‘โควิด-19’ พ่นพิษ.. ทำ ‘ร.ร.เอกชน’ กระอัก แห่ ‘ปลดพนักงาน-ปิดกิจการ’ !!

‘โควิด-19’ พ่นพิษ.. ทำ ‘ร.ร.เอกชน’ กระอัก แห่ ‘ปลดพนักงาน-ปิดกิจการ’ !!

‘โควิด-19’ – สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ที่นานาประเทศทั่วโลกต้องเผชิญหน้ามาเป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2019 มาจนถึงปัจจุบัน ได้ลุกลามแพร่กระจายไปแล้วกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1.2 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 6 หมื่นคน

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อสุขภาพ และชีวิตของผู้คนทั่วโลกโดยตรงแล้ว ยังเกิดผลกระทบในด้านอื่นๆ ต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนอีกมากมาย จนต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยประชากรทั่วโลกกว่า 1 ใน 3 ของโลก ต้องอยู่กับบ้านเพื่อป้องกันการระบาด ส่วนการทำงานต้องปรับเปลี่ยนวิธีจากการทำงานในที่ทำงาน ไปเป็นการ Work From Home ใช้ Social Distance คือการเพิ่มระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

แม้จะมีวิธีการต่างๆ ออกมารับมือการแพร่ระบาด แต่ดูเหมือนยอดผู้ติดเชื้อยังคงขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 1 ล้านคนไปแล้ว !!

นอกจากเชื้อโควิด-19 จะสร้างผลกระทบให้กับประชากรโลกแล้ว เศรษฐกิจของโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน หลายๆ ธุรกิจแทบจะหยุดชะงัก ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา และหลายๆ ธุรกิจต้องทยอยปิดกิจการ อาทิ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจการโรงแรง ธุรกิจการท่องเที่ยว และอีกหลายธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม

Advertisement

ในส่วนของประเทศไทย ล่าสุดรัฐบาลได้ใช้ “ยาแรง” เพื่อควบคุมการระบาดครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน หรือ “เคอร์ฟิว” ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.

รวมทั้ง จะติดตามสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ หากในประเทศยังไม่ยอดผู้ติดเชื้อเพื่อขึ้นไม่หยุด มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลอาจจะต้องประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง !!

ซึ่งขณะนี้ทุกภาคส่วนจะได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ไม่มียกเว้น ทำให้ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะภาครัฐ และเอกชน ต่างปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

Advertisement

โดยเฉพาะ “ภาคการศึกษา” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ จากการสอนในห้องเรียน เปลี่ยนไปจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่โดยผ่านดิจิทัลแพลตฟร์อมต่างๆ เช่น สอนผ่านออนไลน์ หรือสอนผ่านทีวี เป็นต้น

ไม่ใช่ว่าแวดวงการศึกษาไทย จะได้รับผลกระทบเพียงเท่านี้ “โรงเรียนเอกชน” ก็รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงความกังวลว่า โรงเรียนเอกชนต้องเลื่อนการรับนักเรียนทั้งหมด โดยบางโรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนไปแล้ว ก็ต้องเลื่อนการรับออกไป หรือโรงเรียนบางแห่งที่ได้เปิดรับนักเรียนไปแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้โรงเรียนต้องแบกภาระส่วนนี้อย่างมาก

ซึ่งการเลื่อนรับนักเรียนครั้งนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องเลื่อนไปจนถึงเมื่อใด เพราะต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาล ทำให้โรงเรียนไม่สามารถหาเงินมาพัฒนาโรงเรียนได้ทัน

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนเอกชนไม่อยากให้รัฐเร่งออกประกาศ หรือกำหนดว่าเปิดเทอม เพราะทราบถึงปัญหาที่ต้องเผชิญ…

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ แจกแจงปัญหาเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับทราบปัญหา และกำลังหาทางช่วยเหลือ แต่เบื้องต้นโรงเรียนเอกชนต้องแก้ไขปัญหากันเอง อาทิ โรงเรียนบางแห่งให้พนักงานหยุดงาน ทำให้หลายๆ คนต้องตกงาน หรือบางแห่งจ่ายเงินเดือนให้ครูเพียงครึ่งเดือน เพื่อให้โรงเรียนรอดจากวิกฤตครั้งนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) ได้หารือ และสะท้อนปัญหาให้กับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ., นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และนายอรรถพล ตรึงตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) รับทราบแล้ว ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พร้อมที่จะช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเต็มที่ ทำให้โรงเรียนเอกชนคลายความกังวลใจอย่างมาก” ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ ระบุ

แต่ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ดีขึ้น เชื่อว่าในอีก 2-3 เดือนต่อจากนี้ โรงเรียนเอกชนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้อีกต่อไป อาจถึงขั้นปิดกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 5-10% !!

