เปิดวิจัย ‘คนจนเมือง’ จับชีพจรในนาทีวิกฤต เมื่อโควิดยังระบาด

ประชาชนออกมารับข้าวสารอาหารแห้งที่ผู้ใจบุญนำมาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดโควิด-19

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลไทยอย่าง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ถูกนำมากล่าวถึงในหลายแง่มุม โดยเฉพาะผลกระทบที่สะเทือนไปถึงการใช้ชีวิตและการทำมาหาเลี้ยงชีพของ “คนจนเมือง” จำนวนมากที่ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ และไม่มีหลักประกันความมั่นคง

7 คณาจารย์ต่างสถาบันจึงร่วมกันออกภาคสนาม สำรวจ คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19 พร้อมส่งข้อเสนอแนะที่น่าสนใจยิ่งต่อรัฐบาล

ทีมวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย 1.ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่, 2.ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, 3.รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 4.รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, 5.รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ทักษิณ, 6.ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา และ 7.ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น

ทั้งหมดนี้ดำเนินการร่วมกันในชื่อ โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดทำการสำรวจและผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดต่อคนจนเมืองอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรคนจนเมือง ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, ชุมชนแออัดในพื้นที่คลองเตย และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพฯและปริมณฑล, เชียงใหม่, สงขลา, ชลบุรี, ขอนแก่น และอื่นๆ รวม 18 จังหวัด

Advertisement

ใช้เวลาสำรวจรวม 4 วัน คือวันที่ 9-12 เมษายน 2563 เก็บแบบสำรวจรวมทั้งสิ้น 507 ชุด พร้อมแถลงผลวิจัยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และ เผยแพร่ข้อมูลทุกตัวอักษร ผ่านทางแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก “คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19” ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้

ใครบอกว่าคนจนไม่สนใจสุขภาพ?

ในวันแถลงผลการสำรวจ ศ.ดร.อรรถจักร์ ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการ กล่าวถึงที่มาของการสำรวจสั้นๆ ก่อนจะส่งให้ ผศ.ดร.บุญเลิศสรุปผลการสำรวจต่อไปว่า เรารู้สึกว่าสภาวะโควิด-19 ได้ก่อปัญหาให้สังคมไทยมากมาย จึงเสนอความคิดเห็นจากงานวิจัยเพื่อให้เห็นว่ามาตรการเข้มงวดของรัฐบาลในการจำกัดการแพร่ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการปิดสถานบริการ ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งคำขวัญว่าอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ตลอดจนการทำงานอื่นๆ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนมานาน

นักวิจัยซึ่งเป็นคณาจารย์จาก 6 มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันจัดทำการสำรวจและผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดต่อคนจนเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สังคมและรัฐบาลได้เห็นว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป

Advertisement

จากนั้น ผศ.ดร.บุญเลิศ แจกแจงรายละเอียดแบบสอบถามทั้ง 507 ชุด ว่า เกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามนี้เป็นเพศหญิง อีก 38.86 เปอร์เซ็นต์เป็นเพศชาย ไม่ระบุเพศและเพศทางเลือก รวม 2.37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอายุโดยเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามคือ 50 ปี

จากจำนวนดังกล่าว ผู้ตอบแบบสอบถามกระจายอยู่ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, เชียงใหม่, สงขลา ประกอบอาชีพต่างๆ อาทิ รับจ้างรายเดือน แต่ไม่มีประกันสังคม, รับจ้างรายวัน, ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย ร้านขายของชำ, อาชีพอิสระอื่นๆ เช่น ช่างต่างๆ

ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าวว่า ข้อค้นพบสำคัญจากการสำรวจคนจนที่อยู่ในชุมชนแออัดแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักคือ 1.สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 2.ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และ 3.การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ

