จาตุรนต์ แนะ นายกฯ ตั้งโจทย์ใหม่ ระดมพลังธุรกิจทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงทาบ 20 เจ้าสัว ช่วย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง (แฟ้มภาพ)

จาตุรนต์ แนะ นายกฯ ตั้งโจทย์ใหม่ ระดมพลังธุรกิจทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงทาบ 20 เจ้าสัว ช่วย

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าแก้ไม่ตก ไปไม่เป็นแล้วนายกฯ อ่านจดหมายเปิดผนึกของนายกฯแล้ว รู้สึกว่ายัง “วนลูป” อยู่ ภาษาเก่าหน่อยก็ว่าเป็นวัวพันหลัก แก้คำครหาไม่ตกเพราะคำแถลงออกทีวีพูลที่เตรียมร่างมาอย่างดีผูกมัดอยู่ แก้ข้อสงสัย หักล้างคำวิพาษ์วิจารณ์ไม่ได้

พอมีเสียงวิจารณ์กันมากกๆ ว่านี่กำลังจะขอเงินมหาเศรษฐี ก็เลยแก้เกี้ยวเปลี่ยนเป็นให้เสนอโครงการมาว่าจะทำอะไร ซึ่งก็ไม่ต่างจากการขอเงินเท่าไหร่

การออกจดหมายนี้ เหมือนครูสั่งเด็กนักเรียนให้ส่งการบ้าน หรือทำเหมือนมหาเศรษฐีเหล่านี้เป็นหนี้ หรืออยู่ใต้การคุ้มครองของนายกฯ และรัฐบาล ถึงเวลารัฐบาลขออะไรก็ต้องทำให้บ้าง ทั้งการแถลงและทำเป็นจดหมายเปิดผนึก ก็คือเอาสังคมมาบีบเท่ากับขอแกมบังคับนั่นเอง

Advertisement

กิจกรรมช่วยเหลือคนที่ลำบากหรือกิจกรรมการกุศลที่เรียกกันว่า Charity นั้น ควรส่งเสริมให้ทำด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่รัฐมาบอกให้ทำแบบนี้

ก็ยังมีคำถามอยู่ดีว่าทำไมขอเฉพาะมหาเศรษฐี 20 คนแรกของประเทศ แล้วนักธุรกิจอีกมากมายทำไมไม่นึกถึง

ความจริงถ้าจะคิดระดมพลังของธุรกิจทั้งหลาย ต้องตั้งโจทย์อีกแบบหนึ่ง เช่น

Advertisement

1.แสดงความขอบคุณนักธุรกิจและภาคเอกชนทั่วประเทศ ที่ได้ริเริ่มและเต็มใจทำประโยชน์แก่สังคมแล้วช่วยเหลือประชาชนที่ลำบาก โดยไม่ถามเขาว่าจะทำอะไรได้มากกว่าที่ทำอยู่

2.ระดมความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากธุรกิจภาคเอกชนทั้งระบบ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและหาทางทำให้เศรษฐกิจไทย สามารถปรับโครงสร้างเข้ากับสภาพการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น

3.การใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการผลิตอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นให้มากพอ สำหรับใช้ในประเทศและสามารถส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ

4.มีมาตรการให้การทำธุรกิจ หรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือวิกฤตครั้งนี้ ได้รับการหักภาษีมากขึ้นหรือรัฐบาลอาจสมทบงบประมาณให้ด้วย

5.หาวิธีปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ลดการผูกขาดขนาดใหญ่ เพื่อให้ธรุกิจรายเล็กรายน้อยสามารถเงยหน้าอ้าปากได้ในวิกฤตนี้

6.ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ผู้มีความมั่งคั่งมากๆ ได้คืนกำไรให้สังคมมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

การตั้งโจทย์แบบนี้ จะสามารถใช้ได้กับธุรกิจหรือภาคเอกชนทั้งหมดเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะมหาเศรษฐี 20 รายเท่านั้น ไม่มีปัญหาการเป็นหนี้บุญคุณ ที่จะทำให้ต้องมีการกระทำต่างตอบแทนและบางเรื่อง เช่น การลดการผูกขาดหรือการปรับโครงสร้างภาษี ไปขอความเห็นมหาเศรษฐีเพียงกลุ่มเดียว คงหาทางออกไม่เจอแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image