จากไกด์สนามมวย สู่ผู้(หาย)ป่วย “โควิด” วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง ครั้งที่เรา(เคย)ใช้ร่างกายเดียวกัน

จากไกด์สนามมวย สู่ผู้(หาย)ป่วย “โควิด” วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง ครั้งที่เรา(เคย)ใช้ร่างกายเดียวกัน

6 มีนาคม 2563 คือวันที่นักแสดงและพิธีกรหนุ่ม “แมทธิว ดีน” สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 จากสนามมวยลุมพินี ห้วงเวลานั้น “โต้ง” พนักงานต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในสนามมวยวัย 39 ปี ทำหน้าที่บริการลูกค้าอย่างสุดความสามารถ โดยไม่ทันรู้ตัวเลยว่าตนเองจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อรายต่อไป

ในวันที่ วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง หรือ โต้ง ยังไม่รู้ว่าเชื้อโควิด-19 ได้เข้ามาใช้ร่างเดียวกับตัวเอง เขายังคงตื่นไปทำงานอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ตรวจสอบตั๋วมวยให้ลูกค้า จัดแจงหาที่นั่งให้เสร็จสรรพ ดูแลเทกแคร์อย่างดี ไม่ว่าจะพบปัญหาหรือมีคำถามใดๆ เจ้าตัวก็พร้อมช่วยเหลือ อีกทั้งหลังการแข่งขันยังพาไปถ่ายรูปกับนักมวย กระทั่งเรียกรถส่งลูกค้ากลับเรียบร้อย

เพราะไม่เคยกังวลและไม่หวั่นต่อเชื้อโรคร้าย ด้วยมั่นใจว่าร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ประกอบกับการดูแลตัวเองที่ดีพอ และองค์ความรู้เรื่องโควิด-19 ทำให้เขาปลอดภัยแน่นอน ทว่าความไม่สบายใจทั้งหมดกลับไปตกอยู่ที่คนรอบข้างแทน

“เท่าที่นึกออก ผมนอนโรงพยาบาลครั้งล่าสุดตอนอายุ 6-7 ขวบ เพราะป่วยเป็นไข้เลือดออก หลังจากนั้นก็ไม่เคยนอนอีกเลย เวลาเจ็บไข้นิดหน่อยก็ทานยา แต่ถ้ารู้สึกว่าจะหนักหน่อยก็ไปหาหมอตามคลินิก และผมไม่ได้ป่วยบ่อยด้วย ดังนั้น เรื่องนี้มาจากการที่คนรอบข้างรู้สึกไม่สบายใจจึงไปตรวจให้ชัวร์”

Advertisement

14 มีนาคม 2563 คือวันที่เขาตัดสินใจเดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจหาเชื้อไวรัส จวบจนกว่า 8 ชั่วโมงแห่งการรอคอยสิ้นสุดลง วุฒิศักดิ์ในชุดเสื้อยืดลวดลายที่ออกแบบเองได้รับแจ้งผลการตรวจจากหมอโรงพยาบาลศิริราชว่า เขาติดเชื้อโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว

4 สเต็ป 2 สถานพยาบาล ตลอด 28-29 วันของการรักษาตัว วันนี้วุฒิศักดิ์สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง

นี่จึงเป็นบทสนทนาที่ว่าด้วย “คนเคยป่วย” ในห้วงที่ต้องตกงาน และ “โควิด-19” ยังคงโจมตีโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

วุฒิศักดิ์ เมื่อครั้งทำหน้าที่พนักงานต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในสนามมวยลุมพินี

เริ่มมีอาการป่วย จนต้องไปโรงพยาบาลคือช่วงเดือนมีนาคม?

เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 11 มี.ค.ตอนเย็นๆ ค่ำๆ มีอาการเมื่อยตัว มีไข้ ซึ่งวันนั้นยังไปทำงานอยู่ พอเลิกงานก็กลับบ้านกินข้าวกินยานอนพัก ตื่นมาอีกวันหนึ่งไข้ลดลงไปนิดหน่อย อาการเมื่อยเนื้อตัวดีขึ้น แต่ก็กินยาต่อ จนวันที่ 13 มี.ค. ดีขึ้นเยอะแล้ว ไม่มีไข้แล้ว อาการเมื่อยเนื้อตัวก็ดีขึ้น ร่างกายกลับมาประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ผมยังนึกว่าไม่มีอะไร

ตอนนั้นเองที่คุณแมทธิว ดีน ออกมาบอกว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งน่าจะติดจากสนามมวยลุมพินีวันที่ 6 มี.ค. ซึ่งผมก็อยู่ในนั้น ทำงานปกติ

คนรอบข้างรู้สึกไม่สบายใจ อยากให้ผมไปตรวจให้ชัวร์ วันที่ 14 มี.ค.เลยไปโรงพยาบาลศิริราช ตึกปิยมหาราชการุณย์ ตอนนั้นเสิร์ชข้อมูลดูว่ามีไม่กี่โรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด หนึ่งในนั้นมีที่นี่ และอยู่ใกล้บ้านที่สุดเลยไป พยาบาลบอกว่าตรวจได้ ถ้าตรวจแล้วไม่เจอต้องเสียค่าตรวจ 9,900 บาท แต่ถ้าตรวจเจอก็ไม่เป็นไร ไม่เสียค่าตรวจ ซึ่งผมคิดในใจว่าไม่น่าจะติด เพราะอาการมีแป๊บเดียวและหายไปแล้ว เลยไม่อยากเสียตังค์

ตอนแรกก็จะกลับบ้าน แต่ถามเขาว่ายังมีที่ไหนตรวจแล้วไม่เสียเงินบ้าง พยาบาลแนะนำให้ไป รพ.ศิริราช เพราะเพิ่งเปิดแผนกโควิด-19 ถ้าหมอประเมินแล้วมีความเสี่ยงที่จะต้องตรวจก็ตรวจฟรี ผมเลยเดินไปที่ศิริราช พร้อมเข้าสู่กระบวนการคัดกรองของเขา

สภาพจิตใจช่วงที่อยู่ในโรงพยาบาลเป็นอย่างไรบ้าง?

ต้องบอกว่าตั้งแต่วันแรกที่ไปตรวจ ผมไปตรวจประมาณบ่าย 3 ครึ่ง ได้ผลตรวจประมาณ 5 ทุ่มนิดหน่อย ซึ่งที่ รพ.ศิริราช เขามีที่ให้นั่งรอเป็นเหมือนพื้นที่พิเศษ เสมือนเรามีความเสี่ยง มีเชื้อแล้ว ก็นั่งอยู่คนเดียว

7-8 ชั่วโมงที่รอก็ไม่มีความกังวลว่าจะติดเลย แต่พอผลออกมาว่าเรามีเชื้อโควิด-19 ในใจก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้กังวลสุขภาพตัวเองเลย เพราะไม่ได้มีอาการรุนแรง ที่สำคัญคือมีองค์ความรู้ว่าโรคนี้เป็นอย่างไร ผมศึกษามานานแล้วตั้งแต่มันเข้ามาใหม่ๆ พอศึกษาทำความเข้าใจกับมันว่า ถ้าเราเป็น แต่ร่างกายแข็งแรงปกติก็ไม่ได้อันตราย ประกอบกับอาการก็ไม่ได้มีอะไรแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือผมได้มาอยู่ใน รพ.ศิริราช ซึ่งแค่บอกว่าศิริราช เรื่องความมั่นใจก็มาอยู่แล้ว ดังนั้น ผมไม่ได้มีความกังวลใจอะไรเลย แต่ความกังวลไปตกอยู่กับคนรอบข้างมากกว่าว่าเขาจะติดไหม ซึ่งพอเรามีอาการก็ได้แยกตัวออกมา เหมือนคนเป็นหวัดที่ต้องแยกตัว จะได้ไม่ติดคนอื่น

เรื่องกระบวนการรักษา หนักที่สุดคือ 5 วันแรกที่หมอให้ทดลองยาต้านไวรัส ต้องกินวันละกว่า 10 เม็ด ผลข้างเคียงเยอะ เช่น ท้องเสีย พะอืดพะอมตลอดเวลา มึนหัว จะอาเจียนอย่างเดียว ร่างกายมันรวนไปหมด เพราะฤทธิ์ยาต้านแรงมาก ผมมีอาการอยู่ประมาณ 5 วันนั้น หลังจากนั้นเมื่อหยุดยาไปร่างกายก็ค่อยๆ ฟื้นตัว กินได้นอนหลับปกติ เหมือนแค่รอเวลาให้จบแค่นั้นเอง ไอบ้างนิดหน่อย หมอก็ให้ยาแก้ไอมากินตามอาการ สุดท้ายก็อยู่ให้ครบไป