จากประเด็นแรก ผลสำรวจชี้ชัดว่าคนจนเมืองเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ มีหน้ากากอนามัยสวมเกือบทุกครั้งเวลาออกจากบ้าน อีก 8.51 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า บางครั้งไม่มีหน้ากากอนามัยใส่ เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน โดยแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาแพงด้วยการหันมาใช้หน้ากากผ้าที่มีราคาถูกกว่า บางครัวเรือนมีการปรับตัวมาเย็บหน้ากากอนามัย ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าคนจนไม่สนใจสุขภาพ ไม่ดูแลตัวเองจนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ คนจนเมืองกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ ยังพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ส่วน 29.45 เปอร์เซ็นต์ พกบ้างเป็นบางครั้ง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเจลแอลกอฮอล์มีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัย จึงมีผู้ใช้น้อยกว่า


“อีกประการหนึ่งคือ เราถามว่า หากสมาชิกในครัวเรือนของท่านมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ที่พักของท่านมีความเหมาะสมที่จะให้สมาชิกท่านนั้นกักตัวเองแยกจากผู้อื่นหรือไม่ คนจนเมือง 43.79 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่มีพื้นที่ในบ้านกักตัวเพียงพอ อีก 26.43 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าสภาพที่อยู่อาศัยไม่พร้อม แต่สามารถดัดแปลงได้ ซึ่งมีเพียง 29.78 เปอร์เซ็นต์ ที่บอกว่าที่อยู่อาศัพของตนมีความเหมาะสม หากจะต้องกักสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวแยกจากคนอื่นๆ

“เรื่องนี้สะท้อนว่า หากคนจนเมืองใดเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อโควิด รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลให้การกักตนเองระหว่างดูอาการนั้นมีความเป็นไปได้ มิฉะนั้นเขาอาจนำเชื้อไปแพร่ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวได้”

งานหาย-รายได้หด
และ ‘เวิร์ก ฟรอม โฮม’ ที่ทำไม่ได้

ในแง่มุม ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ผลสำรวจชุดนี้ทำให้เห็นว่า มาตการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้คนจนเมืองเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจหลายประการ

เริ่มจากการไม่สามารถประกอบอาชีพและหารายได้ตามปกติ กล่าวคือ เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยที่ใกล้เคียงกันระบุว่า นายจ้างให้หยุดงานหรือเลิกจ้าง, ประกอบอาชีพอิสระ และไม่มีผู้ว่าจ้าง หรือมีผู้ใช้บริการน้อยลง, ประกอบอาชีพค้าขาย และค้าขายได้น้อยลง ทั้งนี้ เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติจึงทำให้รายได้ลดลง โดยผู้ตอบผลสำรวจกว่า 60 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่ารายได้ลดลงเกือบทั้งหมด

หากคำนวณเป็นรายได้ที่ลดลงของผู้ตอบแบบสำรวจ คนจนเมืองมีรายได้ลดลงโดยเฉลี่ย 70.84 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่เดิมรายได้ของคนกลุ่มนี้ก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ 13,397 บาท/ดือน ดังนั้น ช่วงระหว่างวิกฤตคนจนเมืองมีรายได้ลดลงประมาณ 9,490 บาท/เดือน คงเหลือรายได้เพียง 3,906 บาท/เดือนเท่านั้น

นอกเหนือจากรายได้หดหายราว 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว คนจนเมืองมากกว่าครึ่งระบุว่าไม่มีเงินส่งหนี้สิน และมีถึง 29.83 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีรายได้ถึงขนาดประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยคนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือของภาคเอกชน หรือบุคคลทั่วไปที่นำอาหารมาแจกจ่าย

ก่อนจะถามถึงประเด็น “Work From Home” ซึ่งแน่นอนว่าคนจนเมืองกว่า 79 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าอาชีพที่ตัวเองทำไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการรัฐที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลาง หรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงาน โดยเครื่องมือสารสนเทศทำงานที่บ้านได้

“ดังนั้น การโฆษณาว่า เวิร์ก ฟรอม โฮม ต้องเข้าใจว่าบางอาชีพหรือสถานภาพของคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ชนชั้นกลางสามารถปรับตัวจากการทำงานออฟฟิศได้ ทำงานในคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้ แต่คนจนที่มีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์ ขายของ อยู่บ้านก็ไม่มีรายได้ นี่เป็นส่วนที่อยากให้รับฟังว่ายังมีคนจนที่ไม่สามารถปรับตัวกับการทำงานที่บ้านได้” ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าวย้ำ

