ดราม่า ‘โควิด-19’ บางบอน-บางบัวทอง แพทย์แจงเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร ต้องทำความเข้าใจ(ชมคลิป)

ดราม่า “โควิด-19” บางบอน-บางบัวทอง แพทย์แจงเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร ต้องทำความเข้าใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกวันที่ 27 มีนาคม ชาวบ้านในพื้นที่ชุนชนย่านบางบอน ออกมารวมตัวกดดันให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ให้นำผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ออกไปจากพื้นที่ โดยภายในคลิปจะมีเจ้าหน้าที่พยายามออกมาอธิบายและชี้แจงแล้ว แต่ชาวบ้านยังคงยืนยันที่จะให้ผู้ป่วยคนดังกล่าวออกจากพื้นที่ ในเวลาต่อมา ก้ได้มีรถพยาบาลของสำนักการแพทย์ขับเข้ามารับผู้ป่วยออกไป รักษาที่อื่น

ชาวบ้านผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 มีนาคม ชาวบ้านสังเกตเห็นมีรถพยาบาลเข้ามาส่งผู้ป่วย จากนั้นคนในชุมชนรวมกว่า 100 คนจึงมาสอบถามทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อโควิด-19 จึงเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากกลัวเชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายให้กับคนในชุมชน จึงได้รวมตัวกันจำนวนมากออกมาเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ จนมีการโต้เถียงกันอยู่พักใหญ่ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาช่วยระงับเหตุเพราะกลัวเหตุการณ์จะบานปลาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยชายรายนี้ อายุประมาณ 35-40 ปีมีอาชีพเป็นนักร้องร้านอาหาร และเริ่มมีอาการป่วยจึงได้เข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และกลับมากักตัวที่ห้องพักได้ 6 วัน จึงทราบผลว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 จึงได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 และถูกส่งตัวต่อมายังสถานพยาบาลย่านบางบอน และเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยในช่วงเช้านี้จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาฉีดพ่นฆ่าเชื้อที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งนี้

Advertisement

วันที่ 28 มีนาคม นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ศูนย์ที่จะสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขณะนี้มี 44-50 แห่ง โดยในขณะนี้มีภาระงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่สามารถตรวจและทราบผลภายใน 5 ชั่วโมง แต่ขณะนั้นเป็นการวินิจฉัยผลใน 2 ห้องปฏิบัติการ จึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ทั้งนี้การตรวจขึ้นอยู่กับว่าตรวจหาเชื้อหรือหาภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้นสถานที่ที่รับในการตรวจจะต้องมีมาตรฐานและผ่านรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ผลจะออกได้เร็วขนาดไหนขึ้นอยู่กับภาระงาน

นพ.อนุพงศ์กล่าวต่อว่า เมื่อมีการตรวจจากห้องปฏิบัติการและยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว ทางสถานพยาบาลจะต้องมีการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วย โดยกรมการแพทย์จะเป็นผู้บริหารจัดการเตียงใน กทม.ทั้งหมด ทั้งสังกัดของรัฐบาล กองทัพ เอกชนหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละที่จะมีเตียงลักษณะแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยที่ตรวจจาก รพ.เอกชนก็อาจถูกแนะนำว่าให้ไปรอสังเกตอาการตนเองที่บ้านเพื่อรอผลการตรวจ โดยจะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมในการกักกันตัวเอง และเมื่อผลการตรวจออกแล้วจึงเป็นหน้าที่ของ รพ.ในการมารับผู้ป่วย ซึ่งจะมีการอนุญาตให้รักษาที่ รพ.หรืออย่างไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะต้องใช้ผลการเอกซเรย์ปอดร่วมในการตัดสินใจ ถ้าหากผลการเอกซเรย์ออกมามีภาวะปอดอักเสบทางแพทย์คงไม่อนุญาตให้กลับบ้าน เนื่องจากจะเป็นความกังวลใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้น