โปรแกรมการรักษาคือ 14+14 คือรักษาในโรงพยาบาล 14 วัน ถ้าใครสะดวกกลับบ้าน ไปอยู่ในระบบปิด กักตัวเองได้ ก็ให้กลับไปอยู่บ้าน 14 วัน ครบ 28 วันก็หายขาดไปเลย นี่เป็นผลวิจัยจากทั่วโลกที่ศิริราชได้ข้อมูลมาและใช้วิธีนี้ในการรักษา คือจะไม่มีการตรวจซ้ำแล้วว่าให้ผลเป็นลบถึงจะได้ออกจากโรงพยาบาล แม้สิ่งที่ตรวจไปบางทีก็ยังเป็นบวก แต่มันคือไวรัสที่ตายแล้ว คนที่ครบ 14 วันก็กลับไปอยู่บ้านให้ครบอีก 14 วัน เป็น 28 วัน ส่วนใครที่ไม่สามารถกลับไปอยู่บ้านได้ ไม่สะดวก เขาก็มีโรงพยาบาลสนาม ผมก็ได้ย้ายไปที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ที่นั่นให้ครบ 28 วัน แล้วก็ออกมาใช้ชีวิตปกติ


กลุ่มเพื่อนๆ ผู้ป่วยที่รักษาตัวด้วยกันเป็นอย่างไร เครียดไหม?

ต้องบอกว่าสเต็ปการรักษาของผมอยู่มาทั้งหมด 4 แห่ง พอแอดมิตเข้าไปก็อยู่ในห้องความดันลบ เป็นห้องเดี่ยว อยู่คนเดียว สังเกตอาการ 2 วันก็ย้ายไปห้องวีไอพี เป็นห้องเดี่ยวเหมือนกัน อยู่ 2 วัน เพื่อสังเกตอาการ วันรุ่งขึ้นก็ไปอยู่ห้องรวม มีประมาณ 20 เตียง ในห้องนี้เราจะได้เจอคนอื่นแล้ว เห็นแล้วว่าบางคนไม่คุย แต่ผมเป็นพวกคุยเก่ง ชวนคนนู้นคนนี้คุยไปเรื่อยว่าเป็นยังไงบ้าง เหมือนเป็นการบำบัดกลุ่มคือเราได้แชร์ประสบการณ์ คุณเจออะไรมาบ้าง โดนอะไรมามั่ง ติดมาจากไหน ทำไมถึงติด อาการเป็นยังไง หนักไหม

ทุกคนเป็นเหมือนกันหมดที่กินยาต้านแล้วจะแย่หน่อย มีช่วง 5 วันนั้นที่วิกฤต อันตราย แต่ทุกคนก็ผ่านตรงนั้นมาหมด ใครที่ขึ้นมาใหม่ ยังไม่ได้กิน ก็จะให้กำลังใจกันว่าไม่มีอะไรหรอก เป็นผลข้างเคียงของยา ไม่เกี่ยวกับโรค พอได้พูดคุยกันเยอะๆ ก็ผ่อนคลาย

หลังจากห้องรวมแล้วก็ย้ายไปอยู่ศูนย์การแพทย์กาญจนา ที่นั่นเป็นห้องคู่ นอนห้องละ 2 คน แต่เขามีห้องนั่งเล่นให้ คนไข้ทุกคนสามารถนั่งคุย นั่งเล่นกันได้ เหมือนการคุยเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจ เราก็หากิจกรรมทำกัน ทำให้สนิทกัน ซึ่งก็มีน้องๆ พี่ๆ มาคุยกัน มีคนหนึ่งเป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส เห็นว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วมานำออกกำลังกายให้หน่อย สุดท้ายก็มาออกกำลังกายกันในห้องนั้น

กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ด้วยกันอาการไม่หนัก และไม่เห็นว่าคนที่อาการหนักเป็นยังไง เพราะที่ศิริราชแยกโซนผู้ป่วยไว้ เราก็อยู่ในพวกที่ไม่มีอะไร บางคนแทบไม่มีอาการอะไรด้วยซ้ำ สุขภาพจิตจึงไม่ได้แย่มาก แต่บางคนเขาไม่เคยชินกับการอยู่โรงพยาบาลนานๆ อาจมีความเครียด อยากกลับบ้าน อยากกินนั่นนี่ แต่ดีว่าสั่งอาหารดิลิเวอรีได้ อย่างที่ศิริราชผมก็สั่งทุกวัน พอเริ่มกินได้แล้วก็ถามเลยว่าใครกินอะไรบ้าง ผมเป็นคนจดออเดอร์แล้วสั่งให้ทีเดียว (หัวเราะ) เป็นคอมมูนิตี้ที่โอเคเลย

ความเป็นอยู่ในโรงพยาบาลดีมากๆ ส่วนคนไข้เองก็มีบางคนเท่านั้นที่มีความกังวลเยอะ มีพี่คนหนึ่งอายุประมาณ 46-47 พอรู้ว่าตัวเองติดเชื้อก็ร้องไห้โฮเลย เขาคิดในใจว่าตายแน่นอน แต่ระหว่างที่นั่งเข็นรถไป เขาก็ถามเจ้าหน้าที่ว่าตัวเองจะตายไหม เจ้าหน้าที่ที่ศิริราชตอบเท่มาก เขาบอกว่าทำงานที่นี่มานาน คนรักษาโควิดที่ศิริราชก็ยังไม่เห็นใครเสียชีวิตสักคน พี่คนนั้นเลยใจชื้นขึ้นมา พอได้มาคุยกันที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาก็ได้ปรับทุกข์กัน เขาก็สบายใจขึ้น

นี่เป็นเรื่องสำคัญว่าเวลาป่วยคนเดียวแล้วเครียด ผมก็เป็นช่วง 4 วันแรกที่อยู่คนเดียว คิดไปต่างๆ นานาว่าอาการแบบนี้หนัก เป็นอาการของโรคหรือเปล่า จะลงปอดไหม เพราะได้ข้อมูลมาว่ามันอาจมีโอกาสลงปอด ทำให้การหายใจไม่ดี และเราเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไร เพราะเป็นผลข้างเคียงของยา ไม่เกี่ยวกับโรคเลย ดังนั้น หากรู้ก่อนหรือได้คุยกับคนอื่นบ้างก็สบายใจขึ้น


ตอนนี้กลับมารักษาตัวที่บ้าน กลับไปทำงาน หรือทำอย่างอื่นอยู่ด้วยไหม?

งานผมอยู่ที่สนามมวย ซึ่งลิสต์รายการก็ออกมาแล้วว่าสนามมวยน่าจะเปิดเป็นที่สุดท้ายแน่นอน ฉะนั้น ตอนนี้ตกงานยาวๆ และผมรับเงินเป็นวันๆ ไม่มีงานก็ไม่มีเงินแน่นอน ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยเงิน 5,000 บาท ของรัฐ

ปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำงานแน่ๆ และไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ถึงจะได้ทำ แม้สนามมวยเปิด แล้วนักท่องเที่ยวล่ะ มันเป็นลูกโซ่เลย โควิดทำให้การเดินทางระหว่างประเทศหรือในโลกนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแน่นอน ดังนั้น ใครจะกล้ามาเที่ยว และผมทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยตรง เน้นลูกค้าต่างชาติอยู่แล้ว กลายเป็นว่าแทบจะจบเลย ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีกว่าจะได้กลับมาเหมือนเดิม จึงมองอย่างอื่นที่มีรายได้ เช่น กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด หางานที่ต่างจังหวัด เลยต้องวางแผนใหม่ ส่วนชีวิตประจำวันก็ว่างทั้งวัน

