ส่องการบ้าน‘ฝ่ายค้าน’ เปิดประชุมสภานัดแรก

หมายเหตุ – ความเห็นของพรรคฝ่ายค้านถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายภายหลังนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลฟื้นฟูประเทศวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

จิรายุ ห่วงทรัพย์
ส.ส.กทม.และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

เมื่อเปิดประชุมสภา สมัยสามัญ คราวนี้ที่รัฐบาลได้มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลฟื้นฟูประเทศ จำนวน 3 ฉบับ วงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทออกมา พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคฝ่ายค้าน คงต้องลงรายละเอียด พ.ร.ก.ดูรายละเอียดในแต่ละฉบับว่าที่อ้างว่าจำเป็นต้องกู้เพื่อมาบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์โควิดนั้น เป็นการตีเช็คเปล่าตามที่ได้มีนักวิชาการออกมาพูดหรือไม่ โดยที่รัฐบาลจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่าวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของวงเงินกู้ แล้วเงินที่กู้มาสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นจำนวนหรือสัดส่วนเท่าไหร่ของจีดีพี เพราะที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด รัฐบาลได้เผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นการนำทุกเรื่องมาตีขลุมโดยอธิบายว่าเป็นการกู้เงินเพราะวิกฤตโควิดอย่างเดียวจึงฟังไม่ขึ้น

Advertisement

สถานการณ์วันนี้เปรียบเหมือนเรากำลังป่วยไปพบแพทย์ แพทย์เลือกวิธีรักษาโดยไปทีซีสแกน ไปผ่าตัดคิดค่ารักษา 5 ล้านบาททั้งๆ ที่เราก็แค่ปวดฟัน แต่กลับต้องเลือกรักษาถึงขนาดต้องใช้เงิน 5 ล้านบาท ทั้งหมดจะฉายภาพการอภิปรายของพรรคเพื่อไทย โดยจำเป็นต้องสอบถามเพื่อป้องกันรัฐบาลเขียนเช็คเปล่า ที่มาของเงินเป็นอย่างไร และนำเงินไปใช้อะไรบ้าง รายละเอียดอยู่ไหน แม้กฎหมายต่างๆ ไม่ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท หรือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่กำลังจะเข้าสู่สภาในเร็วๆ นี้ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเศรษฐกิจก็จริง แต่รัฐบาลอย่านำแต่วิกฤตโควิด-19 มารวมกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหา เพราะการบริหารประเทศที่ล้มเหลวตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับ สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนยอมเจ็บทั้งนั้น รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ มาทำดีช่วยประชาชน แต่ความเป็นจริงก็เป็นเงินที่ประชาชนทุกคนต้องรับภาระชำระคืนในระยะยาวทั้งนั้น เพราะนับตั้งแต่ปี 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ไม่เคยจัดทำงบประมาณแบบสมดุลเลย ขาดดุลตลอด กู้เงินรวมกันเพื่อมาใช้จ่ายเป็นเงินกว่า 3.3 ล้านล้านบาทแล้ว กว่าจะคืนหมดในจำนวนเงินก้อนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กู้มา ต้องใช้เวลาถึง 56 ปี สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาซึ่งอยู่ใต้พรมที่ประชาชนยังไม่รู้ โดยทั้งหมดจะเป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะมุ่งตรวจสอบรัฐบาลในสมัยประชุมสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนรับรู้รับทราบและร่วมติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป

Advertisement

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
โฆษกพรรคก้าวไกล

ในส่วนของพรรคก้าวไกลเบื้องต้นเราจะมุ่งในประเด็นการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเราเห็นว่าจำเป็นต้องกู้เงินและยังสามารถกู้ได้มากกว่านี้ เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส มีแนวโน้มจะเกิดการลากยาว ดังนั้น เงินกู้เพื่อใช้ในการเยียวยาประชาชน และหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้นั้น จึงมีความจำเป็น ทางพรรคไม่ได้ติดใจในส่วนนี้ แต่ส่วนที่ติดใจคือใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะมีการกันเงินงบประมาณไว้จำนวน 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟู ซึ่งไม่ได้ระบุรายละเอียดการใช้จ่าย และดูเหมือนว่ารูปแบบการใช้งบประมาณจำนวนนี้จะเป็นการเปิดให้หน่วยรับงบประมาณต่างๆ เขียนโครงการเข้ามา แม้จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ตาม เพราะเราเกรงว่าจะเป็นลักษณะโครงการเบี้ยหัวแตก ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ทางตรงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมุ่งสร้างประโยชน์แก่ประชาชน คือ เกรงว่าจะเป็นการนำโครงการสามัญทั่วไปที่นำชื่อมาต่อท้ายด้วย สู้ภัยโควิด เราไม่ทิ้งกัน เช่น ขุดลอกคูคลองสู้ภัยโควิด เกษตรเข้มแข็งสู้ภัยโควิด ถนนปลอดฝุ่นสู้ภัยโควิด โครงการปล่อยปลาสู้ภัยโควิด เป็นต้น ซึ่งโครงการในลักษณะนี้ไม่ได้มีข้อเสียทั้งหมด แต่ปัญหาคือ โครงการเหล่านี้ไม่ได้มียุทธศาสตร์ทางตรงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือทำให้เกิดการว่าจ้างงาน เราเกรงว่าจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และสูญเงินแบบเปล่าๆ

ขณะที่เงินจำนวน 5.5 แสนล้านบาท เราก็กังวลว่า หากรัฐบาลยังมีกรอบคิดที่ตัวเองเป็นเหมือนกับขุนนางและประชาชนเป็นไพร่ ที่ต้องรอรับการสงเคราะห์ รัฐบาลก็จะใช้กระบวนการพิสูจน์ความจน พอประชาชนเดือดร้อนก็จะเพิ่มกระบวนการต่างๆ ขึ้นมาให้วุ่นวาย ให้ประชาชนรู้สึกท้อกับการรอคอยอย่างเลื่อนลอย จนถอยไปเอง สิ้นหวังและยอมรับชะตากรรมตามยถากรรม ก็เหมือนที่เป็นอยู่ เข้าใจว่าภาพที่ประชาชนไปเข้าแถวเพื่อขอทบทวนสิทธิรับเงินเยียวยานั้น ถามว่าเป็นภาพที่เราควรให้เกิดขึ้นหรือไม่ คำตอบคือไม่ควร เพราะเงินเหล่านี้คือเงินของประชาชน ประชาชนไม่ได้เข้าคิวรับการสงเคราะห์จากรัฐ เราจึงต้องเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เรามั่นใจว่าการใช้งบประมาณตอบโจทย์ประชาชนและมียุทธศาสตร์คือเราต้องดูว่าการใช้งบยิงตรงเป้าและยิงเร็วตอบโต้ทันท่วงทีหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image