“โควิด-19” ทำบริจาคโลหิตลด 50% กระทบผู้ป่วยโรคเลือดกว่า 1 หมื่นราย

รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดหาโลหิตบริจาคในแต่ละวัน จะต้องจัดหาให้ได้ 2,500 ยูนิต แต่ขณะนี้มีจำนวนลดลงกว่าร้อยละ 50 ไม่เพียงพอจ่ายให้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้รับยีนธาลัสซีเมียจากพ่อและแม่ทำให้การสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ส่วนใหญ่มีอาการซีดตั้งแต่อายุขวบปีแรก ในรายที่เป็นชนิดรุนแรง ต้องได้รับการรักษาโดยการรับโลหิตเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง หากไม่ได้รับโลหิต ผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตจะลดลง  

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ผลตามมาที่ไม่มีใครคาดคิดคือ จำนวนโลหิตที่จะต้องใช้กับผู้ป่วยในภาวะปกติขาดแคลนอย่างหนัก นักศึกษาแพทย์จีนได้ช่วยกันบริจาคโลหิตให้กับผู้ป่วยและเชิญชวนให้ประชาชนจีนไปช่วยกันบริจาคโลหิต ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้ประสบกับภาวะวิกฤต มีผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมาก ทำให้มีโลหิตไม่เพียงพอใช้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ จึงขอให้ทุกคนช่วยกันบอกต่อ และบริจาคโลหิตในยามเกิดภาวะวิกฤต โดยการคัดกรองตนเองก่อนไปบริจาคโลหิต โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องงดบริจาคโลหิต 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่หายจากโรค และไม่มีอาการใดๆ หลงเหลืออยู่ งดบริจาคโลหิต 3 เดือน ทั้งนี้ สามารถบริจาคโลหิตได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตที่อยู่ใกล้บ้าน

ขณะที่ ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือด โรคมะเร็ง และชีวาภิบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปีงบประมาณ 2562 มีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ต้องได้รับโลหิตเป็นประจำ จำนวน 13,841 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องได้รับโลหิต 12-18 ครั้งต่อปี และได้รับโลหิตเฉลี่ยครั้งละ 1-2 ยูนิต (ถุง) หรือ ปีละประมาณ 332,184 ยูนิต (ถุง) นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร ฯลฯ ที่มีการเสียโลหิตในปริมาณมาก ต้องให้โลหิตทดแทนอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเลือกเวลาได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ตาม และว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 การบริจาคโลหิตลดลงเรื่อยๆ จนทำให้โลหิตในประเทศไทยเข้าขั้นขาดแคลน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาด้วยโลหิตจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เพราะโลหิตเป็นยารักษาโรคที่จะต้องได้มาจากการบริจาคเท่านั้น

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image