ผมไม่ได้ดูแลรักษาตัวแล้ว เพราะหายดีตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาล จริงๆ ก็ตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่บอกว่าเมื่อกินยาต้านไป 5 วัน หลังจากนั้นก็ไม่มีอาการแล้ว อยู่ให้ครบกำหนดเท่านั้นเอง พอออกมาก็ใช้ชีวิตปกติ คุณหมอก็บอกว่าไม่มีอะไร แต่ต้องทำเสมือนว่าตัวเองยังไม่เคยติด เรื่องนี้สำคัญ เพราะข้อมูลต่างๆ ในตอนนี้เป็นเรื่องใหม่มาก ดังนั้น ที่บอกว่าเคยติดเชื้อแล้วมีโอกาสติดซ้ำหรือไม่ก็ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ หมอบอกว่าตามหลักทางการแพทย์ก็ไม่น่าจะติดแล้ว แต่ด้วยสภาพของโรคที่เพิ่งมีมา 3-4 เดือนก็ยังบอกไม่ได้ว่าชีวิตนี้จะไม่ติดแล้ว หรือจะมีภูมิคุ้มกันไปได้ 6 เดือน 1 ปี 2 ปี

ดังนั้น จึงให้ทำตัวเองเสมือนว่า ยังไม่เคยติด


จบสังคมสงเคราะห์ศาสตร์แล้วมาทำอาชีพพนักงานต้อนรับชาวต่างชาติที่สนามมวยได้อย่างไร ส่วนตัวชอบมวยไทยอยู่แล้ว?

เป็นจังหวะชีวิตมากกว่า ส่วนใหญ่ที่เรียนสังคมสงเคราะห์จะจบ 3 ปีครึ่ง ระหว่างรอรับปริญญาผมก็ไปลองหางานทำดู ขายของที่ข้าวสารได้หลายเดือนเหมือนกัน แล้วก็ไปทำอีกหลายอย่าง เห็นว่ามีพาร์ตไทม์ที่สนามมวย เขาต้องการคนพูดภาษาอังกฤษได้ เราก็ฝึกวิชาจากข้าวสารมาพอสมควร เลยไปสมัครพาร์ตไทม์พนักงานต้อนรับชาวต่างชาติที่สนามมวย

พอทำไปก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์ มีความเป็นอิสระ มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ และมันตื่นเต้น เนื้องานสนุก เพราะได้คุยกับต่างชาติเยอะมาก เหมือนเปิดโลกเรา สุดท้ายก็กลายเป็นงานประจำ ทำมา 17-18 ปี ตอนนี้ก็เริ่มอิ่มตัวแล้ว ไม่ได้สนุกเหมือนเมื่อก่อน และเราต้องการความมั่นคงกว่านี้

ชาวต่างชาติที่มาดูมวยสนใจด้านไหน หรืออยากให้เราแนะนำอะไรเป็นพิเศษไหม?

หน้าที่หลักๆ ที่ผมต้องทำคือดูเรื่องตั๋วมวย จากนั้นก็พาไปนั่งตามจุด ดูแลเทกแคร์ ดูว่ามีปัญหาไหม หรือมีอะไรอยากรู้ก็ถามได้ ตอนจบก็พาเขาไปถ่ายรูปกับนักมวย นี่ก็เป็นเครดิตของเรา สุดท้ายก็เรียกรถให้เขากลับ ส่วนต่างชาติต้องการอะไรไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ที่เห็นคือคนที่มาดูมวยส่วนใหญ่เพราะต้นฉบับมวยไทยอยู่ที่ไทย และสนามมวยที่ดีที่สุดของประเทศคือราชดำเนินกับลุมพินี

มวยไทยไม่ได้อยู่แค่ในไทย เพราะมันป๊อปปูลาร์ บางประเทศมาจ้างนักมวยไทยเก่งๆ ไปต่อย ทำกันเป็นธุรกิจ บางประเทศจ้างเทรนเนอร์ไปสอนค่ายมวยดังๆ กลายเป็นว่านอกจากมวยไทยจะเป็นมรดกไทยแล้ว ยังเป็นมรดกโลกด้วยซ้ำ คนเลยสนใจกัน อีกทั้งเดี๋ยวนี้ข่าวสารกระจายถึงกันรวดเร็ว ดังนั้น คนที่สนใจศิลปะการต่อสู้ สนใจกีฬา ถ้ามาประเทศไทยก็นึกถึงมวยไทยเป็นลำดับแรก

หากสถานการณ์คลี่คลาย นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา จะกลับไปทำอาชีพนี้อยู่ไหม?

