อารมณ์ขันสุดท้ายในหนังสือ”ลุงต่วย-วาทิน ปิ่นเฉลียว”

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2559 ผ่านมา ผมมีโอกาสไปวางดอกไม้จันทน์บนจิตกาธาน ในงานพระราชทานเพลิง “ลุงต่วย” วาทิน ปิ่นเฉลียว ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

ภายในงานนอกจากจะมีญาติพี่น้องของลุงต่วยมาร่วมไว้อาลัย หากยังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักเขียนอาวุโส นักเขียนรุ่นใหม่ แฟนานุแฟน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มาร่วมงานอย่างคับคั่ง

บางคนผมรู้จัก

บางคนไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน

Advertisement

แต่ทุกคนล้วนต่างตั้งใจมาแสดงความไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อรอส่งดวงวิญญาณของ”ลุงต่วย”กลับสู่สรวงสวรรค์

ทั้งนั้นเพราะตลอดเวลาผ่านมาที่ต่วย”ตูน พ็อคเก็ตแม็กกาซีน สาระ+หรรษา อุบัติขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2514 กระทั่งถึงปัจจุบันในปี 2559 ต่วย”ตูนเดินทางมาถึงปีที่ 45 แล้ว

เป็นปีที่ 45 ที่แบ่งกลุ่มผู้เขียนออกเป็นทั้งหมด 4 ยุคด้วยกัน

Advertisement

ยุคแรก ประกอบด้วยนักเขียนชั้นนำ อาทิ ประมูล อุณหธูป(ทองคำเปลว),หลวงเมือง,กระจกฝ้า,ลาวัลย์ โชตามระ(จอหงวน,อัมพร หาญนภา)มนัส จรรยงค์,”รงค์ วงษ์สวรรค์,ระวี พรเลิศ,ชิน ดนุชา,รัตนะ เยาวประภาษ,นพพร บุญยฤทธิ์,อาจินต์ ปัญจพรรค์,วสิษฐ เดชกุญชร

รวมถึงนักเขียนอาวุโสอย่างฮิวเมอร์ริสต์(อบ ไชยวสุ),หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช,พล.อ.อ.หะริน หงสกุล,ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ฯลฯ

ยุคที่สอง นักเขียนจากนิตยสารชาวกรุง อาทิ ปัญญา ฤกษ์อุไร,ชาตรี อนุเธียร,ประเทือง ศรีสุข,วิชัย สนธิชัย,ประจักษ์ ประภาวิทยากร,โอภาส โพธิแพทย์,อุดร จารุรัตน์,เสรี ชมภูมิ่ง,อนันต์ แจ้งกลีบ ฯลฯ

ยุคที่สาม ประกอบด้วย เตชะพิทย์ แสงสิงห์แก้ว เขียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น,ชัยชนะ โพธิวาระ เขียนเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย,ฉุ่ย มาลี,พัฒนพงศ์ พ่วงลาภ,คำหมาน คนไค,ทอม ลูกโทน(พิชัย วาศนาส่ง) ฯลฯ

ยุคที่สี่ เริ่มมีนักเขียนรุ่นใหม่เพิ่มเติมเข้ามา อาทิ สุขุม นวลสกุล,โกวิท วงศ์สุรวัฒน์,ออส่วน,,ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง,วัธนา บุญยัง,จันทรำไพ,ขุนสรร พันเรือง และฯลฯ

ที่ล้วนต่างทำให้ต่วย”ตูน พ็อคเก็ตแม็กกาซีน สาระ+หรรษา มีแฟนานุแฟนติดตามอยู่เป็นจำนวนมาก

แต่กระนั้น “ลุงต่วย” ก็ยอมรับความจริงว่าหนังสือของแกเริ่มแก่ลงทุกวัน เพราะนักเขียนที่เคยเขียนให้ต่วย”ตูนตั้งแต่ยุคแรกระเรื่อยมาจนถึงยุคหลังเริ่มทยอยล้มหายตายจากไปทีละคน