ประเด็นนี้ นายณัฏฐพลไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมรับฟัง และหาทางแก้ไขปัญหา โดยระบุว่า สิ่งที่ ศธ.สามารถช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะครูได้นั้น คือการนำรวบรวมรายชื่อครูทั้งหมด นำเสนอเพื่อให้ครูเหล่านี้ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ จะต้องนำฐานข้อมูลครู และโรงเรียนที่มีอยู่ เข้ามาศึกษารายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

“ถ้ารวมกลุ่มครูเอกชนได้ อาจทำให้ครูเหล่านี้ได้รับเงินเยียวยาได้เร็ว ผมทราบว่าโรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะถ้าผู้ปกครองไม่จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการเรียน โรงเรียนจะเป็นผู้รับภาระทั้งหมด ศธ.อยากให้โรงเรียนพยายามรักษาเจ้าหน้าที่ และบุคลากรเอาไว้ ส่วนของการเสียภาษี หรือการลดหย่อนภาษีต่างๆ รัฐบาลกำลังหาแนวทางช่วยเหลืออยู่” นายณัฏฐพล กล่าว

ถือว่าการเริ่มต้นปีนี้ของโรงเรียนเอกชน ต้องเผชิญปัญหามากมาย นอกจากเชื้อโควิด-19 จะพ่นพิษแล้ว จนทำให้ไม่สามารถรับสมัครนักเรียนได้ และมีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจที่โรงเรียนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจส่งผลให้มีแนวโน้มการปิดโรงเรียนเอกชนเพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมา

เรียกว่า หากไม่ตายเพราะติดเชื้อโควิด-19 โรงเรียนเอกชนอาจจะ “ตาย” จากพิษเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็เป็นได้ !!

ปัญหาของโรงเรียนเอกชน ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในปีการศึกษา 2562 มีโรงเรียนเอกชนทุกประเภทปิดตัวรวมกันประมาณ 80 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ปิดประมาณปีละ 20 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรื่องเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนเอกชน ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว 100% เหมือนนักเรียนรัฐ

งบประมาณอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ก็ไม่ได้รับเท่ากับนักเรียนรัฐ ที่ผ่านมาการศึกษาเอกชนได้รับการจัดสรรงบโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1-ชั้น ป.6 เพียง 28% เท่านั้น ขณะที่โรงเรียนรัฐได้รับการจัดสรรงบโครงการอาหารกลางวัน 100% ทุกคน รวมถึง นักเรียนต่างด้าวที่ไม่มีสถานะชาติไทย

หรือปัญหาการแย่งรับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษานพื้นฐาน (สพฐ.) แม้จะมีกฎกติกา และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนออกมาควบคุมแล้ว ว่าในพื้นที่ที่มีโรงเรียนสังกัด สช.และโรงเรียนสังกัดองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ โรงเรียนสังกัด สพฐ.จะไม่สามารถเปิดรับได้ แต่ยังมีเสียงร้องเรียนเข้ามาเป็นระยะๆ ว่าโรงเรียน สพฐ.นั้น “แอบรับ” นักเรียนอนุบาล 3 ขวบเข้าเรียน

อีกหนึ่งปัญหาที่หนักหนาสำหรับโรงเรียนเอกชน คือผู้ปกครองค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะสูงถึง 1,400 ล้านบาท ทำให้โรงเรียนต้องรับภาระค่าใช่จ่ายจำนวนมาก ทั้งนี้ เลขาธิการ กช.ได้ออกโรงห้ามโรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหานี้ อย่านำ “นักเรียน” เป็นตัวประกัน เพื่อให้ผู้ปกครองจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน แต่ขอให้ไปตกลงกับผู้ปกครองเพื่อแก้ไขปัญหานี้ดังกล่าว

แต่ยังพอมีเรื่องให้ชื้นใจอยู่บ้าง หลังจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ สช.มีมติปรับเพิ่มเพดานค่ารักษาพยาบาลครูเอกชน จากเดิมปีละ 100,000 บาท เป็น 150,000 บาทต่อปี มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 …

หลายๆ คนอาจมองว่า “รัฐ” ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน เพราะโรงเรียนเหล่านี้ได้รับรายได้จากค่าเล่าเรียนของนักเรียน มาใช้จ่าย และพัฒนาการศึกษาอยู่แล้ว

แต่อย่าลืมว่าโรงเรียนเอกชน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการศึกษาไทย และช่วยแบ่งเบาภาระของโรงเรียนรัฐด้วย

ดังนั้น ปัญหาที่โรงเรียนเอกชนกำลังประสบพบเจอ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถ “เพิกเฉย” ได้ ต้องหาทาง “ทางออก” ในการแก้ไขปัญหา

เพื่อช่วยให้โรงเรียนเอกชน หรือสถานศึกษาเอกชน อยู่รอดต่อไป และอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพมาตรฐาน ออกไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image