อาจต้องดูก่อนว่าเมื่อไหร่ และตอนนั้นผมมีอย่างอื่นทำแล้วหรือเปล่า ถ้ามีอย่างอื่นทำและรู้สึกโอเคก็คงไม่กลับไปแล้ว ซึ่งตอนนี้นอกจากจะทำงานที่สนามมวย ผมยังมีธุรกิจเล็กๆ คือทำเสื้อยืดลายมวย ออกแบบเอง แต่ฝากคนอื่นขายที่สนามมวย มีชื่อเดียวกับเฟซบุ๊กคือ Tong Muaythai

บ้านผมอยู่อำเภอเมืองชุมพร ใกล้ทะเลมาก ซึ่งชุมพรเป็นเมืองรองที่กำลังดันให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ตอนนี้ค่อนข้างพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะสถานที่ท่องเที่ยว อาหารการกิน ผู้คน คือเป็นเมืองที่ราคาถูกมาก คุณกำเงินไป 2,000-3,000 บาท ก็อยู่ได้แล้ว 3 วัน 2 คืน พ่อผมมีรถสองแถว รู้จักชาวบ้านที่ขับรถสองแถวเยอะ ผมเลยริเริ่มโครงการรถสองแถวนำเที่ยว ใครที่อยากได้ความชิล และรายได้ถึงชาวบ้านโดยตรงก็มาได้

ตอนนี้ทำมาได้ 1 ปีแล้ว มีเพจชื่อ “Chumphon Travel Local Car รถสองแถวนำเที่ยวชุมพร” เริ่มมีลูกค้าบ้างแล้ว แต่เจอโควิดไปก็แย่ เพราะช่วงสงกรานต์มีคนจองเข้ามาเยอะมาก แต่ก็ยกเลิกกันไปหมด

เจอโควิด-19 แล้วมุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปไหม?

มีบางอย่างที่เปลี่ยนไป โควิด-19 สอนให้เรารู้ว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น ชัดเจนเลยว่าต่อให้คุณมีเงินมหาศาล คุณอาจทำอะไรบางอย่างไม่ได้เหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้วชีวิตคนต้องการแค่ปัจจัย 4 เท่านั้นเอง

อย่างที่บอกว่าฤทธิ์ของยาต้านรุนแรง ทำให้มีผลข้างเคียง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่าเหมือนจะตาย มันอึดอัดไปหมด เลยนึกขึ้นได้ว่าเราต้องการแค่นี้เอง ต้องการแค่ยารักษาโรค ต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ของคนอยู่แล้ว ไม่ได้ไปนึกถึงหนังเรื่องใหม่ที่เข้า เพลงใหม่ๆ ที่ต้องดู หรือเสื้อผ้า แฟชั่นที่เราต้องตาม เราไม่นึกถึงตรงนั้นเลย พอถึงจุดหนึ่งเราคิดว่ามันมีอะไรที่จำเป็นก็คือจำเป็น อะไรที่ต้องตัดก็ตัดได้ ใช้ชีวิตแค่พอที่จะดำรงชีวิตได้ก็พอแล้ว

ที่สำคัญคือเรามีอะไรที่ช่วยสังคมได้บ้าง เพราะรู้สึกว่าป่วยทั้งทีต้องมีอะไรดี ไม่ใช่มีแต่ข้อเสีย พอมานั่งนึกก็คือการให้ความรู้ความเข้าใจกับคน ง่ายที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เราใช้แค่ประสบการณ์บอกต่อผู้คนให้เขาเข้าใจให้ถูกต้องแค่นั้นเอง และมันเห็นผลจริงๆ ตอนที่ผมเขียนใหม่ๆ ก็มีคนทักเข้ามาว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้จะติดไหม ผมก็ตอบคำถามไป ทำให้เขาสบายใจขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็คือ 0 แต่ถ้าเราทำอะไรไปสักนิดหน่อยก็ยังมีโอกาสแค่ 1 หรือ 2 ก็ยังดี ดีกว่าไม่ทำเลย ดังนั้น อยากให้ทุกคน ใครทำอะไรได้ทำเลย เพื่อสังคม เพื่อชุมชนของคุณเอง หรือแม้แต่ครอบครัวของคุณเอง