“ลุงต่วย”ไม่อยากให้ต่วย”ตูนตายไปพร้อมๆ กับแก

ด้วยเหตุนี้ “ลุงต่วย” จึงชักชวนผมให้มาช่วยเขียน ช่วยประชาสัมพันธ์ และช่วยบอกกล่าวนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ให้มาช่วยเขียนหนังสือลงต่วย”ตูน

เพราะอยากสร้างแฟนานุแฟนรุ่นใหม่ขึ้นมา

ฉะนั้น จะเห็นว่าระยะหลังๆ เริ่มมีนักเขียนหน้าใหม่ และนักเขียนรุ่นใหม่เริ่มทยอยเขียนลงต่วย’ตูนมากขึ้น แต่กระนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความหลากหลายในมิติของการอ่าน

เนื่องจาก “ลุงต่วย” ห่วงว่าถ้าแกไม่อยู่ ใครเล่าจะมาช่วยเขียนหนังสือให้ แต่กาลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าดูต่วย’ตูน พ็อคเก็ตแม็กกาซีน สาระ+หรรษาในเล่มปัจจุบันจะเห็นว่ายังมีความหลากหลายในส่วนของนักเขียนอยู่พอสมควร

ในวันพระราชทานเพลิง “ลุง”ต่วย” เย็นนั้น ผมมีโอกาสถ่ายรูปกับ “พี่ดล (ดุล) +พี่เรณุกา (ดาว ปิ่นเฉลียว) หน้ารูปถ่ายลุงต่วยบริเวณหน้าเมรุ

ผมบอกลูกชายและลูกสาวของลุงว่าทุกอย่างเหมือนเดิมนะครับ มีอะไรให้ผมช่วยเหลือยินดีอย่างยิ่ง เขาทั้งคู่กล่าวขอบคุณ พร้อมกับมอบหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงให้มาหลายเล่ม

ผมเปิดอ่านดู ปรากฏว่าหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงลุงต่วย กลับมีกลอนไว้อาลัยของ”อาจารย์ช้าง”ขรรค์ชัย บุนปานอยู่เพียงบทเดียว

นอกนั้นภายในเล่ม นอกจากประวัตชีวิตในหน้าสุดท้าย กลับต่างเต็มไปด้วยภาพวาดลายเส้นผลงานการ์ตูนของ”ลุงต่วย”ทั้งหมด

ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

ผมคาดเดาเอาว่าภาพวาดลายเส้นนี้น่าจะนำมาจากผลงานของ”ลุงต่วย”สมัยออกนิตยสารรายสะดวก ที่ใช้ชื่อว่า “รวมการ์ตูน”ต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง”

โดยมี”ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ”เพื่อนรักเป็นผู้รวบรวมเรื่อง ส่วน”ลุงต่วย”ทำหน้าที่เขียนการ์ตูน ซึ่งว่ากันว่าฝีมือการเขียนการ์ตูนของลุงน่าจะเริ่มตั้งแต่เป็นนิสิต คณะสถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจาก”อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร”แนะนำให้เขียนรูปประกอบลงในวารสยามสมัย

ต่อมามีโอกาสเขียนการ์ตูนสั้นประเภทกรอบเดียวลงในวารสารชาวกรุง

จนทำให้แฟนานุแฟนเริ่มรู้จักชื่อในนาม “ต่วย” เพราะผู้อ่านๆ แล้วรู้สึกชื่นชอบในอารมณ์ขันที่ “ลุงต่วย” สร้างขึ้นมา ไม่เชื่อลองดูจากรูปที่ลงจะเห็นว่าลายเส้น และอารมณ์ขันช่างเหลือร้ายจริงๆ

พูดง่ายๆ คือขำลึก

ขำเข้าไปข้างใน

จนใครเล่าจะเชื่อว่าการ์ตูนขำขันเหล่านี้จะถูกนำมาเป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิง

ช่างไม่ธรรมดาจริงๆ

ผมไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาจำนวนเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่นานหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงนายวาทิน ปิ่นเฉลียว คงเข้าไปอยู่ในมือนักสะสม นักขายหนังสืองานศพเป็นแน่

เพราะเป็นหนังสืออารมณ์ขันสุดท้ายของ “ลุงต่วย” ที่เชื่อว่าใครๆ ก็คงอยากได้

fun12310159p1

fun12310159p2 fun12310159p3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image