เมื่อฉันไม่ใช่คนฉวยโอกาส แถมยังถูกหลงลืม

สำหรับ การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ นั้น ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าวว่า มีคนจนเมืองจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ โดย 66.67 เปอร์เซ็นต์ที่พยายามลงทะเบียนในโครงการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท สามารถลงทะเบียนสำเร็จ 51.87 เปอร์เซ็นต์ และลงทะเบียนไม่สำเร็จ 14.60 เปอร์เซ็นต์ โดยอีก 28.99 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เรื่องนี้สะท้อนว่า คนจนเมืองไม่ใช่คนฉวยโอกาส เพราะเกรงว่าหากไม่มีคุณสมบัติแล้วได้รับเงินจะมีความผิดในภายหลัง

“ระหว่างเก็บผลสำรวจ ผมถามชาวบ้านคนหนึ่งที่เขาตกงานว่าไปลงทะเบียนรับเงิน 5,000 ไหม เขาบอกว่าเป็นคนต่างจังหวัด ไม่รู้ว่าต้องเดินทางไปลงทะเบียนที่ไหน กลัวว่าจะหลงทาง คำตอบนี้สะท้อนว่าเขาไม่เข้าใจว่าลงทะเบียนออนไลน์แปลว่าอะไร แม้เราจะพูดว่ามีคนจนจำนวนหนึ่งพยายามลงทะเบียน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เราลืมไม่ได้ว่าเขาไม่รู้ช่องทางการลงทะเบียนออนไลน์ คนเหล่านี้มักจะถูกตัดสิทธิ ซึ่งมักเป็นคนชายขอบที่ไม่ได้รับการดูแล และถูกลืมไป


“และที่ชุมชนแออัดแห่งหนึ่งไม่ไกลจากหัวลำโพง ผมเจอคุณป้า 2 ท่าน อายุ 63 ปี และ 67 ปี ทั้งคู่เป็นผู้เช่าห้องเล็กๆ อยู่ในชุมชนแห่งนั้น ประกอบอาชีพค้าขายโดยรถเข็นอยู่ในชานชาลาสถานีรถไฟหัวลำโพง และตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 เป็นต้นมา รถไฟหยุดให้บริการสายยาว ป้าก็ไม่มีรายได้ เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล อีกคนหนึ่งไม่เพียงไม่มีลูกหลานดูแล หากแต่ยังต้องดูแลลูกสาวที่พิการ

“ป้าทั้ง 2 กำลังถูกเจ้าของบ้านออกปากว่าถ้ายังไม่มีเงินจะไล่ออกจากห้องเช่า พวกเขาบอกว่าแต่ก่อนไม่ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ และเที่ยวนี้ก็ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนจึงให้คนอื่นช่วยลง คนกลุ่มนี้ลำบากมาก ชีวิตอยู่แบบวันต่อวัน แต่กลับได้รับความช่วยเหลือที่ล่าช้ามาก ดังนั้น เงิน 5,000 บาทที่รัฐบาลประกาศจะให้เขาจึงจำเป็นมากๆ แต่ไปถึงเขาแทบไม่ทันการณ์”

ปิดเมือง ต้องไม่ปิดตาย

ขณะที่ รศ.สมชาย ร่วมแถลงข้อเสนอแนะ “แบบเฉพาะหน้า” จำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.เสนอให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดซึ่งแต่เดิมเป็น “การสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน” เป็น “สวัสดิการถ้วนหน้า” พร้อมอธิบายว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากนโยบายที่รัฐใช้อยู่ตอนนี้เป็นนโยบายที่รัฐพยายามตั้งเกณฑ์ แล้วคัดคนเข้า ซึ่งทำให้คนตกหล่นจากเกณฑ์จำนวนมาก จึงเสนอว่าควรเปลี่ยนเป็น “สวัสดิการถ้วนหน้า” คิดว่าทุกคนได้รับผลกระทบ เมื่อได้รับผลกระทบจึงใช้เกณฑ์คัดออก โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่ได้รับผลกระทบเลยก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเยียวยานี้ เช่น ข้าราชการประจำ ลูกจ้างบริษัทรายเดือนที่ชัดเจนว่าไม่มีรายได้ลดลง