คุณไม่ต้องไปคิดหรอกว่าจะได้อะไรขนาดไหน คิดแค่ว่าทำไปเถอะ เดี๋ยวเห็นผลเอง เห็นน้อยก็ดีกว่าไม่ทำเลย

อย่ารังเกียจกันในวันที่หายป่วย “เพราะพวกเราแพร่เชื้อไม่ได้”

วาทะ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” มีความหมายมากกว่าที่เคย เมื่อ วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง หรือโต้ง พนักงานต้อนรับชาวต่างชาติที่สนามมวย อดีตผู้ติดเชื้อโควิด-19 โพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเพจเฟซบุ๊ก “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” พร้อมระบุตอนหนึ่งว่า ติดเชื้อโควิด-19 จากสนามมวยช่วงกลางเดือนมีนาคม รักษาตัวใน รพ.ศิริราช และศูนย์การแพทย์กาญจนา รวมทั้งหมด 29 วัน ปัจจุบันหายดีแล้ว ใครมีคำถามเกี่ยวกับโควิด-19 ก็ถามได้นะครับ หรือใครอยากสัมภาษณ์เพื่อเป็นวิทยาทานให้ทุกคนก็ยินดีมากๆ

ติดเชื้อทั้งทีจะได้ไม่เสียเปล่า ทำประโยชน์ให้สังคมบ้าง เพราะเรามันเลือดเหลืองแดงอยู่แล้ว

“ผมเน้นเรื่องนี้มาก เพราะเราอยู่ด้วยกันได้เพราะความเข้าใจกัน พอมีความเข้าใจก็จะมีความเห็นอกเห็นใจ มีความเอื้ออาทรต่อกัน เพราะรู้แล้วว่าเขาเป็นแบบนี้ หายแล้ว ใช้ชีวิตได้ตามปกติ เมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข ไม่ใช่ว่าคุณยังไม่รู้เลยว่าหายแล้ว แพร่เชื้อไม่ได้จริงไหม หรือมีความเคลือบแคลง แล้วก็วิตกกังวล ผมอยากให้ทุกสื่อเน้นย้ำว่า คนที่ติดเชื้อและหายดีแล้ว คนที่หมอปล่อยกลับบ้านแล้ว เขาไม่มีเชื้อแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์

“ดังนั้น ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรังเกียจ อาจต้องกลัวคนทั่วไปที่มีเชื้อแต่ไม่รู้ตัวมากกว่า หมอเองก็อยากให้ผมและคนอื่นๆ บอกกับทุกสื่อว่า ถ้ามีโอกาสบอกเรื่องนี้ก็บอกเลยว่าเราหายแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีกแล้ว ไม่ต้องวิตกหรือรังเกียจ”

วุฒิศักดิ์บอกว่า ปัจจุบันนี้ยังพูดคุยกับเพื่อนพี่น้องที่เคยป่วยโควิดผ่านกลุ่มไลน์ “ผู้ประสบภัยโควิด” โดยหัวข้อสำคัญคือสังคมไม่ยอมรับ จนสภาพจิตใจพังทลายไปหลายคน รวมทั้งการบริจาคพลาสมาที่มีขั้นตอนมากมาย หลายรายเกิดความท้อแท้

“เราคุยกันอยู่ว่าจะไปบริจาคพลาสมากัน แต่ขั้นตอนเยอะไปนิดหน่อย ต้องลงทะเบียนออนไลน์ก่อน จากนั้นรอเจ้าหน้าที่โทรมา เขาก็จะนัดให้ไปตรวจร่างกายถึงจะบริจาคได้ รวมแล้ว 4 ขั้นตอน ผมว่าขั้นตอนอาจเยอะเกินไป เสียดายที่ว่าคนอยากบริจาคมีเยอะ แต่พอเจอขั้นตอนเข้าไปก็ไม่อยากไปแล้ว หรือผู้ที่อายุมากๆ หลายคนก็ลงทะเบียนออนไลน์ไม่เป็น

“ผมบอกเขาเสมอว่า ไม่สำคัญหรอกว่าพวกเราจะผ่านอะไรกันมา มันสำคัญว่าพวกเราจะทำอะไรกันต่อไป”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image