอกาส เพราะความเท่าเทียมเรื่องรายได้ยากมาก แต่ความเท่าเทียมโอกาส สร้างได้

นายสมคิด กล่าวว่า ตนเคยเป็นรองกรรมการของมูลนิธิรามาธิบดี ซึ่งช่วยมาหลายปี โดยแนะนำว่า หากทำได้ คนทั้งหลายที่อยู่ในชนบทจะต้องได้รับการดูแลเรื่องสุขอนามัย จะไม่ให้มารอในรพ.ที่กรุงเทพ หรือไปตั้งศูนย์อยู่จังหวัดใหญ่ๆ แต่จะทำอย่างไรให้ไปถึงพวกเขามากที่สุด ซึ่งคนจนมองว่าไม่ได้ต้องการสมบูรณ์แบบ แต่ขอเข้าถึง ดังนั้น ตนมองว่าควรมีโมบายออกไปถึงพวกเขาทุกจุดในสิ่งที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ในโรคภัยที่ไม่ซีเรียสมาก ดังนั้น หากมีโครงการและออกไปข้างนอก โดยเน้นออกไปหาเขาน่าจะดีกว่า ส่วนเรื่องการป้องกันโรค การสอนผ่านทางไกล มีระบบเทคโนโลยีรองรับอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือ ระบบโมบายเป็นสิ่งที่ต้องทำมากๆ เลย เหมือนเศรษฐกิจ เมื่อมีสินค้าออกมาก็ต้องไปถึงพื้นที่

“นักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างเรียนแค่ปี 4 ก็ไปช่วยเหลือ ไปลงพื้นที่ได้แล้ว ไม่อย่างนั้นกำลังที่จะออกไปยังพื้นที่อาจไม่พอ นี่คือตัวอย่างของกระทรวงฯ ในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโครงสร้างโอกาสให้พวกเขา โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประเทศไทยมี 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน จะทำอย่างไรไปถึงพวกเขา อาจเราโดยตรง หรือร่วมมือกับแกนนำต่างๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กองทุนหมู่บ้านก็มี ก็หยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้ และร่วมมือกับรพ.ทุกแห่ง มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ซึ่งผมรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นเอกเทศ ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่จริงๆ แล้วหลักในการสร้างโครงสร้างโอกาส ต้องมาจากกระทรวงฯ ต้องเป็นหลัก และวางแผนร่วมกับเขาทุกแห่ง” นายสมคิด กล่าวและว่า สำหรับเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องใหญ่ ทุกกระทรวงก็อยากได้ แต่ความคิดต้องชัดเจนว่าจะเอาอะไร ต้องการอะไร และสู้กันเพื่อได้มา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่แค่ 30 บาท แต่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ คือหลักการมากกว่า ส่วนโครงการต่างๆ จะตามมาเอง

Advertisement

“อย่างเรื่องการพัฒนาสมุนไพร สปา ทำได้หมด โดยกระทรวงฯเป็นแกนได้เรียกประชุมมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยนพ.ปิยะสกล ทำได้เลย อาจมีการประชุมร่วมกับอธิการบดี คุยเรื่องนี้ แม้สังคมอาจารย์อาจจะคุยกันยากหน่อย ยิ่งสังคมอาจารย์หมอยิ่งหนักไปอีก เพราะทุกคนความเชื่อมั่นสูง ผมรู้ เพราะผมเคยเป็นอาจารย์มาก่อน แต่ผมเชื่อทำได้ มิตินี้จึงสำคัญ โดยต้องลิงค์ระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และนำต่างประเทศเข้ามาร่วม รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) บางอย่างมีขั้นตอนเยอะ อย่างยาบางตัว ลิขสิทธิ์หมดไปแล้ว ซึ่งจริงๆ เราควรผลิตได้ แต่การขออนุญาตทั้งหลายใช้เวลานานมาก ก็ต้องปรับปรุงด้วย จริงๆ งานต่างๆ เหล่านี้ หมอทำได้ กล้าที่จะทำด้วย แต่ต้องอย่าทะเลาะกัน หมอมีตั้งเท่าไรอยู่ในชนบท ในต่างจังหวัด คุณเปลี่ยนชนบทได้” นายสมคิด กล่าว

44085

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image