2.งบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ 4 แสนล้านบาท สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ ควรจัดสรรงบส่วนหนึ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน คณะกรรมการกองทุนชุมชนและหมู่บ้าน สำหรับฟื้นฟูชีวิตคนระดับรากหญ้า โดยการจัดสรรงบผ่านเครือข่ายภาคประชาชนทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริง และเกิดการตรวจสอบกันในระดับพื้นที่


3.ข้อเสนอต่อกองทุนประกันสังคม
โดยเงินของผู้ใช้แรงงานต้องกลับคืนสู่ผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือ คนทำงานจำนวนมากที่จ่ายเบี้ยประกันสังคมแต่ละเดือน และได้รับผลกระทบจากเรื่องต่างๆ เช่น นายจ้างให้หยุดงานหรือปิดกิจการ กลับได้รับการช่วยเหลือหรือค่าตอบแทนล่าช้ามาก

4.รัฐควรผ่อนปรนเปิดพื้นที่ค้าขายและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงกลไกรัฐอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ 5.ช่วงภาวะวิกฤตนี้ รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิม 600-800 บาท/เดือนตามช่วงอายุ เป็น 2,000 บาท/เดือน

“จากการลงไปเก็บข้อมูล เราพบว่าการล็อกดาวน์แบบไม่ให้ออกจากบ้านทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้ หลายคนไม่มีทุนเพียงพอ หรือไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เราอยากเสนอว่าปิดเมือง ต้องไม่ให้ปิดตาย และประชาชนต้องหายใจได้ ต้องทำมาหากินได้ พร้อมดึงชุมชนเข้ามามีส่วนในกระบวนการเหล่านี้”

ย้อนอ่าน : วิจัยยัน ‘โควิด’ กระทบชีวิต ‘คนจนเมือง’ ชง 5 ข้อเสนอทางนโยบาย จี้รัฐเยียวยา

แด่มาตรการป้องกันโรคที่ไม่ปกป้องคน

นอกเหนือจากผลสำรวจชุดดังกล่าว คณะวิจัยกลุ่มนี้ยังรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ ฆ่าตัวตายจากไวรัสโควิด-19 จากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2563 พบว่า มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต

เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (วันที่ 1-21 เม.ย.63) พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายเท่ากันคือ 38 ราย

หากพิจารณาในรายละเอียดของผู้ที่ทำอัตวินิบาตกรรมจะพบว่า เป็นเพศชาย จำนวน 27 ราย เพศหญิง จำนวน 11 ราย เป็นลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่น พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม เป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของธุรกิจรายย่อย จำนวน 3 ราย โดยมีอายุเฉลี่ย 40 ปี

ย้อนอ่าน : ท้อ !! ชีวิตลำบาก-ไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 โดดน้ำฆ่าตัวตาย 2 ครั้ง
หนุ่มหมดหวังช่วงโควิดฆ่าตัวตาย หลังจากนั้น 2 วันเงินเยียวยาเข้าบัญชี
หญิงเครียด กินยาเบื่อหนู ขณะมาทวงถาม ขอสิทธิรับเงินเยียวยา 5 พัน

โดยข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ คณะวิจัยสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือกลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสาหลักหรือรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว


อย่างไรก็ดี คณะวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งคล้ายคลึงกับผลสำรวจชุดแรกรวม 4 ข้อคือ 1.รัฐบาลควรตระหนักให้มากกว่านี้ว่าการฆ่าตัวตายของประชาชนเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที และครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม 2.รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิด “ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า” ไม่ใช่ “สงเคราะห์เพียงบางคน”

3.ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงระดับสูงจำเป็นต้องมีการ “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ” เช่น ตลาด, ร้านค้ารายย่อย เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ และ 4.รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น เช่น การสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน

ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนชี้ให้เห็นว่า สารพัดมาตรการของรัฐ และการช่วยเหลือที่ช้าเกินการณ์จึงไม่เพียงแต่เป็นแผลร้ายของคนจนเมือง หากแต่ยังทำให้คนคิดสั้น ฆ่าตัวตาย ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะช่วยหยุดห้วงเวลาเลวร้ายเช่นนี้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image