อสส.เอาจริง แจ้งอัยการทั่วประเทศดำเนินคดีเด็ดขาดคนฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ตุนสินค้า ‘แมสก์-ไข่’

นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด

‘วงศ์สกุล’ เอาจริง ร่อนหนังสือเเจ้งอัยการทั่วประเทศดำเนินคดีเด็ดขาด เร่งฟ้องคดีขอศาลลงโทษหนักไม่รอลงอาญาพวกฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-กักตุนสินค้า หน้ากากอนามัย ไข่ไก่ ของจำเป็น ปล่อยข่าวเท็จซ้ำเติมประชาชน เป็นอุปสรรคเเก้โควิด-19

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปิดเผยว่า ในวันนี้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้มีหนังสือที่ อส 0001/ว 140 ลงวันที่ 31 มีนาคม แจ้งให้อัยการทั่วประเทศดำเนินคดีเฉียบขาดกับผู้ทำการกักตุนสินค้าอุปโภค บริโภค และจำหน่ายสินค้าเกินราคาควบคุม เช่น หน้ากากอนามัย ไข่ไก่ หรือสินค้าจำเป็นในครัวเรือน เป็นต้น การฉ้อโกง หรือหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการส่งข้อความอันเป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกอบข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 1) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวแล้วยังส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนปฏิบัติ เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินคดีประเภทดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นไปอย่างเฉียบขาด รวดเร็ว เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย สอดคล้องกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะหยุดการแพร่ระบาดและป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อันเป็นการซ้ำเติมต่อประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุดจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติในคดีที่มีลักษณะการกระทำความผิดข้างต้น เพื่อให้พนักงานอัยการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดี ดังนี้

1.ให้ดำเนินคดีโดยปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และหนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เกี่ยวข้อง

2.ให้ถือเป็นคดีที่มีความจำเป็น เร่งด่วน ที่ต้องดำเนินคดีด้วยความรวดเร็ว

Advertisement

3.ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งคดีและบรรยายฟ้อง ขอให้ศาลลงโทษในสถานหนัก และไม่รอการลงโทษ

4.ของกลางที่เป็นทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ขอให้ศาลมีคำสั่งริบตามกฎหมาย

5.ผู้กระทำความผิดที่มีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันมาก่อน ให้บรรยายฟ้องให้ศาลทราบข้อเท็จจริง ขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก หรือเพิ่มโทษหรือนับโทษต่อกัน หรือใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย

Advertisement

6.ให้อธิบดีอัยการกำกับดูแลการดำเนินคดีของพนักงานอัยการในบังคับบัญชาให้เป็นไปตามแนวทาง ปฏิบัติตามหนังสือนี้ โดยหนังสือดังกล่าว ได้แจ้งสั่งการให้อัยการทั่วประเทศถือปฏิบัติทราบแล้ว และถือปฏิบัติตั้งเเต่วันนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image