พร้อมสู้! หลอมน้ำใจไทย จับมือผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

พร้อมสู้! หลอมน้ำใจไทย จับมือผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

หลอมน้ำใจไทย – สภาพบรรยากาศที่มองไปทางไหนก็เงียบเหงา ห้างร้านปิดให้บริการ สถานบันเทิงหยุดชั่วคราว หรือแม้แต่วัดวาอารามก็ต่าง “ปิดหนีโควิด” ปรากฏเป็นภาพผู้คนสัญจรบางตา แตกต่างกับบรรยากาศคึกคักในช่วงเวลาปกติ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนต่างตอบรับมาตรการ คำสั่ง และแคมเปญป้องกันการแพร่ระบาดและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล ตามสโลแกน ดังว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

และในภาวะที่ยอดผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทะลุ 2 พันรายไปเป็นที่เรียบร้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน) ทำให้ผู้คนตื่นตัวที่จะ “ป้องกัน” ตัวเองจากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากขึ้น

แต่ในอีกมุมหนึ่งของสังคม ปัญหา “ปากท้อง” คือเรื่องสำคัญ เมื่อคนหยุดอยู่บ้าน ภาคเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ส่งผลให้มี “คนว่างงาน” เพิ่มมากขึ้น หลายคนต้องหอบข้าวของกลับบ้านเกิด เพราะ “รายรับไม่มี”

กระนั้น “น้ำใจ” ของคนไทยก็ไม่เคยเหือดหาย ความช่วยเหลือหลั่งไหลมาในหลากหลายรูปแบบ คนที่มีเยอะกว่าก็ออกมาช่วยคนที่มีน้อยกว่า เรียกว่า “ช่วยกันคนละไม้ละมือ”

Advertisement

ไอเท็มสำคัญผลิตได้ ดังเช่น “หน้ากากอนามัย” ไอเท็มสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เกิดภาวะขาดตลาด หลายคนหาซื้อไม่ได้ ชาวบ้านและหลายหน่วยงานจึงได้ระดมพลช่วยกันผลิต ตัดเย็บ “หน้ากากผ้า” ออกแจกจ่ายประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยหลายพื้นที่ได้นำ “ผ้าไหม” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบ เพิ่มเอกลักษณ์ลงไป หรือนำจีวรผืนใหม่มาตัดเป็นหน้ากากผ้า เพื่อถวายพระสงฆ์

ขณะเดียวกัน แม้แต่ “อาม่า” ชาวราชบุรี วัย 76 ปี และ “คุณทวด” ชาวพระนครศรีอยุธยา ในวัย 95 ปี ที่มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า เมื่อทราบว่าหน้ากากอนามัยขาดแคลนก็ออกมาช่วยตัดเย็บหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่าย แม้ว่าจะไม่ใช่จำนวนที่เยอะมากมาย แต่สิ่งที่ “ตั้งใจทำ” ผู้รับย่อมสัมผัสได้ถึงความปรารถนาดี

Advertisement
คุณทวดชาวพระนครศรีอยุธยา และ อาม่าชาวราชบุรี

เช่นเดียวกับ หน้ากากอนามัย สำหรับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ซึ่งต้องคลุกคลีกับผู้ป่วยและผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิดทุกวันนั้น “อุปกรณ์สวมใส่” เช่น ถุงมือ ถุงคลุมเท้า หมวก ฯลฯ จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากๆ ในการป้องกันเชื้อไวรัส บริษัทผลิตพลาสติกจึงออกมาประกาศยินดีที่จะผลิตชุดอุปกรณ์สวมใส่มอบให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน

สอดคล้องกับ “ผู้ประกอบการโรงแรม” หลายแห่งที่เห็นถึงความทุ่มเทและการทำงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์จึงออกมาประกาศเปิดให้เข้าพักได้ฟรีในโรงแรม

ทั้งยังยินดีที่จะเปิดโรงแรมให้เป็น “สถานที่กักตัว” และเป็น “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง บรรเทาปัญหาเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย อาทิ โรงแรมใน จ.นครราชสีมา หนองคาย ภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ทั้งนี้ยังมีโรงแรมอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทยที่มีความประสงค์ช่วยเหลือ