“รพ.จะรับแอดมิทเขาเพื่อให้นอน รพ. หรือตัดสินใจอย่างไร คิดว่าดุลยพินิจของคุณหมอจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ปอดว่ามีฝ้าขาวหรือมีลักษณะของปอดอักเสบก็ไม่น่าจะให้กลับบ้าน แต่ถ้าให้กลับบ้านแน่นอนว่าคนไม่สบายใจคือ ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในชุมชน รายละเอียดยังไม่ทราบแต่จะตอบ โดยหลักการปฎิบัติเป็นเช่นนี้เพื่อเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน” นพ.อนุพงศ์กล่าว

Advertisement

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า เมื่อประชาชนอาจจะกลัวเฟคนิวส์ หรือข่าวปลอม เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ประกาศออกมาแล้วนั้นจะต้องขจัดข่าวปลอมเหล่านี้ให้เป็นศูนย์ รวมถึงอาจจะเป็นการสื่อสารที่ยังไม่เข้าใจกัน ดังนั้นจะมีรายละเอียดจากส่วนกลางเข้าไปอธิบาย เช่น นโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มาตรการครอบครัว มาตรการบุคคล มาตรการขององค์กร รายละเอียดเหล่านี้จะลงไปตามแต่ละจังหวัดเพื่อให้ข้อมูลกระจายไปยังแต่ละอำเภอ

“สธ.พยายามเคลียร์เรื่องนี้ให้เร็ว ในการสื่อสารถึงประชาชน ดังนั้นเราทำงานแข่งกับเวลา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีข้อมูลเหล่านี้ไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะต้องชัดเจน ดังนั้นสัปดาห์หน้าคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะขณะนี้หลายจังหวัดใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประกาศพื้นที่ระบาด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด” นพ.อนุพงศ์กล่าว

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า ในช่วงแรกของการติดเชื้อ ประชาชนอาจรู้สึกกังวลได้แต่เมื่อรับทราบข้อมูลและเข้าใจว่าโรคจะติดในระยะใกล้ชิด 1-2 เมตร และไปอยู่ที่ในที่เสี่ยง ยกตัวอย่าง ตนทำงานในกระทรวงสาธารณสุข เดินห่างไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึง รพ.บำราศนราดูร แต่ยังไม่พบปัญหานำเชื้อมาที่พื้นที่ ประชาชนโดยรอบข้างยังใช้ชีวิตปกติดี เมื่อก่อนตระหนกผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเกิดความรังเกียจไม่อยากให้อยู่ในสังคม แต่บุคคลเหล่านั้นยังแข็งแรงและยังอยู่ร่วมกับเราได้ และโรคโควิด-19 ไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น จึงขอประชาสัมพันธ์ไปถึงประชาชนทุกที่ว่าในอนาคตหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นหลักหลายพันคนตามที่อาจารย์แพทย์พยากรณ์ เราจะมารังเกียจเดียดฉันท์กันไม่ได้ เพราะอาจเป็นพี่น้องหรือญาติของเราได้ และต้องมีสถานที่รักษาที่เหมาะสม โดยใช้โรงแรมดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลเฉพาะกิจ ดังนั้นหากรังเกียจสิ่งที่ท่านเคยได้รับความสะดวก มีโรมแรมพัก มีแอร์เย็นฉ่ำ ท่านอาจจะไม่มีที่อยู่ดังกล่าว จึงต้องทำความเข้าใจว่าเราเตรียมพร้อมทุกอย่าง

“โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เรามีความกังวลใจได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือระวังไม่ให้ติดเชื้อ เพื่อไม่ให้ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น และต้องจัดสมดุลย์ของความรู้สึก ความคิด และความรู้ให้พอกัน”

เมื่อถามถึงการดูแลประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรามีระบบทางการแพทย์สาธารณสุข ลงไปถึงประตูบ้าน เพื่อให้ความรู้กระจายไปทั่วประเทศ หากประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เราจะควบคุมโรคได้ ส่วนในพื้นที่สามจังหวัดชาวแดนใต้ และ จ.สงขลา ต้องป้องกัน ควบคุม รักษาเพิ่ม และให้กระทรวงมหาดไทยนำไปสู่การปฏิบัติ โดยเร็วๆ นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ที่ รพ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

 

ดราม่า "โควิด-19" บางบอน-บางบัวทอง

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2020

ขอบคุณภาพจากเฟชบุ๊ก Frank Sathapat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image