อุตฯไก่ไทยไม่สดใส  ส่งออกหลายประเทศล็อกดาวน์ชะลอนำเข้า คนไทยบริโภคน้อยลง50%

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวประชุมหารือกับกลุ่มผู้ผลิตไก่สดและแปรรูป อาทิ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ และบริษัทแปรรูปและส่งออก อาทิ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท Cargil บริษัท GFPT เป็นต้น เพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตและการส่งออก กำหนดแนวทางการบริหารการตลาด และผลักดันการส่งออกสินค้าไก่ของไทย ว่า ได้หารือร่วมกันพลิกโควิดเป็นโอกาส ซึ่งผู้ผลิตเห็นโอกาสของการเพิ่มส่งออกหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศคลี่คลายลง แต่ต้องเร่งการลดอุปสรรคต่างๆ ซึ่งจะสามารถทำให้การส่งออกปีนี้เพิ่มได้อีก 10% จากปีก่อนส่งออกได้ 1.09 แสนล้านบาท ที่มีปริมาณ 9 แสนตัน หรือเพิ่มมูลค่าได้อีก 3.3 หมื่นล้านบาท โดยไตรมาสแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 2.3 แสนตัน มูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.21% ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตไก่สดอันดับ 8 ของโลกหรือประมาณ 2.8 ล้านตันต่อปี แต่ส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เอกชนเสนอให้ลดต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อ เพราะไทยยังต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งมาก โดยเฉพาะบราซิล ยูเครน ซึ่งมีต้นทุนผลิตต่ำกว่าไทยถึง 1 ใน3 นอกจากนี้ ได้ร่วมวางแผนการผลักดันตลาดส่งออกเดิม 8 ประเทศหลัก คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง แคนาดา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และเปิดตลาดใหม่ที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดต่ำอยู่ ใน 19 ประเทศ อาทิ สหรัฐ เบลเยียม เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน อังกฤษ เยอรมัน ฮ่องกง ซาอุดิอาระเบีย จีนฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ UAE ฟิลิปินส์ และไต้หวัน เป็นต้น  และเร่งรัดในเรื่องการเจรจาเปิดเสรีการค้า(เอฟทีเอ) ไทยกับอียู ไทยกับอังกฤษ รวมถึงเจรจาเพิ่มโควตานำเข้าไก่ไทยในยุโรปและอังกฤษ จากเดิมไทยได้โควตานำเข้าประมาณ 2.8 แสนตัน ให้เป็น 3.2 แสนตัน เนื่องจากภาษีนำเข้านอกโควตาสูงถึง 1,024 ยูโรต่อตัน แต่ภาษีในโควตาเสียที่ 320 ปอนด์ต่อตัน พร้อมกันนี้เร่งรัดพิจารณาใบอนุญาตรับรองการส่งออกของโรงงานในประเทศของประเทศหลักของญี่ปุ่น ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ทูตพาณิชย์ เร่งดำเนินการ

“ วิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ไม่มากนัก และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยติดปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องขนส่งและระบบโลจิสติกส์ติดขัดในบางจุดหรือต้นทุนสูงขึ้นจากมาตรการดูแลความปลอดภัย ก็จะเร่งเจรจาเพื่อให้การส่งออกไปได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องดูเรื่องการบริโภคในประเทศ และต้นทุนอาหารสัตว์ต่อไป เพราะอุตสาหกรรมไก่ไม่ได้มีแต่ผู้ส่งออกรายใหญ่เท่านั้น แต่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อกว่า 32,000 ราย ประมาณ 5,700 ครัวเรือนทั่วประเทศ กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น ลพบุรี นครราชสีมา ชลบุรี กาญจนบุรี และสระบุรี เป็นต้น รวมถึงเป็ดและสัตว์ปีกต่างๆที่ต้องดูแลไปพร้อมกัน “ นายจุรินทร์ กล่าว

นพ.อนันต์  ศิริมงคล นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก กล่าวว่า แม้ในไตรมาสแรกปีนี้การส่งออกไก่ขยายตัวได้ 7.21% แต่มีความกังวลส่งออกในช่วงไตรมาส2และ3 ไม่ใช่ปัญหาจากโลจิสติกส์แต่เป็นเรื่องมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ เช่น  สหรัฐ สหภาพยุโรป เบื้องต้นลดลงแล้ว 5% แม้ความต้องการในประเทศนั้นๆสูงแต่การปิดห้ามนำเข้าจากปัญหาโควิด เป็นเรื่องที่เกิดคาดเดาว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่

Advertisement

นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลง 50% หรือ 5 ล้านตัวต่อวัน เหลือ 2.5 ล้านตัวต่อวัน  ซึ่งส่งผลให้ราคาไก่เนื้อลดลง จากเดิมกิโลกรัมละ 33-34 บาท เหลือกิโลกรัมละ 24-25 บาท หรือลดลงกิโลกรัมละ 10 บาทที่กระทบต่อรายได้ผู้เลี้ยง  ดังนั้นความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนไปในทางเดียวกัน น่าจะทำให้การส่งออกไก่ไทยจะไปในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นแน่นอน และดูดซับไก่ในประเทศได้อย่างมาก

 

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image