‘หม่อมเต่า’ รับจ่ายเงิน ม.33 อืด เหตุ ‘นายจ้าง’ ไม่รับรองหยุดงาน ตั้งทีมเร่งรัดการทำงาน

‘หม่อมเต่า’รับจ่ายเงิน ม.33 อืด เหตุนายจ้างไม่รับรองหยุดงาน ตั้งทีมเร่งรัดการทำงาน

ประกันสังคม- เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเยียวยาให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ถูกตั้งข้อสังเกตมีความล่าช้าว่า ปัญหาตอนนี้คือ การจ่ายเงินผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมี 2 เรื่อง คือ ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบบการตรวจสอบมีความซับซ้อน ทำให้ใช้เวลามากขึ้น จึงต้องมีการปรับระบบให้มีขั้นตอนที่เร็วขึ้น และคนขอรับสิทธิต้องมีทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ที่ต้องกรอกข้อมูลให้ตรงกัน โดยมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิแล้วกว่า 1 ล้านคน ขณะนี้จ่ายไปแล้วกว่า 2 แสนราย และจะจ่ายในที่ 4 พฤษภาคมนี้ อีก 3 แสนคน รวม 5 แสนคน ส่วนผู้ที่ยื่นขอใช้สิทธิอีก 5 แสนคน ยังมีปัญหา เพราะนายจ้างไม่ได้ยื่นเอกสารรับรองการหยุดงาน ดังนั้น ตนจึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดต่อนายจ้าง ให้รีบเข้าลงทะเบียนรับรอง ให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิรับเงิน คาดว่าปัญหานี้จะจบภายใน 1 สัปดาห์

“เงินที่นำมาจ่ายไม่มีปัญหา ที่ผ่านมา มีข่าวว่าเราไม่มีเงินมาจ่าย ซึ่งหากมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 1 ล้านคน รับรองว่าเงินที่มีอยู่รองรับได้สบาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐได้มีการคลายล็อกให้สถานประกอบการบางส่วนได้มีการเปิดกิจการ ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจจะเดินหน้าได้ มองว่าจะมีคนจะกลับไปทำงาน และการจ่ายเงินกรณีว่างงานก็จะลดลง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

วันเดียวกัน นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ม.ร.ว.จัตุมงคลได้มีคำสั่งด่วนแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัด ติดตาม การเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เพื่อจะเร่งการเบิกจ่ายเงินทดแทนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้เร็วที่สุด เพราะเข้าใจความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

“หลังจากเหตุสุดวิสัยครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ทั้งหมด ลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในมาตรา 33 ได้มาลงทะเบียนรับเงินทดแทนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เร่งมือทำการเบิกจ่ายให้ผู้ประกันตนไปแล้วหลายแสนคน ขณะนี้มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ในตรวจสอบข้อมูลของ ลูกจ้าง นายจ้าง เพื่อให้ทำการเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุด สิ่งสำคัญที่ สปส.อยากเน้นย้ำให้ผู้ประกันตนต้องอย่าลืมคือ การลงทะเบียนของนายจ้าง ซึ่งปัญหาที่ สปส.ไม่สามารถเบิกจ่ายให้ลูกจ้างได้ เพราะเมื่อลูกจ้างมาลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว นายจ้างจะต้องลงทะเบียนด้วย เพื่อยืนยันกันทั้งสองฝ่าย” นายดวงฤทธิ์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ม.ร.ว.จัตุมงคลได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงแรงงาน ที่ 220/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงาน เร่งรัด ติดตาม การเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 79/1 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ประกอบด้วย 1.พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน 2.นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน 3.รศ.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 4.น.ส.อำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน 5.นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สปส. 6.นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ นักวิชาการแรงงานชำนาญการเป็นคณะทำงาน 7.นายมนัส ทานะมัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ สปส.

โดยคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ 1.ศึกษาการยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 79/1 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 2.ดูแลรับผิดชอบเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายให้เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว และ 3.ประสานงานกับนายจ้างกรณีลูกจ้างประสบปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image