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า “ปัญหาปากท้อง” นั้นสำคัญ หลายคนตกงาน ถูกเลิกจ้าง จึงไม่มีรายรับเพียงพอต่อรายจ่ายประจำวัน

ร้านอาหารและผู้ประกอบการหลายรายจึงได้ร่วมมือกัน “แจกข่าวกล่องฟรี” รวมไปถึงทำอาหารส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้มีแรงใจในการปฏิบัติงานและต่อสู้กับโรคโควิด-19 ต่อไป

ดังเช่น “เสี่ยโรงน้ำแข็ง” จ.เลย ที่นำพนักงาน ร่วมกันทำโรงทานแจกชาวบ้านและส่งข้าวให้หมอวันละ 500 กล่อง จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย ที่ จ.สงขลา ห้างดังร่วมกับร้านอาหารในพื้นที่แจกข้าวกล่องฟรี โดยมีทั้งแบบแจกไดรฟ์ทรูซึ่งให้ประชาชนขับรถเข้ามารับข้าวกล่องเพื่อหลีกเลี่ยงการชุมชน และวางบนโต๊ะเพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีรถมาหยิบ แต่มีการกำหนดจุดเว้นระยะห่างกว่า 1 เมตร ตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19

ขณะที่ห้างดังขอนแก่นก็ร่วมฝ่าวิกฤตเปิดขายข้าวราดแกง 8 บาท ให้ผู้ตกงาน โดยมีคอนเซ็ปต์ว่า “จ่ายน้อยแต่อิ่มแน่” นอกจากนี้ในหลายพื้นที่ยังเปิด “โรงทาน” และแจกข้าวกล่องอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง

รวมไปถึงที่ท่าเทียบเรือศรีราชา จ.ชลบุรี ครอบครัวจิตอาสาทิมกระจ่าง ยังได้ทำ “ข้าวไข่เจียว” กว่า 300 กล่อง แจกชาวบ้านในพื้นที่หลังมีคำสั่งปิดสถานบริการ ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก


ไม่เพียงเท่านั้น ที่ จ.เพชรบูรณ์ ยังเกิดนวัตกรรมใหม่ “ตู้ฆ่าเชื้อโรคโควิด-19” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของเทศบาลและทีมงานฝ่ายเทคนิคของร้านไทยทองดีขายอุปกรณ์การเกษตร ซึ่งได้ร่วมกันคิดค้นหลังจากภายในจังหวัดมีผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว 3 ราย

โดยได้ขอตู้โทรศัพท์จากทางทีโอทีซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้วมาดัดแปลงเป็นตู้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ติดมากับเสื้อผ้าหรือตามร่างกายของประชาชน ซึ่งมีมาตรฐานและสัมผัสร่างกายคนได้โดยไม่เป็นอันตราย หลังทดสอบเป็นที่น่าพอใจแล้ว จะนำเครื่องต้นแบบนี้ไปติดตั้งตามจุดเสี่ยงต่างๆ ของเมืองเพชรบูรณ์

ตู้อบฆ่าเชื้อ

นอกจากนี้ยังมี “นวัตกรรมทำมือ” อย่าง “เฟซชิลด์” ซึ่งทำจากพลาสติกแปะกับฟองน้ำสำหรับพันรอบศีรษะ ช่วยป้องกันในส่วนขอใบหน้าได้ ซึ่งเป็นผลงานที่ตั้งใจทำเพื่อมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ไว้ป้องกันเชื้อ

เฟซชิลด์

เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ที่เมื่อได้ฟังแล้วอาจจะทำให้ขำหรือยิ้มออก กับสโลแกนของ “สัปเหร่อมือเผา” ที่ว่า “หากคุณไม่หยุดอยู่บ้าน เพื่อหมอ เราพร้อมทำงานหนึ่งเพื่อคุณ”

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสโลแกนดังกล่าวได้ “กระตุกคิด” ให้ทุกคนได้สติ ไม่ตื่นตระหนก ว่าเกิดมาแล้ว การแก่ เจ็บ และตาย เป็นเรื่องสามัญ กระนั้นก็ต้องตั้งอยู่บน “ความไม่ประมาท”

และในภาวะที่เกิดโรคระบาดแบบนี้หลายวัดไม่รับฌาปนกิจศพที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเกรงว่าเชื้อจะระบาด แต่เจ้าอาวาสวัดศิริเจริญเนินหม้อ (วัดโคกหม้อ) จ.ราชบุรี ได้เปิดให้ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากรวมถึงผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จัดพิธีได้ที่วัดฟรี

นอกจากนี้ พระสงฆ์ในหลายวัดทั่วประเทศ เช่นที่ วัดศรีบัวบาน จ.ลำพูน ยังได้จัดทำ “หน้ากากผ้า” ส่งต่อให้พระสงฆ์ในวัดทั่วประเทศได้ใช้ด้วย

แบบนี้คงจะเรียกได้ว่า “พระทำ” ของจริง!

บุคลากรในวงการบันเทิง ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มี “เสียงดัง” ในสังคม ก็ร่วมช่วยกันคนละไม้ละมือ ดังเช่น การเปิดพื้นที่ในสังคมออนไลน์ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้มา “ฝากร้าน” เป็นการเพิ่มช่องทางทำมาให้แก่กัน ทั้งยังช่วยไลฟ์ขายของอีกด้วย หลายรายก็ได้เป็นกระบอกเสียงคอยประสานงานระหว่างหน่วยงาน ผู้ใจบุญ ไปสู่การบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับโรงพยาบาล

ดาราเปิดให้ฝากร้านในไอจี

ขณะที่พระเอกรุ่นเก๋าอย่าง “แซม ยุรนันท์” ก็ได้ออกมาโพสต์ “ไม่ขอรับเงินเดือน” แม้ธุรกิจจะได้รับผลกระทบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย แสดงสปิริตของผู้บริหาร

แซม ยุรนันท์ ไม่รับเงินเดือน-กรณ์ และศรีริต้า ร่วมบริจาคของ

ด้านนักแสดงอินดี้ อย่าง “เฟี้ยวฟ้าว สุดสวิงริงโก้” ก็ได้ออกประกาศรับสมัครพนักงาน แม้ว่าจะมีทีมงานเพียงพอแล้วแต่เธอก็อยากช่วยคนที่ตกงานให้มีรายได้

เจ้าแม่หมอลำ “ศิริพร อำไพพงษ์” ก็ร่วมด้วยการตั้งจิตอธิษฐานขอให้ทุกคนแคล้วคลาดจากภัยโควิด

ส่วนซุป”ตาร์ตัวแม่อย่าง “ชมพู่ อารยา” บริจาคเงินกว่า 1.2 ล้านบาท มอบให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี สมทบทุนเพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจระบบปิด รวมไปถึงเพื่อนๆ ในวงการบันเทิงก็ได้ออกมาร่วมบริจาคอย่างต่อเนื่อง อาทิ เกรท วรินทร และ ต้น จักรกฤษณ์ ที่เป็นตัวแทนเพื่อนๆ นักแสดง ประกอบด้วย บีม กวี, โดนัท มนัสนันท์, กบ ทรงสิทธิ์, หลุยส์ สก๊อตต์, นุ่น รมิดา ฯลฯ นำสิ่งของที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้ ทั้งแอลกอฮอล์ ถุงมือ เจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งขนมและเครื่องดื่ม มอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช

เหล่านักแสดงช่อง 3 บริจาคของให้รพ.ศิริราช – ชมพู่อารยา ร่วมบริจาคเงิน

นางเอกสาวยอดนิยม “เบลลา ราณี” ก็ได้สมทบทุนช่วยเหลือให้กับโรงพยาบาลต่างๆ รวม 2.5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผู้กำกับ พจน์ อานนท์ ที่สมทบทุนสถาบันบำราศนาดูร จำนวน 1 แสนบาท

ฟากเซเลบริตี้ ข้าวใหม่ปลามัน อย่าง ริต้า ศรีริต้า ก็ควงสามี กรณ์ ณรงค์เดช มอบเครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันบวก 2 ระดับ จำนวน 2 เครื่อง ให้กับโรงพยาบาลราชวิถีด้วย

เบลล่า ราณี ร่วมบริจาคเงิน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลากหลายน้ำใจ ที่ไม่ได้กล่าวถึง เพราะเวลานี้เรียกได้ว่าไม่มีข้อจำกัดใดที่จะขวาง “สายธารน้ำใจ” ของคนไทยในยามนี้ได้ และด้วยความร่วมมือของทุกคน เชื่อว่าประเทศไทยจะต้องผ่านพ้นวิกฤตไปได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image